Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


บทความชิ้นที่ 4 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ภายใต้ภาพจำของโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมข้าวที่ชาวนาและแรงงานที่ถูกขูดรีดด้วยกลไกการตลาดและทุน   เราจะได้เห็นการปรับตัวของชาวนาในระบบการผลิต ที่ไม่ยอมจำนนกับแรงกดเค้น โดยเข้ามาอิงอาศัยกลไกและเครื่องมือต่างๆ ในระบบการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร เครื่องมือสมัยใหม่  สถาบันเงินกู้ และการสร้างเครือข่ายของกลุ่มชาวนารับจ้างที่ทุนน้อย โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ และการติดตามข่าวสารข้อมูล   ทำให้โครงการรับจำนำข้าว และนโยบายค่าจ้าง 300 บาท/วัน  กลายเป็นน้ำมันหล่อลื่นชั้นดีที่เข้ามาลดช่องว่างของการจ้างงานซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลางให้เดินหน้าต่อไปได้   ในขณะที่ชาวนาเองก็มีทางเลือกมากขึ้นจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อส่วนต่างของรายได้จากการขายผลผลิตนั้นเพิ่มขึ้น  

พัฒนาการของการทำนา

สนิท  สภาพโชติ   ชายวัย 62 ปี  ทำนามาตั้งแต่จบชั้น ป. 4 ทั้งครอบครัวมีที่นาราว 200 ไร่ ซึ่งเพิ่งเบิกทำนาปรังได้ 80 กว่าไร่ในปีนี้    เขาเล่าให้ฟังถึงสภาพการจ้างงานในนาที่เขาเคยจ้างมาตั้งแต่สมัยที่เขามาช่วยพ่อทำนาใหม่ๆ  ทั้งรับจ้างเกี่ยว มัดฟ่อนข้าว และไถนา ซึ่งการรับจ้างไถนาเริ่มมีขึ้นช่วงที่มีรถไถเข้ามาในหมู่บ้านราวปี 2515 และเป็นเหตุให้พี่ทุยของรวงหายจากนาไปในที่สุดว่า  

“เมื่อก่อนนาปี(ข้าวฟางลอย) ดีกว่านี้เยอะ  เกี่ยวแล้วต้องมัดเป็นฟ่อน  ต้องจ้างเขาเกี่ยวคิดค่าจ้างเกี่ยวเป็นฟ่อน  คนรับจ้างเกี่ยวเขาพักที่ตามนา   พวกนี้มาจากแถวสิงห์บุรี  แล้วมารุ่นหลังนี่พวกนี้ก็หายไป  แล้วก็มีทางศรีประจันต์มาแทน  พวกนี้มาเกี่ยวเป็นรายวัน ค่าจ้างเกี่ยวเป็นไร่ มาเช้าเย็นกลับ มาเกี่ยวถึงไร่  ถ้าจ้างเกี่ยวพวกไร่นี่เหนื่อยเยอะเพราะต้องมัดเอง ไม่เหมือนจ้างพวกที่นอนตามนานี่มัดให้    แล้วต่อมาเป็นรถเกี่ยว  นี่แต่มาสุพรรณ เราต้องมัดเองหมด ก็ต้องจ้างเขามัดฟ่อนละบาทละบาท  ลำบากแล้ว   โอ้โห!อีตอนลุข้าว[2] นี่แหละคันละออง   ปิดตรงเบ้าตาหน่อยเดียวละ  ละอองทั้งนั้น  จะนอนก็ตั้งตี 1 ทำฟางอยู่นั่น พุ้ยพาย แต่นวดฟางมันน้อยเจ้า  เพราะว่ามีรถไถแล้วจ้าง มารุ่นลูกนี่สบายแล้ว รุ่นลูกนี่มาแบบ(อัดฟาง)เป็นก้อนนะนั่น สบายเยอะ  แต่มารุ่นนี้สบายกว่าอีก ไม่ต้องฝัดเลย   เดี๋ยวนี้เกี่ยวออกมาเป็นเม็ดเลย   เมื่อก่อนต้องเอาข้าวใส่กระสอบไปขาย ต้องจากคนยกกระสอบอีก  เดี๋ยวนี้มีท่อต่อลงรถเทขายกันเป็นคันรถ    สมัยก่อนรุ่นเราต้องลากไปลงบ้าน ถ้าไม่บ้านก็เอาไปไว้กลางนารวมๆ กันไว้แล้วรถลากจะมานวดให้  แล้วก็คอยอยู่นั่นแหละข้าวมันไม่ดี” 

แม้สนิทจะมีบรรพบุรุษทำนา  เขาก็ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกชาย ทั้ง 3  วัย 36 , 35 และ 27 ปี กลับมาเป็นชาวนา แต่ได้ส่งเสียให้ลูกๆ เรียนจบขั้นปริญญาตรี  มีเพียงลูกชายคนโตเท่านั้นที่กลับมาอยู่บ้าน และลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอยู่ 2 ครั้งจนได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน    ส่วนอีก 2 คน เป็นพนักงานออฟฟิสในกรุงเทพฯ   

เมื่อปี 2554 ช่วงที่ลูกชายคนเล็กรอสมัครงานนั้น  ช่วยพ่อทำนาประหยัดค่าจ้างคนขับรถไถนาฟางลอยของตัวเองเพื่อไปได้มาก ซึ่งช่วงนั้นเขาต้องจ่ายค่าจ้างวันละ 300 – 350 บาท เพราะคนรับจ้างหายาก  จากปกติที่ต้องจ่ายแบบเหมาไร่ละ 500 บาท  แต่พ่อก็อยากให้ลูกเป็นข้าราชการ หรือทำงานเอกชน ซึ่งดูว่าจะเป็นอาชีพที่ดีกว่าชาวนา   จนกระทั่ง ลูกชายคนเล็กได้เข้าทำงานบริษัทเมื่อต้นปี 2555  ครั้นพอลูกชายคนเล็กได้งานซึ่งต้องใช้รถวิ่งออกหาลูกค้าโดยทางบริษัทเป็นผู้จ่ายค่าน้ำมันเท่านั้น    ช่วงนี้เองที่พยงค์ ภรรยาวัย 55 ปีของสนิทตัดสินใจควักเงินก้อนใหญ่ที่เป็นผลกำไรซึ่งมากขึ้นจากการขายข้าวในโครงการรับจำนำให้ลูกชายคนเล็กผ่อนดาวน์รถยนต์คันแรกที่ได้รับส่วนลดหย่อนจากนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์  

ครอบครัวสภาพโชติ นั้นหวังว่าข้าวราคาดีช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้จะช่วยผ่อนเพลาภาระหนี้ที่สะสมได้บ้าง  ส่วนงานหนักๆ ในนานั้นสนิท รับหน้าที่ด้านออกแรง ดูแลความเรียบร้อยในนา  เช่น การปั่นนา  ,  การทำเทือก  , การดูแลน้ำ   ส่วนพยงค์ทำหน้าที่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต้นทุน  การติดต่อประสานงานกับคนงานรับจ้างทำนาประเภทต่างๆ

ลูกจ้างขาประจำของพยงค์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสุพรรณบุรีนั้นมีหลากหลายแตกต่างไปตามประเภทของงาน  ตั้งแต่  การหว่านข้าวปลูก  ,   การหว่านปุ๋ย ( 4 ครั้ง/ฤดู)  ,  การฉีดยากำจัดวัชพืช ( 2 ครั้ง/ฤดู) , การฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ( 4 – 8 ครั้ง/ฤดู ขึ้นกับการแพร่ระบาดของโรคแมลง) ,  การตัดข้าวดีดซึ่งเป็นวัชพืชที่ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายได้ตั้งแต่ 30 – 100 % , การจ้างเกี่ยว  และการจ้างเข็นข้าว [3]

ในช่วงโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 ปี 2555 ที่พยงค์นำข้าวไปขายแล้วได้รับเงินจาก ธกส. ช้า  จึงสร้างปัญหาให้กับการผ่อนชำระหนี้ปัจจัยการผลิตที่ร้านค้าเจ้าประจำซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านของเธอไปราว 6 กม. คิดดอกเบี้ยเธอร้อยละ 2 บาท/เดือน  และทำให้การจ้างงานนาในรอบใหม่อยู่ในภาวะขัดสน   เธอก็ต้องยืมเงินญาติมาจ่ายตัดดอก    เธอว่าขายข้าวได้เงินช้าแต่ว่าข้าวราคาดีจนน่าพอใจ  และหวังว่าจะมีไม่การจ่ายช้าในครั้งต่อๆไป

 

อัตราค่าจ้างงานในนา เครื่องมือ และแหล่งติดต่อ ของชาวนาทุ่งลาดชะโด ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่

งาน

เครื่องจักร/เครื่องมือ

แหล่งที่ติดต่อ

อัตราจ้าง/ไร่ (บาท)

ขุดคลอง

รถแบคโฮ

นอกหมู่บ้าน

ตั้งแต่ 900*

ดันนาให้เรียบและยกคันนา

รถดัน

นอกหมู่บ้าน

750*

ปั่นนา

รถปั่นนา

ใน/นอกหมู่บ้าน

220 - 250

ตีเทือก

รถไถขนาดเล็ก รถไถเดินตาม

ใน/นอกหมู่บ้าน

220 - 250

ฉีดพ่นสารเคมี

แบกสะพายหลัง

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 – 60

ถือหัวฉีดจากเครื่องฉีดพ่น

ใน/นอกหมู่บ้าน

20 - 25

เหมาจ่ายตั้งแต่ผสม-ฉีดด้วยเครื่องฉีดพ่น

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 - 60

หว่านข้าว / หว่านปุ๋ย

หว่านมือ หรือเครื่องหว่านสะพายหลัง

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 - 60

ตัดข้าวดีด

เคียว

ใน/นอกหมู่บ้าน

ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของข้าวดีด อัตราจ้างวันละ 300 บาท

เกี่ยวข้าว

รถเครื่องเกี่ยวนวด

นอกหมู่บ้าน

500

เข็นข้าว

รถบรรทุก 6 ล้อ

ใน/นอกหมู่บ้าน

1.50 – 2 บาท/ถัง**

หมายเหตุ*คิดเป็นรายชั่วโมง ค่าจ้างขึ้นกับขนาดของรถ    **ขึ้นกับระยะทางในรัศมีไม่เกิน 10 กม. บางรายมาพร้อมกับรถเกี่ยว

 

แม้ราคาข้าวในโครงการรับจำนำจะจูงใจให้ชาวนาอยากทำนาเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  แต่ในฤดูปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ปี 2555 ของพยงค์และสนิท  มีนาบางแปลงก็จำเป็นต้องเลือกปลูกข้าว 51 [4] ซึ่งมีอายุสั้น เพราะในการปลูกข้าวนาปรังครั้งแรกของปีนี้มีข้าวดีดปนมาก ทำให้ผลผลิตที่ควรได้ไร่ละตันลดลงเหลือแต่ 3 ตันจาก 5 ไร่  เธอต้องการกำจัดข้าวดีดให้หมดจึงใช้วิธีปั่นนาหลังเกี่ยวข้าวแปลงนี้แล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงเพื่อล่อให้เมล็ดหญ้างอกขึ้นมา แล้วทำการปั่นนาอีกครั้งเพื่อให้วัชพืชเจ้าปัญหาเหล่านี้ตาย จึงตีเทือกแล้วหว่านข้าวอายุสั้นแทนข้าวอายุ 110 วัน เพื่อจะได้เกี่ยวข้าวให้ทันก่อนที่ชลประทานน้ำจะปล่อยเข้าท่วมนาในช่วงปลายสิงหาคม-ต้นกันยายน   

พยงค์  ยังเลือกหว่านข้าวพันธุ์ 51 ถึง 4 ถัง/ไร่  ซึ่งมากเกินคำแนะนำของรัฐที่ให้หว่านไร่ละ 1.5 – 2 ถัง เพื่อป้องกันเพลี้ย  เธอว่าถ้าหว่านบางอย่างนั้นไม่ได้ เพราะดินไม่ดี  หว่านห่างแล้วข้าวไม่แตกกอ  จะทำให้ได้ผลผลิตไม่ถึงไร่ละตัน   ที่สำคัญคือหว่านเผื่อนกเผื่อหนูมารบกวน เพราะถ้าจ้างหว่านซ่อมก็ต้องเสียเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว   และเธอเลือกปลูกข้าว 51 นี้ ซึ่งเธอใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 85 วันและขายได้แค่ตันละ 8,000 บาท ก็ทำให้เสี่ยงน้อยกว่าปลูกข้าวราคาดีตามที่โครงการรับจำนำกำหนดอายุไว้ 110 วัน แต่ต้องเสี่ยงกับการความไม่แน่ไม่นอนของน้ำที่อาจทำให้เธอต้องจ้างรถเกี่ยวมาเกี่ยวข้าวเขียวหรือไม่ได้เกี่ยวข้าวขายเลย

 

สุพรรณแหล่งสำคัญของแรงงานรับจ้างทำนา

อำไพ  เสือแดง  อายุ 44 ปี    เรียนจบ ป.6  ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาที่บ้านเกิด  ที่ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี  ปัจจุบันเธอทำนา 44 ไร่ เป็นที่นาของตัวเอง 10 กว่าไร่  เธอบอกว่าแรงงานในครอบครัวมีแค่เธอกับลูกชายคนโตวัย 24 ปี ที่จบชั้น ม. 3 มาช่วยงานทั้งในนา และสวนดอกสลิดที่ปีหนึ่งมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวราว 9 เดือน   บางครั้งลูกชายเธอก็ออกไปรับจ้างตีเทือกให้กับนาเพื่อนบ้านด้วย  เมืองสุพรรณบุรีอาจนับเป็นเมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมข้าว  อำไพซึ่งต้องอาศัยการจ้างงานในนาแทบทุกขั้นตอน จึงหาคนรับจ้างทำไม่ยาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน  

เธอว่าทำนาโครงการจำนำข้าวให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว  ถ้าเงินออกไวและลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและออกใบประทวนให้ยุ่งยากน้อยลงจะดียิ่งขึ้น   ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นหลักประกันให้เธอพออุ่นใจได้ว่าจะมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายหลักค่าสูงลูกชายคนเล็กที่กำลังเรียน ปวส.ปี 1 ที่วิทยาลัยเอกชนในตัวเมืองสุพรรณบุรี ให้จบปริญญาตรี  ในขณะที่แวดวงสังคมของเธอในหมู่บ้านที่เริ่มเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ก็มีรายจ่ายสูงขึ้นผิดไปจากในอดีต

“ถ้าขายได้เงินสดเกวียนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทมันอยู่ได้   ทำนามันดีอย่าง มันได้เงินเป็นก้อน  นอกจากต้นทุนก็มีรายจ่ายหนักๆ ตกที่ลูกชายคนเล็กคนเดียว เบิกค่าเทอมได้ครึ่งหนึ่งจาก 13,000 บาท ปีละ 2 เทอม   ค่าใช้จ่ายรายวันวันะ 60 บาท ค่ารถเดือนละ 600 บาท  กินอยู่ในบ้านวันละ 300 บาท   น้ำ 300 กว่าบาท  ค่าไฟ 500 กว่าบาท  ภาษีสังคมก็เดือนละ 5,000 บาทเข้าไปแล้ว”

 

ทำนาในทุ่งผักไห่แต่อาศัยแรงงานรับจ้างจากสุพรรณบุรี

สำหรับชาวนามือใหม่อย่างผู้ใหญ่ธงชัย  นัยเนตร ชาวนามือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำนาได้เป็นปีที่ 2 ซึ่งทำนากว่า 80 ไร่ ในทุ่งผักไห่  บอกว่า เขาเลือกจ้างงานจากชาวนารับจ้างที่มาจากสุพรรณบุรี  ห่างไปราว 30 กว่ากม.  เพราะความเป็นมืออาชีพของผู้รับจ้าง  เขาวิเคราะห์ว่าค่าแรงรับจ้างทำนาที่ขึ้นมาราว 20 % จากแต่เดิมในช่วงการเพาะปลูกปี 2555 – ปัจจุบัน นั้นไม่ใช่เพราะราคาข้าวที่ชาวนาขายได้เพิ่มจากโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง หากแต่เป็นการประกาศยกระดับค่าจ้างรายวัน 300 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกอบกับการขยายตัวของนาปรังที่เปิดใหม่แทนการทำนาปีข้าวฟางลอยที่ล้มเหลวจนแทบไม่ได้ผลผลิตมาในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้

“หว่าน ฉีด  จ้างไร่ละ 60 บาท  เพิ่งขึ้นมาได้ 5 เดือน  ทีแรกมัน 50 บาท แล้วคนฉีดคนหว่านเขาบอกว่าเขาทำดี  คนอื่นทำไม่ค่อยดี เขาก็ขึ้น(ค่า)ตัวเขา   ถ้าไม่ขึ้นจะไปเอา 50 บาทแถวบ้าน  เราก็ไม่เอาดีกว่า เราไม่รู้จักใคร อีกอย่างไม่เคยเห็นฝีมือ  นามันเปิดเยอะขึ้นด้วย  คนที่ฉีดหว่านไม่ค่อยดีไม่มีฝีมือก็ถูกตัด ไม่เอา  ของเขากลุ่มนึงฉีดทีมา 10 คน   คนเขาก็ไว มาถึงคนก็รุมทำ เวลาเร่งด่วน   โทรไป  เขามีทีมของเขาอยู่แล้ว  บอกเขาฉีดยา เขาก็ลงวันนัดเวลาให้เลย  เย็นหรือบ่าย  เราก็เตรียมตัว ยา ถัง ถึงเวลาเขาก็มาที่นา โทรนัดกัน  แต่เขาน่ะฉีดทุกวัน เช้ายันเย็น ทุกวัน ไม่ว่าง วันละร้อยกว่าไร่”

 

ทำนาแบบเลื่อนขั้น

จำเนียร และสุภาพ  ฉ่ำแจ่ม  ( 42 และ 46 ปี) เป็นชาวนาสุพรรณบุรีที่ครอบครัวพี่น้อง 6 คน ทั้งครอบครัวมีที่นาของตัวเองแค่ 10 กว่าไร่     เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พี่น้องคู่นี้ต้องมาเช่านาแถว ต.หน้าโคก และ ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  ทำหลายแปลงรวม 46 ไร่  จำเนียรเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนที่ต้องทำนาของตัวเองและรับจ้างทำนาของคนอื่นไปพร้อมๆ กันว่า

“ทำนามาตั้งแต่เด็ก เมื่อ 30 กว่าปีก่อน  แต่ก่อนไม่มีกินหรอก ลำบาก  ขนาดหมูแต่ก่อนโลละ 30 บาท แขวนอยู่ยังมองอยู่นั่น กินแต่ผัก เห็นหมูยังไม่มีตังค์กินเลย  แต่ก่อนลำบาก   เดี๋ยวนี้สบาย   มันก็ตามยุคตามสมัย พอสบายเงินมันก็ไม่มีค่า เดี๋ยวนี้สบายก็ต้องใช้เงินเยอะ  แต่ก่อนเงินมีค่า แต่เดี๋ยวนี้สบาย ถือว่ารวยกว่าแต่ก่อน เมื่อก่อนว่ามีเงินแสนถือว่ารวย เดี๋ยวนี้มีเงินล้าน  ยังไม่กระดิกไปไหนเลย  ตอนนั้นลำบากแต่เงินมีค่า  ตอนนั้นเกี่ยวเอง หาบเอง กว่าจะหาบได้  หอบมามัดแล้วหาบมาขึ้นร้าน แล้วก็ไปรูด  กว่าจะได้ (ข้าว) หลายขั้นตอนเลย เดี๋ยวนี้สบาย”

จำเนียร สบายขึ้นจากเดิม เพราะปัจจุบันทำนาพอมีเงินเก็บ  ไม่มีหนี้  แต่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อที่นาเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะราคาที่ดินแพงขึ้น โดยเฉพาะที่ทำเลดีอย่างในสุพรรณบุรี   เธอและพี่สาวจึงต้องพยายามทำนาแบบไม่ให้เป็นหนี้  

จากที่ก่อนหน้านี้หลายปี จำเนียรทำนาตัวเองและรับจ้างทำนาด้วย ซึ่งมีตั้งแต่เอากระสอบพันธุ์ข้าวแช่น้ำ[5]  ตีเทือก  หว่านปุ๋ย  แต่ 4 – 5 ปีหลังมานี่เธอลงแรงในนาตัวเองเป็นส่วนมาก  และจ้างงานนาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น  คือ  หว่านข้าว  ฉีดยา เกี่ยวข้าว และเข็นข้าวไปขาย  แต่ทั้งคู่เลือกที่จะลงทุนซื้อรถปั่นนามาปั่นนาของตัวเอง และให้ สมดี ตันติโน ญาติที่ทำนาข้างๆ กัน ราว 160 ไร่ เช่าใช้

เมื่อเธอจะปั่นนา   เธอต้องจ่ายค่าจ้างขับรถปั่นให้สมดี ไร่ละ 20 บาท กับค่าน้ำมันที่ใช้ไร่ละ 2 ลิตร     หากสมดีจะนำรถปั่นของเธอไปใช้ก็ต้องจ่ายค่าเช่ารถไร่ละ 100 บาท  ในขณะที่รถรับจ้างปั่นทั่วไปที่ชาวนาในทุ่งลาดชะโดจ้างมักมาจากสุพรรณบุรี และ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง นั่นจะไปคิดค่ารับจ้างเหมา ไร่ละ 220 – 250 บาท  

“รถปั่นคันละ 450,000 บาท  ดาวน์ไป 200,000 บาท  ผ่อน 4 งวด ครึ่งปี  หมดหนี้ไปนานหลายปีแล้ว  ซื้อมาเมื่อปี 51  พี่ชายเพิ่งถอยมาเหมือนกันคันหนึ่งไว้ไปรับจ้าง  ไม่ทันไรพังแล้ว  นี่เขาว่าจะฟ้อง คันละ 190,000 บาท  ของคูโบต้า  แต่ของเราเป็นยันมาร์  มันปั่นไม่ได้เงิน ไม่มีเงินส่งเขา  เขาจะยึด  ไม่ได้ส่งมา 3 งวด เขาจะมาฟ้องแต่ยึดรถไปแล้ว”   

จำเนียร  เชี่ยวชาญในการตีเทือก   เธอเคยรับจ้างตีเทือกมานานนับสิบปี  ปัจจุบัน เธอตีเทือกเฉพาะนาที่เธอทำ   เธอว่าชาวนาในทุ่งลาดชะโดและทุ่งหน้าโคกส่วนใหญ่มีชุดเครื่องมือตีเทือกเป็นของตัวเอง  นอกจากคนที่ทำนาขนาดเล็กและไม่มีเงินทุนมากพอจะใช้วิธีจ้าง  เพราะเฉพาะขลุบตัวหนึ่งราคาราว 40,000 บาท   ประกอบด้วยกล่อง 2,000 บาท   ลูกตีตัวละ  7,500 บาท  และเครื่องยนต์ซึ่งหากเป็นเครื่องยนต์เกียร์ธรรมดา ตัวละ 15,000 – 20,000 บาท  หากเป็นเกียร์อัตโนมัติ ตัวละ 30,000 บาท   อุปกรณ์เหล่านี้หากเก็บไม่ดีจะถูกลักขโมยได้ง่าย  และหากเครื่องตีเทือกของเธอพัง เธอต้องขนไปซ่อมไกลถึงสุพรรณบุรี

เมื่อเธอหันมาใช้เครื่องจักรกลและจ้างงาน   แม้อยากจะเช่านาทำเพิ่มแต่ที่นาเช่าก็หายากและราคาค่าเช่าก็แปรผันตามราคาข้าวซึ่งกระตุ้นให้มีคนอยากทำนาเหมือนๆ กับเธอจนเกิดการแข่งขันด้านราคาเช่า   เธอและพี่สาวจึงใช้เวลาว่างที่เหลือจากงานนาลงแรงไปกับพืชผักอายุสั้น  ปลูก ฟักทอง ฟักเขียว บนคันนา เป็นรายได้เสริม และ 4 วัน ใน 1 สัปดาห์เธอจะเก็บผักบุ้งในคันคลอง ผลผลิตในนา  เก็บมะม่วง และมะพร้าวในสวนที่บ้าน ให้น้องสาววัย 36 ปี ไปขายที่ตลาดนัด อ.ผักไห่ และ วัดลาดชะโด 

 

ในตอนหน้า พบกับกลุ่มชาวนายากจน และอดีตชาวนาไร้ที่ดินที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายออกรับจ้างทำงานเฉพาะด้านในนา  ซึ่งได้รับอานิสงค์จากโครงการจำนำข้าว นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และกองทุนหมู่บ้าน 




[1]  บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  “โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว”  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ลุข้าว:  หรือนวดข้าว การทำให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง โดยการตี ฟาด หรือ ใช้วัวควายเหยียบย่ำ

 

[3] การปั่นนา :   เป็นวิธีการเตรียมดินในนาข้าวขั้นแรกที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนการไถดะและไถแปร เพื่อใช้ในการไถกลบตอซังด้วยรถปั่นยนต์ที่ติดใบจอบหมุน  ปั่นให้หน้าดินเป็นก้อนเล็กและตัดซังข้าวและหญ้าให้สั้นลง

การทำเทือก:  หรือการตีขลุบ  หลังจากปั่นนาแล้วจะต้องเตรียมดินให้แตกเป็นก้อนละเอียดจนเป็นโคลน   โดยใช้รถไถเดินตามเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนพ่วงขลุบซึ่งเป็นล้อเพลาติดใบมีดเหล็ก (บางครั้งก็เรียกลูกตี, ลูกเจาะ)   เมื่อตีเทือกจนเป็นโคลนดีแล้วจะต้องปาดผืนนาให้เรียบ  แล้วทำเป็นร่องระบายน้ำ    จึงเริ่มทำการหว่านข้าวที่เริ่มมีรากงอกซึ่งผ่านการเตรียมไว้ก่อนหน้าการหว่าน 3 วัน

การกีดน้ำ:  การทำร่องน้ำเล็กๆ หลังจากการตีเมือกและปาดเรียบ เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำออกจากนา

ข้าวดีด:  ข้าวดีด เป็น วัชพืชที่ขึ้นปนในนาข้าว มีลักษณะคล้ายต้นข้าวมาก เมื่อปลูกข้าว ข้าวดีดจะโตไปพร้อมกับข้าว สังเกตแยกแยะได้ยาก จนกระทั่งข้าวดีดออกรวง ต้นจะสูงกว่าและออกรวงไวกว่าข้าว ช่วงนี้ชาวนาในเขตผักไห่และสุพรรณบุรีมักจะใช้วิธีกำจัดข้าวดีดด้วยวิธีการตัด(เฉาะ)ข้าวดีดทิ้ง เพราะปล่อยให้ข้าวดีดแก่และเมล็ดร่วงหล่นจะทำให้ผลผลิตนาข้าวเสียหาย 10 – 100 %

เข็นข้าว:  การจ้างรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกข้าวเปลือกที่ได้จากการเกี่ยวไปขายที่โรงสี หรือลานตากข้าว

[4] ชื่อเดิม “เจ้าแปด51”   หรือ"ตาเม้า51" ตามชื่อเจ้าของ/คิดค้นชือ เม้า บ้านอยู่วัดเจ้าแปดทรงไตร อ.เสนา จ.อยุธยา ต่อมา พ่อค้าข้าวเปลี่ยนมาเรียกเบอร์ 51   ลักษณะสายพันธุ์ 1.อายุเก็บเกี่ยวสั้น 90 - 100 วัน 2.ผลผลิตสูง 3.เมล็ดข้าวเปลือกยาวเกิน 0.5 ซม. ข้าว 51 นี้คนละพันธ์กับ กข.51 ของกรมการข้าว ที่ทนน้ำท่วมและพัฒนามาจากการผสมข้าวขาวดอกมะลิกับ IR49830-7-1-2-2

[5] เป็นวิธีการเตรียมข้าวปลูก  ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียม 3 วันก่อนจะนำข้าวไปหว่าน  โดยการนำข้าวพันธุ์ไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน (บางรายอาจผสมสารเร่งการงอกเพื่อให้งอกดีและป้องกันเชื้อราลงในน้ำที่แช่ข้าว) แล้วยกขึ้นจากน้ำ พักให้กระสอบแห้ง 1 คืน แต่ต้องราดน้ำลงในกระสอบเป็นระยะ ทิ้งไว้อีกคืน แล้วก็หว่านในเช้าวันที่ 3  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net