Skip to main content
sharethis

กลุ่มแว่นขยาย ร่วมกับคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี จัดงาน “Book Talk หนังสือพูดได้ ลานสนทนาฅนรุ่นใหม่อีสานกับการอ่าน” ชวนคนหนุ่มสาวร่วมขบคิดสร้างสังคมการอ่าน

 
 
วันที่ 13 มิ.ย. 2556 กลุ่มแว่นขยาย ร่วมกับคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี จัดงาน “Book Talk หนังสือพูดได้ ลานสนทนาฅนรุ่นใหม่อีสานกับการอ่าน” ณ ลานหน้าฟรีดอมโซน อุบลราชธานี เพื่อสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่สะท้อนการอ่านในสังคมไทยอย่างมีเหตุผล
 
กิจกรรมเริ่มต้นโดยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดย นางสาวขจรปรีย์  ภู่งาม ผู้จัดการฟรีดอมโซน แนะนำฟรีดอมโซนที่เป็นพื้นที่เปิดให้บริการสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะจัดดำเนินกิจกรรม และตัวแทนจากกลุ่มแว่นขยายกล่าวถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรม ที่ต้องการสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองการอ่านของคนรุ่นใหม่อีสานและคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย
 
นางสาวสิรินทรา พุฒิจันทร์ ผู้เข้าร่วมกล่าวถึงความชอบส่วนตัวในการอ่านว่า ชอบอ่านหนังสือมากกว่าการดูหนัง เพราะได้จินตนาการตัวละครในหนังสือ หนังสือหลายเล่มที่ผู้เขียนสามารถดึงดูดให้ผู้อ่านตั้งใจอ่านจนจบเล่มได้ แต่ปัจจุบันหนังสือดีๆ หลายเล่มมีราคาสูงทำให้โอกาสของผู้อ่านลดลง รวมทั้งในสังคมไทยเองยังมีการจำกัดไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่ม ซึ่งยิ่งห้ามยิ่งทำให้คนอยากรู้และหาอ่าน พร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐมีบทบาทในการควบคุมราคาหนังสือและจัดบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสม รวมทั้งเปิดเสรีภาพการจำหน่ายหนังสือให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงที่มิจำกัดใดๆ
 
นายเจนณรงค์ วงษ์จิตร กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่หันไปอยู่ในสังคมออนไลน์มากกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด ยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงทำให้คนไม่มีโอกาสในการสัมผัสบรรยากาศรอบตัวขณะอ่านหนังสือพร้อมทั้งเสนอแนะให้คนรุ่นใหม่ซื้อหนังสือมาเก็บไว้แม้จะยังไม่ได้อ่าน แต่สักวันในอนาคตที่มองเห็นหนังสือจะได้มีโอกาสหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน
 
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมระดมความเห็นเพื่อเสนอทางออกให้สังคมเกี่ยวกับการอ่านของคนรุ่นใหม่อีสานและคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ดังนี้
 
การอ่านหนังสือควรเริ่มต้นจากความสนใจของตนเองที่มิต้องตามกระแสผู้อื่น และอย่าคิดว่าหนังสือที่ตนเองอ่านไม่สำคัญ
 
อยากเห็นบรรยากาศการส่งเสริมการอ่านรูปแบบที่น่าสนใจให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการที่สนุกสนาน อาทิ การทำละคร การทำสื่อให้คนรุ่นใหม่พิจารณาและไปหาคำตอบจากการอ่าน
 
ควรมีการจัดศูนย์กลางการค้นคว้าและการอ่านให้มากขึ้นในสังคม หนังสือที่อยู่ในศูนย์ควรเป็นหนังสือที่มีความหลากหลายเพียงพอต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่
 
รัฐควรสนับสนุนการอ่านอย่างจริงจังและเปิดเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่ควรมีหนังสือต้องห้าม หนังสือทุกเล่มประชาชนควรมีสิทธิอ่านและพิจารณาเอง มิควรยกเรื่องความมั่นคงของรัฐมาอ้างและทำให้เกิดการจำกัดการอ่าน
ให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นอ่าน และให้ตั้งคำถามกับหนังสือที่อ่านตลอดช่วงที่อ่าน โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อหนังสือที่อ่านทั้งหมด ควรอ่านให้จบเล่มที่จะได้ช่วยให้ผู้อ่านทราบถึงเจตนารมของผู้เขียน
 
การส่งเสริมให้เกิดการอ่านเป็นเรื่องที่ยากในสังคมไทย สิ่งที่จำเป็นและต้องเริ่มคือต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน แล้วค่อยส่งเสริมไปถึงผู้อื่น
 
ทุกคนที่อ่านหนังสือต่างๆ ไม่ควรมองว่าเรื่องที่ผู้อื่นอ่านเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ควรเคารพในสิ่งที่ผู้อื่นชอบ และไม่ควรตำหนิเพราะจะเป็นการคุกคามพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น
 
ให้สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างมีเหตุผลขึ้นในสังคมที่คนได้มีพื้นที่ในการสนทนาที่เป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจในความแตกต่างและความหลากหลายของคนในสังคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net