สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ‘วันชัย แซ่ตัน’ และคดี 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายวันชัย แซ่ตัน สัญชาติสิงคโปร์ซึ่งถูกคุมขังจากความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัว โดยมีภรรยา เพื่อน และประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งน.ส.สุดา รังกุพันธุ์ จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลคอยรอให้กำลังใจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นายวันชัยไม่ได้มีโอกาสแห่งอิสรภาพเลย เพราะตำรวจจากจาก สน.ดุสิต เจ้าของคดีได้มารับตัวเขาไปส่งยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และในที่สุดก็ได้ดำเนินการเนรเทศกลับสิงคโปร์ในวันที่ 6 มิถุนายน

ทั้งนี้ วันชัย แซ่ตัน หรือ อาฮง อายุ 55 ปี เป็นชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในประเทศไทยมา 36 ปี พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ เดิมมีอาชีพมัคคุเทศก์ และมีภรรยาเป็นชาวไทยมีอาชีพค้าขายเสื้อผ้า ด้วยความที่เป็นมัคคุเทศ จึงชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย และมีความชื่นชมในพระเจ้าตากสิน เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 คุณวันชัยไม่เห็นด้วย และยิ่งรับไม่ได้กับการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตร ที่เป็น”ม็อบมีเส้น”ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ทำให้กิจการท่องเที่ยวตกต่ำลง เขาจึงเข้าร่วมการชุมนุมกับฝ่ายคนเสื้อแดงมาตั้งแต่แรก

รายงานเล่าว่า คุณวันชัยได้ค้นคว้าสาเหตุของการรัฐประหารและเขียนเป็นเอกสารชื่อ “พระไตรปิฎกฉบับแก้แค้น” ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหลังรัฐประหารอย่างรุนแรง และอธิบายถึงพลังอำนาจลึกลับที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรฯ เอกสารชุดแรกที่เขาเขียนหนาถึง 50 หน้า แต่พบว่าเมื่อเอาไปแจกไม่ค่อยมีใครอ่าน จึงทำเป็นฉบับย่อเหลือ 6 หน้า แล้วนำไปแจกเวลามีการชุมนุมของฝ่ายคนเสื้อแดง

เมือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2552 ขณะที่คุณวันชัยนำเอกสารไปแจกในที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เขาถูกจับกุมโดยการ์ดของ นปช. และได้ถูกคุมตัวมาส่งให้แกนนำ ขณะนั้นพบว่า เอกสารที่คุณวันชัยแจก น่าจะมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง ทางฝ่าย นปช.ต้องการแสดงตนว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคุณวันชัยและเอกสารดังกล่าว กลัวการถูกใส่ร้ายป้ายสีว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จึงได้นำตัวคุณวันชัยมาแถลงข่าว และแจ้งให้ตำรวจ สน.ดุสิต มานำตัวนายวันชัยไปดำเนินคดี คุณวันชัยจึงสิ้นอิสรภาพตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

นายวันชัยเล่าว่า รู้สึกเสียใจและโกรธ นปช. มาก ที่ทำเช่นนั้น ตั้งแต่ถูกจับกุมตัวและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เขาก็ถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างว่าเป็นคดีที่มีบทลงโทษสูง จึงติดคุกเรื่อยมา คุณวันชัยยืนยันว่าข้อเขียนของเขานั้นเป็นความจริง และเมื่อเขายืนยันเรื่องนี้ต่อศาล ศาลก็ไม่อนุญาตให้อธิบายและพิสูจน์ข้อเท็จจริง และยังพิจารณาคดีแบบปิดลับ แม้กระทั่งภรรยาก็ยังต้องออกไปนอกห้องระหว่างการพิจารณา ด้วยความเครียดจากการถูกดำเนินคดีและจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ ซึ่งนายวันชัยระบุว่ากินไม่ค่อยได้ นอนไม่เคยหลับ ทำให้เขาแสดงอารมณ์โกรธและพูดจาวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงภายในศาล กระทั่งถูกส่งไปสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และอยู่ที่นั่น 2 เดือน

จนในที่สุด ศาลก็ตัดสินลงโทษคุณวันชัยจากเหตุการณ์แจกเอกสารทื่ทำเนียบรัฐบาลดังกล่าว ให้จำคุก 10 ปี และยังถูกตัดสินความผิดจากอีกคดีหนึ่งในข้อหาเดียวกัน กรณีนำใบปลิวทางการเมืองไปวางไว้ในบริเวณโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี รวมแล้ว คุณวันชัยถูกตัดสินจำคุก 15 ปี แต่ศาลพิจารณาว่า คุณวันชัยให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาทางคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 10 ปี

ปรากฏว่า คุณวันชัยตัดสินใจที่จะไม่สู้คดี จึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับนักโทษในคดี 112 ที่นำโดย คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ในจดหมายถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2555 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“ดังนั้นพวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีเดียวกัน อันเป็นความผิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมือง หรือบางคนใช้ความรู้สึกคึกคะนองอย่างรู้เท่าไม่ถึงกาล เป็นการใช้เสรีภาพอย่างผิดพลาด มิได้เป็นอาชญากรชั่วร้ายแต่อย่างใด

บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”

ปรากฏว่า คุณวันชัยได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากที่ถูกจำคุกมานานกว่า 4 ปี ขณะที่คนอื่นยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เช่น คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกจำคุกมาแล้วราว 2 ปีครึ่ง และคุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ที่ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี และถูกขังมาแล้วกว่า 3 ปี นอกจากนี้ ยังคงมีผู้ต้องขังรายอื่นคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี และถูกขังมาแล้วกว่า 2 ปี กับ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปี และติดคุกมาแล้วเกือบ 5 ปี ทั้งสองคนต่อสู้คดี และขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ส่วนนายยุทธภูมิ มาตรนอก ที่ถูกพี่ชายแจ้งความจับ อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น

สำหรับคุณวันชัย แซ่ตัน แม้ว่า จะพ้นจากคดี 112 แล้ว ก็ยังมีคดีลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายค้างอยู่อีกคดีหนึ่ง จึงได้ถูกเนรเทศ ทั้งที่นายวันชัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และมีภรรยาเป็นไทย ได้มีความพยายามในการช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษย์ชนให้ใช้สิทธิไม่พรากจากครอบครัว เพื่อให้คุณวันชัยสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ต่อไป แต่ก็ยื่นเรื่องไม่ทันเพราะตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รีบส่งตัวคุณวันชัยไปสิงคโปร์โดยทันที

กรณีของคุณวันชัย แซ่ตัน จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงชตากรรมอันน่าเศร้าของประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 แต่กระนั้น ความพยายามที่จะใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ใช้ชื่อว่า "คณะคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลก" ไปแจ้งความกล่าวหาว่า มีบุคคลใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งลงข้อความ-รูปภาพ เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงขอให้ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดี ปรากฏว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

ต่อมา ในวันที่ 31 พฤษภาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นายวรินทร์ อัฐนาค หนึ่งในคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการแก้ปัญหาความยากจน และเป็นแกนนำคนเสื้อแดงมุกดาหาร โดยกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กผิดตามมาตรา 112 และยังโจมตีด้วยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินการปิดกั้นและดำเนินคดีต่อความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในโลกไซเบอร์ไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ใช้

แต่กระนั้น ในความเห็นของนายจาคอบ แมทธิว ประธานสมาคมสมาคมสื่อหนังสือพิมพ์และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โลก ถือว่า มาตรา 112 ในสังคมไทยนั้น สร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัว และขัดหลักการของเสรีภาพสื่อมวลชน ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมก็คือ การที่ใครก็ได้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อใครก็ได้ที่เชื่อว่าคนคนนั้นกระทำการหมิ่นเบื้องสูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ น่าจะถึงเวลาของสังคมไทย ที่จะต้องพิจารณาผลร้ายจากมาตรา 112 อย่างเป็นจริง และหาทางยกเลิกเสีย ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกไม่น้อย ที่จะต้องถูกดำเนินคดีและติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม และจะทำให้สถานะด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยดีขึ้นด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท