ญาติฯ เม.ย.-พ.ค.53 ร้องนายกเร่งคดี ย้าย ‘ธาริต’ ไม่หนุน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย

กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตฯ เม.ย. – พ.ค. 53 ร้องนายก ย้าย ‘ธาริต’ จากดีเอสไอ เหตุเป็นผู้มีส่วนได้-เสีย เร่งคดีที่ผ่านการไต่สวนสู่การพิจารณาของศาลอาญา ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดคดี วอน รบ.ไม่สนุน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ไม่เอาผิดผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการสังหารหมู่ประชาชน

กลุ่มญาติฯ ขณะรอเข้ายื่นหนังสือ / ภาพโดย นิธิวัต วรรณศิริ

11 มิ.ย.56 เวลา 09.15 น. ที่ประตูฝั่งถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา นางสาวกมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 19 พฤษภาคม 2553 และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้อง “เฌอ” (สมาพันธ์ ศรีเทพ) พร้อมด้วยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย. – พ.ค. 53 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้โยกย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ออกไปจากการทำหน้าที่ในดีเอสไอ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดคดีโดยมีข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ แพทย์ ฯลฯ เร่งรัดคดีที่ผ่านการไต่สวนขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญา และรัฐบาลต้องไม่สนับสนุน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหาไม่เอาผิดผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการสังหารหมู่ประชาชน

โดยมีนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ โดย มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายสุพร รับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ตนไม่อยากให้มีการออกมาชุมนุมปิดล้อมบริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่หากนางพะเยาว์ต้องการมายื่นหนังสือขอให้ติดต่อมายังตนที่ห้องทำงานหรือห้องรับเรื่องร้องทุกข์ได้ตลอดเวลา

ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ศรีเทพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 มีแนวคิดว่าจะทำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ที่จะล้างผิดให้กับประชาชนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มทุกสี แต่จะไม่รวมผู้ปฏิบัติและสั่งการฆ่าประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ในเรื่องของเทคนิคด้านกฎหมายจะขอให้อาจารย์จากคณะนิติราษฎร์ เป็นที่ปรึกษา และจะประสานให้ ส.ส.เสื้อแดงของพรรคเพื่อไทย นำไปให้ ส.ส.ในพรรคลงชื่อให้การสนับสนุน นำส่งต่อรัฐสภาให้ทันก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้สามารถพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่น ๆ ได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของพรรค แต่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแปรญัตติแล้วเนื้อหาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

นางพะเยาว์ อัคฮาด กล่าวด้วยว่า ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นั้น ในตอนแรกไม่ได้ดูร่างทั้งหมด แต่เมื่อได้มีการเปิดดูทั้งหมดแล้ว ถึงได้ทราบว่า ร่าง พรบ.ดังกล่าวมันมีการนิรโทษกรรมให้กับทหารด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสอดไส้ ปกปิดประชาชน

หนังสือที่กลุ่มญาติฯ ยื่นต่อนายกฯ :

กลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553

 

                                                            วันที่ 11 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่อง      ขอให้เร่งรัดคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553

เรียน     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข้าพเจ้านางพะเยาว์ อัคฮาด ในฐานะตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553 ขอเรียนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ทราบว่ากลุ่มญาติวีรชนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือถึงการดำเนินคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 พบว่าเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้หลักฐานทั้งวัตถุพยาน และ/หรือ พยานบุคคลได้สูญหายและไม่สามารถติดตามมาร่วมเป็นพยานในคดีจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มญาติฯเกรงว่าหากปล่อยให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้าตามกระบวนการของทางราชการที่ไร้ประสิทธิภาพแล้วอาจจะทำให้คดีเหล่านี้ในหลายสำนวนมีปัญหาได้ในอนาคต

กอปรกับผู้รับผิดชอบหลักคือนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีดังกล่าวด้วย เนื่องจากดำรงตำแหน่งกรรมการในศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ความตามรายละเอียดซึ่งฯพณฯทราบดีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่คดีเหล่านี้ไม่มีการเร่งรัดใดๆ จากรัฐบาล ก็อาจทำให้ รัฐบาลของ ฯพณฯ ถูกกล่าวหาจากนานาอารยะประเทศว่าไม่มีความจริงใจในการสะสางปัญหาที่เชื่อได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายสถาน มีประชาชนจำนวนมากกว่า 100 คนต้องเสียชีวิต บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน รวมถึงผู้ต้องขังเพราะเหตุทางการเมืองนี้กว่า 200 คน ทั้งที่พ้นโทษเพราะถูกจำขังมาจนครบกำหนด รวมถึงผู้ที่ยังต้องขังตามคดีอยู่

และที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรมจำนวนหลายฉบับ แต่ต่างมีเนื้อความคล้ายกันแทบทั้งสิ้น นั่นคือ การนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ทางกลุ่มญาติฯจึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้ ฯพณฯ พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  1. ออกคำสั่งโยกย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ จากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้
  2. เร่งรัดคดีด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ แพทย์ ฯลฯ ที่จะทำหน้าที่เร่งรัด สืบสวน สอบสวน และนำคดีขึ้นไต่สวนการตาย รวมถึงเป็นโจทย์ร่วมกับผู้เสียหายในการฟ้องร้องเอาผิดผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เพื่อให้การเร่งรัดคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ ฯพณฯ มิได้นิ่งนอนใจต่อการดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรงดังกล่าว
  3. เนื่องจากคดีจำนวนหนึ่งผ่านการไต่สวนและพิสูจน์การตายจากศาลอาญาแล้ว แม้จะไม่ระบุผู้กระทำความผิดแต่พบแนวโน้มว่าน่าจะมาจากปฏิบัติการทางทหาร จึงขอให้มีการเร่งรัดคดีที่ผ่านการไต่สวนแล้วให้มีผลในทางปฏิบัติด้วยการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลโดยเร็วยิ่งขึ้น
  4. ขอให้ ฯพณฯ และรัฐบาล ฯพณฯ ยืนยันต่อสาธารณะและนานาอารยะประเทศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ ต่อร่าง พรบ.ปรองดอง และ/หรือ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 โดยเด็ดขาด

ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนกลุ่มญาติฯ และกลุ่มญาติฯ ต่างหวังว่า ฯพณฯ จะเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ เพื่อทำให้ปาฐกถาของ ฯพณฯ ที่กล่าวถึงความสำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้เกิดการปฏิบัติตามสิ่งที่ ฯพณฯ เคยได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆ เป็นจริง มากกว่าที่จะเป็นคำกล่าวลอยๆ ที่มิได้มีการปฏิบัติใดๆอย่างเป็นรูปธรรม

 

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

นางพะเยาว์ อัคฮาด

ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....  ฉบับที่นำโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พร้อมด้วย ส.ส. พรรคเพื่อไทยอีก 21 คน

หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

 

เหตุผล

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมืองเพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

นายกรัฐมนตรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท