Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนดอนฮังเกลือ เผย ‘นโยบายรับจำนำข้าว’ ทำชาวบ้านแห่สูบน้ำจากบึงเกลือเข้านาปรัง ทั้งสภาวะภัยแล้งกระหน่ำอีสาน กระทบการเพาะปลูก-วิถีชีวิต-การประมง-โรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา แนะ อบต.จัดประชามมติหาทางออก

 
นายเกียง โคตุเคน ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ว่า การทำนาปรังที่ต้องสูบน้ำจากบึงเกลือหรือทะเลอีสานซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ 7,500 ไร่ ไปใช้เป็นจำนวนมาก ซ้ำเติมปัญหาน้ำในบึงเกลือแห้งจากภาวะภัยแล้งติดต่อกันมา ทำให้น้ำยิ่งลดระดับลงไปมากกว่าเดิม โดยสถิติระดับน้ำจะอยู่ช่วง 3 เมตร ส่วนช่วงหน้าแล้ง (มี.ค.–พ.ค.) น้ำจะอยู่ในระดับ 2 เมตร แต่นับจากปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน น้ำลดลงมากจนแห้งเห็นเป็นลานดิน
 
นายเกียง กล่าวด้วยว่า ความจริงในพื้นที่มีการทำนาปรังมาแต่ปี 2530 แล้ว แต่ยังไม่มีปัญหาการแย่งชิงน้ำเพราะคนทำกันนาปรังกันน้อยและช่วงนั้นระดับน้ำไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร แต่มาช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาข้าวแต่เดิมจาก 2.50 บาทต่อกิโลกรัม โครงการต่างๆ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการรับจำนำราคาข้าวอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ชาวบ้านหันมาทำนาปรังกันมาก จนมีปัญหาการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร
 
กรณีดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ พืชผักที่ของชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือที่ปลูกไว้ในแปลงรวม พื้นที่ราว 30 ไร่ เนื่องจากไม่มีน้ำใช้ในเพาะปลูกทำให้ผักแห้งตายเกือบหมด และทำให้ชาวชุมชนดอนฮังเกลือ 31 ครอบครัว ซึ่งพึงพาน้ำจากบึงเกลือเป็นหลักต้องขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภคด้วย
 
นอกจากนี้ การที่น้ำลดระดับลงยังส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพราะปัจจุบันเขตโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาน้ำแห้งไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะช่วยกันขุดคลองรอบโรงเรียนปลา แต่น้ำลดลงมากจนคลองที่ขุดแห้งขอด ทำให้ตอนนี้ไม่มีพันธุ์ปลาเหลืออยู่แล้ว
 
 
นายเกียง เล่าว่า ชาวดอนฮังเกลือได้ตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งพักอาศัยและขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย โดยใช้เนื้อที่กลางน้ำบึงเกลือประมาณ 1 ไร่ ทั้งนี้ ชาวบ้านมีมติร่วมกันมานับแต่เดือน เม.ย.55 และกำหนดกติกาขึ้นมาห้ามจับปลาในบริเวณนี้ เพื่อให้ปลาเจริญเติบโตก่อนที่จะให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการจับปลาร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้พันธุ์ปลาสูญหายไปหมดแล้ว
 
“โดยส่วนตัวไม่ได้ขัด หรือห้ามการทำนาปรังแต่อย่างใด เพราะตัวเองก็เป็นเกษตรกร เป็นลูกชาวนา แต่ทั้งนี้อยากให้ทาง อบต.บึงเกลือ มีมาตรการหาทางออก ด้วยการลงประชามมติหาทางออกร่วมกัน” นายเกียงกล่าว และว่าหากไม่มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้ดีกว่านี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอาจถึงขึ้นวิกฤติ เพราะน้ำที่แห้งต่อเนื่องมาถึง 3 ปี และปีนี้ยิ่งแห้งลงอย่างมาก
 
นายเกียง กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านจะเสนอให้มีการป้องกันภัยแล้ง โดยให้มีการยกระดับฝายกั้นน้ำ จากแต่เดิมมีระดับต่ำมากให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไม้ให้ไหลออก ซึ่งทาง อบต.เคยรับปากว่าจะยกระดับฝายให้สูงขึ้นอีก 50ซ.ม.แต่จนกระทั้งเปลี่ยน อบต.ชุดใหม่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
“คาดว่าปัญหาความขาดแคลน และการแย่งชิงน้ำจะมีแนวโน้มหนักมากขึ้นกว่าเดิม หาก อบต.ไม่มีนโยบายส่งเสริมการจัดการน้ำ” นายเกียงระบุ
 
 
ทั้งนี้ ชุมชนดอนฮังเกลือ มีกรณีพิพาทเรื่องที่สาธารณะประโยชน์กับ อบต.บึงเกลือ ข้อมูลข้องชาวบ้านระบุว่า ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนปี 2472 ต่อมาปี 2542 อบต.บึงเกลือ ได้นำแผ่นป้ายมาติดประกาศ ให้ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณดอนฮังเกลือออกจากพื้นที่ เพื่อก่อสร้างสนามกีฬา สถานที่ราชการ และปัจจุบันมีโครงการจัดทำแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่เป็นแหล่งน้ำกว้าง ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงรวมกลุ่มกันยื่นข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล
 
ต่อมามีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายมนตรี บุพผาวัลย์ นายอำเภอเสลภูมิเป็นประธาน คณะทำงานมีมติร่วมกันว่า การประกาศเขตที่สาธารณะประโยชน์ดอนฮังเกลือไม่ถูกต้อง ควรเพิกถอน ยุติการดำเนินการ และให้เอกสารสิทธิ์แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อไป ขณะที่ อบต.ไม่เห็นด้วย และมีแผนการที่จะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่ใส่ใจร่วมกันแก้ไขปัญหา
 
เมื่อปี 2552 ชาวบ้านดอนฮังเกลือ ในฐานะสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อขอจัดทำโฉนดชุมชนเนื้อที่ 31 ไร่ ต่อรัฐบาล กระทั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่มีการลงมาตรวจสอบพื้นที่ แล้วมีมติจากคณะกรรมการว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และยังคงมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net