Red Research (2) : ภาคใต้ “เหลืองอาจไม่ใช่ แต่ยังไงก็ไม่แดง” และกระแสคนใต้รักในหลวง

สัมภาษณ์ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์สาขามานุษยวิทยา หัวหน้าทีมวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ในภาคใต้ สำรวจพื้นที่หมู่บ้านในนครศรีธรรมราช วิเคราะห์ตัวตนทางการเมืองของผู้คนผ่านการเมืองทุกระดับ รวมทั้งกระแสคนใต้รักในหลวงที่เกิดขึ้น 

งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ที่รวมคณาจารย์โดยเฉพาะด้านมานุษยวิทยาหลายสำนักมาร่วมกันศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ใกล้เสร็จสิ้นเป็นทางการ งานนี้เริ่มทำกันตั้งแต่ราวปี 2554 จากแรงผลักสำคัญจากเหตุการณ์ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53  ทำให้มีโจทย์เบื้องต้นที่จะศึกษาเกี่ยวกับ “ชนชั้นใหม่” หรือทำความรู้จักกับ “ผู้เล่นใหม่” ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่าง “คนเสื้อแดง” ให้เป็นระบบมากขึ้น

พื้นที่ศึกษามีหลายแห่ง โดยโจทย์ของแต่ละแห่งก็แตกต่างกันออกไปตามบริบทพื้นที่ สำหรับภาคใต้นับเป็นภาคที่มีความน่าสนใจในแง่ที่มีลักษณะเฉพาะทางการเมืองที่เข้มข้น ไม่เหมือนใคร และผูกโยงกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างเข้มข้น ยาวนาน


ภาพจาก: Department SOC - ANP CMU

อนุสรณ์ อุณโน อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาหมู่บ้านในนครศรีธรรมราช  ด้วยโจทย์ที่อาจแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ

“งานศึกษาระดับพื้นที่ชิ้นอื่นๆ พยายามจะอธิบายเงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ แต่ของผมจะอธิบายกลับกัน ว่า ทำไมสิ่งที่เรียกว่าคนเสื้อแดงจึงไม่เกิดในภาคใต้”  อนุสรณ์กล่าว

ชื่องานวิจัยในส่วนนี้คือ ชีวิตและตัวตนทางการเมืองของชาวใต้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย แต่หากจะให้สรุปเป็นประโยคง่ายๆ เขาสรุปลักษณะของพื้นที่นี้ไว้ว่า “เหลืองอาจไม่ใช่ แต่ยังไงก็ไม่แดง” และพ่วงด้วยการอธิบายถึงปรากฏการณ์ “คนใต้รักในหลวง” ด้วย

พื้นที่ที่เขาศึกษาอาจจะไม่ใช่ภาพตัวแทนของภาคใต้ทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความสลับซับซ้อนของภาคใต้ก็มีหลายพื้นที่ที่มีลักษณะเช่นว่านี้ซึ่งจะได้อธิบาต่อไป อนุสรณ์ให้เหตุผลในการเลือกพื้นที่นี้ว่าเพราะความเป็นไปได้ในการศึกษาภาคสนามเอื้อหลายอย่าง โดยเฉพาะการรู้จักคนในพื้นที่ มีเครือข่าย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาภาคสนาม

เขาเล่าว่า การศึกษานี้มาจากการพบว่า หมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ไม่ลงล็อคคำอธิบายหลัก 2 ชุดในปัจจุบัน นั่นคือ สมติฐานว่าด้วยสถานะทางเศรษฐกิจของคนใต้ที่ค่อนข้างดีทำให้ไม่พึ่งพารัฐเหมือนกับที่คนเสื้อแดงที่อิงกับพรรคเพื่อไทย เพราะโดยส่วนใหญ่คนเสื้อแดงมีสถานะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง

“มันเริ่มต้นคล้ายกับมีสมมติฐานสองข้อที่น่าสนใจ เวลาเขาแสดงตัวตนทางการเมืองมักจะอธิบายบนฐานเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น มีคำอธิบายมานานแล้วว่า บุคลิกคนใต้คือ ใจนักเลง รักพวกพ้อง กล้าได้กล้าเสีย ไม่หวังพึ่งพาหรือแม้กระทั่งต่อต้านรัฐ โดยบอกว่าเหตุเพราะคนใต้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตรา ก่อนที่รัฐส่วนกลางจะขยายตัวเข้ามา พวกนี้จึงพึ่งพาด้วยเองได้ในทางเศรษฐกิจและคล้ายกับความมั่นใจในตัวเอง ไม่ไว้ใจรัฐส่วนกลาง ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ

ขณะที่เวลาเราอธิบายการเกิดขึ้นกับคนเสื้อแดง โดยเฉพาะองค์ประกอบหลักคือชนชั้นใหม่ หรือ ชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจในเขตชนบทไทยในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา คนเหล่านี้ถึงจะไม่ได้ยากจนข้นแค้น แต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่มั่นคงแบบชนชั้นกลาง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคไทยรักไทย มอบนโยบายชุดประชานิยมมาให้ ในแง่หนึ่งมันตอบโจทย์ให้คนกลุ่มนี้ซึ่งต้องการแสวงหาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ในแง่หนึ่งมันคล้ายว่าเวลาเราอธิบายปฏิบัติการทางการเมือง รวมถึงตัวตันทางการเมืองของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนใต้ก็ดี คนเสื้อแดงก็ดี มันวางอยู่บนฐานเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

ความน่าสนใจก็คือ พอไปดูกรณีศึกษาในพื้นที่ของผม ใช้นามสมมติว่า บ้านเกาะ มันไม่ใช่เช่นนั้น” อนุสรณ์กล่าว

ชุมชนที่เขาให้ชื่อสมมติว่าบ้านเกาะ ตั้งขนานไปกับถนนสายหัวไทร-ปากพนัง ฝั่งตะวันออกติดอ่าวไทย ตะวันตกติดคลองหัวไทร-ปากพนัง ซึ่งร้อยปีที่แล้วเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวเปลือกไปขายให้กับตลาดที่ปากพนัง  คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นลูกเรือให้กับเจ้าของเรือในหมู่บ้าน และทำประมงชายฝั่ง มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนแม้จะเกินเส้นความยากจน แต่ไม่เกินเส้นรายได้เฉลี่ยของปีที่ศึกษา คือปี 2554-2555 ผนวกกับ คนเหล่านี้ทั้งหมดไม่มีที่ดินทำกิน เพราะในช่วงกุ้งกุลาดำขยายตัว มีคนจากภายนอกกว้านซื้อที่ดิน ทำให้ที่ดินในหมู่บ้าน 70% เป็นของคนนอก และช่วงหลังการล่มสลายของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง

กล่าวได้ว่า คนบ้านเกาะโดยเฉลี่ยแล้วไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไปรายวัน

อนุสรณ์กล่าวอีกว่า คนที่บ้านเกาะมีลักษณะคล้ายคลึงกับชนชั้นใหม่ หรือคนชั้นกลางระดับล่าง คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบนี้เป็นองค์ประกอบหลักของคนเสื้อแดง แต่คนในพื้นที่นี้ ช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวก็ไปสนับสนุนพันธมิตรฯ อย่างเข้มข้น  ขณะที่สถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองไม่ได้คล้ายคลึงกับคนเสื้อเหลือง หรือแม้กระทั่งคนใต้โดยทั่วไปด้วยซ้ำ

“เราจะอธิบายอย่างไร กับการที่คนบ้านเกาะ มีสถานะทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับคนที่เป็นองค์ประกอบหลักของเสื้อแดงแต่ดันไปสนับสนุนคนเสื้อเหลือง ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจต่างไปจากตัวเอง  หรือที่จริงแล้วเราอาจต้องอาศัยปัจจัยอื่นในการอธิบายด้วยหรือเปล่า นี่เป็นคำถามที่ตั้งไว้” อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ ผู้นี้กล่าว

 

ดูเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน อบต. ส.จ. ส.ส.

การจะเข้าใจชีวิตทางการเมืองและการสร้างตัวตนทางการเมืองของคนบ้านเกาะ ทีมวิจัยได้ลงไปดูการเมืองตั้งแต่ระดับชีวิตประจำวัน การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งระดับชาติ โดยในช่วงเวลาที่ทำการศึกษานั้นเป็นจังหวะดี เพราะมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน อบต. ส.จ. ส.ส. ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกันหมด

อนุสรณ์ไล่เรียงปรากฏการณ์ของการเมืองในแต่ละระดับ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านว่า การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เกิดขึ้นเพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่บ้านขณะนั้นซึ่งมีตำแหน่งกำนันด้วยได้ลาออกเพื่อลงรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันอีกครั้ง ตอนนั้นยังอยู่ในกฎหมายฉบับที่ให้เป็นตามวาระ แต่หากลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งจะเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์แก้กฎหมายให้ดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปี อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า คนที่เป็น อบต. นามสกุลเดียวกับผู้ใหญ่บ้านคนนี้ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน ก็ตัดสินใจลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านด้วย  เพราะญาติๆ เห็นแล้วว่าผู้ใหญ่บ้านคนนี้ทำตัวเหลวไหล ไม่เอาถ่าน จึงรวมหัวกันวางแผนให้หลานที่เป็น อบต.ลาออกมาชนกับอา

นับเป็นการแข่งขันกันของคนในตระกูลเดียวกัน คือ อดีตผู้ใหญ่บ้าน กับ อดีต อบต.มาเจอกัน โดยทั้งคู่ใช้นามสกุลใหญ่อันดับสองของหมู่บ้าน การแข่งขันมีการใช้เงิน บุกหนักกันโค้งสุดท้าย

“ฝ่ายผู้ใหญ่บ้าน และอบต.ใช้เงินเหมือนกัน ทำโพลล์เช็คไปเช็คมาคำนวณว่าตัวเองจะได้เท่าไร ฝั่ง อบต.คิดว่าตัวเองจะได้ 400 กว่า ฝั่งผู้ใหญ่บ้านคิดว่าจะได้ 600 กว่า วงการพนันให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นต่อ 8:1 แต่ไม่มีใครรอง วันเลือกตั้งนี่ตึงเครียดมาก คนมาต่อแถวแต่เช้า ตอนแรกตำรวจมี 2 คน ต่อมาส่งมาอีก 5 คน ตกเที่ยงผู้กำกับมาดูเอง เพราะเป็นมวยคู่หยุดโลก อากับหลานนามสกุลเดียวกันชนกัน บ่ายแก่ นายอำเภอมาดูด้วย

นับคะแนนเสียง ผู้ใหญ่บ้านชนะ ได้ 400 กว่า อบต.ได้ 300 กว่า ฝ่ายอดีตอบต.ใช้เงินไป 4 แสนกว่า ส่วนฝั่งอดีตผู้ใหญ่บ้านใช้เงินไปประมาณล้านห้า”

อนุสรณ์ชี้ให้เห็นว่า การเมืองระดับผู้ใหญ่บ้าน แม้เครือญาติยังมีความสำคัญอย่างมาก แต่เพียงแค่เครือญาติอย่างเดียวก็ไม่พอเพราะปัจจุบันหมู่บ้านใหญ่ขึ้นมาก ต่อให้ตระกูลใหญ่แค่ไหนก็ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเลือกบนฐานอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสมัครพรรคพวก บุญคุณ ผลงาน แล้วก็เงิน 

“ผลงานนี่มีสัดส่วนต่ำที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร แต่เป็นตำแหน่งทางปกครอง คงชูผลงานอะไรได้ไม่มากนัก ที่ถัดขึ้นมาคือ เรื่องบุญคุณ แต่ก็ไม่มาก เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีพันธะกับนายจ้างคนไหนเป็นพิเศษ ไม่ได้เป็นระบบแพแบบเมื่อก่อน หรือต่อให้เป็นระบบแพ ก็ไม่ได้มีพันธกรณีทางการเมืองกัน ระบบอุปถัมภ์ทำงานได้ไม่มากนัก เพราะครอบคลุมคนจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้าง เป็นอิสระ ถัดขึ้นมาเป็นเรื่องสมัครพรรคพวก  มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะชายวัยฉกรรจ์ทั้งหลาย ถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต แต่อย่างไรก็ดี สำหรับคนโดยทั่วไปโดยเฉลี่ย เงินเป็นปัจจัยหลัก เขาไม่ได้สนใจว่าผู้ใหญ่บ้านจะทำงานอะไรมาอย่างไร คนเหล่านี้มีชีวิตกับค่าจ้างรายวันที่ไม่ได้มีหลักประกันอะไรนัก เขาจึงต้องเลือกผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่เป็นรูปธรรมดีกว่า เพราะในแง่อื่นมันไม่ได้ต่างกัน”

“ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นการเลือกตั้งที่เข้มข้นที่สุดแล้ว เนื่องจากพื้นที่เล็กและเลือกได้คนเดียว ประกอบกับการไปแก้กฎหมายให้อยู่ในตำแหน่งครบวาระจนเกษียณ บวกกับมีเงินเดือนค่อนข้างสูง สวัสดิการเยอะใกล้เคียงข้าราชการ ขณะที่คุณไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปเข้าออฟฟิศทุกเช้า สบายขนาดไหน บวกกับตอนหลังมีโครงการพัฒนาที่ผ่านมาทางผู้ใหญ่บ้าน เป็นแขนขามหาดไทย ก็จูงใจผู้สมัครอย่างมาก ใครอาจคิดว่า อบต.จะแข่งรุนแรงเพราะได้งบพัฒนาท้องถิ่น แต่อันที่จริงแล้ว อบต.ได้อะไรน้อยมาก งบพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้ลงไปสู่กระเป๋าคุณได้สักเท่าไร 4 ปีก็ต้องลงใหม่อีกครั้ง ที่แข่งกันแรงๆ คือผู้ใหญ่บ้านมากกว่า ลงทุนครั้งเดียวจบ”

ในส่วนของอบต. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากอดีตอบต.ลาออกไปสมัครผู้ใหญ่บ้าน เขาเล่าว่า มีผู้สมัครลงแข่ง 2 คน เป็นตัวแทนของขั้วการเมืองสองขั้วเหมือนเดิม ผลปรากฏว่าการแข่งขันไม่รุนแรง ชนะกันด้วยฐานเครือข่าย คนที่ชนะก็นามสกุลเดียวกับผู้ใหญ่บ้านและอบต. ขณะที่เงินมีบทบาทน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการเลือกตั้งซ่อมด้วย อีกหน่อยก็จะหมดวาระ  เช่นเดียวกับกรณี ส.จ. เนื่องจาก ส.จ.ในพื้นที่ลาออกเพื่อจะไปลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ต้องมีเลือกตั้ง ส.จ.อีก ระดับนี้ก้ำกึ่งระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองที่ใหญ่กว่าตัวเยอะ อย่างไรก็ดี คนที่ชนะคือคนในอดีตที่คนรู้จักเป็นส่วนใหญ่ วัดกันด้วยเครือญาติ เงินไม่มีบทบาทพอๆ กับเรื่องผลงาน การแข่งขันไม่ได้รุนแรง

ทำไมประชาธิปัตย์ครองเสียง 7 สมัย

ประเด็นคือ ความเป็นเครือญาติก็ดี ความเป็นสมัครพรรคพวกก็ดี รวมไปถึงเงิน ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างจะสำคัญในการเมืองท้องถิ่น กลับแทบไม่มีนัยยะอะไรเลยในการเมืองระดับชาติ หรือการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.53 เขตหัวไทร มีผู้สมัคร 7 คน คือ คนของประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และชาติไทยพัฒนา คนของเพื่อไทยเป็นเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมัน เป็นคนมีฐานะในเมือง คนของประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.ต่อเนื่องมา 20 กว่าปีคือ วิทยา แก้วภราดัย  ส่วนคนของพรรคชาติไทยพัฒนาก็คือ อดีต ส.จ. ที่ลาออกมาลง ส.ส. ปรากฏว่าการแข่งขันก็ไม่รุนแรงอะไร และวิทยาก็ได้ไปตามคาด ได้ 60,000 กว่าคะแนน ทิ้งห่างลำดับสองจากชาติไทยพัฒนา ซึ่งได้ประมาณ 6,000 กว่าคะแนน ส่วนเพื่อไทยได้ 1,900 คะแนน เป็นทิศทางเดียวกับอีก 8 เขตเลือกตั้งในนครศรีธรรมราช ทำให้ประชาธิปัตย์ชนะแบบยกจังหวัดเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน

อนุสรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ความน่าสนใจก็คือ ก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 54 นั้นมีการรวมตัวตั้งกลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร เป็นการรวมตัวของคนในท้องถิ่น กลุ่มพันธมิตรฯ บางส่วน เอ็นจีโอ นักวิชาการในท้องถิ่น สำหรับคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์มาก่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีการพูดกันว่า จะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวสั่งสอนพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเชื่อว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ในนครศรีธรรมราชเป็นคนดึงเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในพื้นที่ แต่สุดท้ายในการเลือกตั้งโดยภาพรวมแล้วก็ไม่เปลี่ยน คนที่บอกว่าจะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้จะสั่งสอนวิทยานั้นปรากฏว่ากาให้ทั้งวิทยาและประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่า “พอไปถึงคูหามือมันพาไป เหมือนผีลากไป กามาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ”

เขาสรุปว่า ความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์กำกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้านนี้กับการเมืองเสื้อสีอย่างสำคัญ เพราะหากดูตอนต้นปี 2548 พันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหวใหม่ๆ คนในหมู่บ้านเคลื่อนไหวกันคึกคักมาก ติดจานดาวเทียมดูเอเอสทีวี พันธมิตรฯ มาปราศรัยที่ตัวจังหวัดก็ไปฟัง ชาวบ้านส่วนหนึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่พันธมิตรฯ แต่ชุมนุมตอนนั้นเพราะอยากให้ประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล สอดคล้องกับสิ่งที่ทีมวิจัยพบว่า ตอนประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล พอพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวกรณีเขาพระวิหาร คนจำนวนมากก็ถอดเสื้อเหลืองทิ้ง ในหมู่บ้านเหลือเสื้อเหลืองเข้มข้นคนเดียว เป็นบ้านเดียวที่ยังติดจานเอเอสทีวี จากนั้นในหมู่บ้านก็มีการจำแนกเสื้อเหลืองในหมู่บ้านออกเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อเหลืองจริงและเสื้อเหลืองปลอม  เหลืองจริงคือคนที่เห็นด้วยกับทั้งหลักการและแนวทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ กับเสื้อเหลืองปลอมคือกลุ่มที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ เพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาธิปัตย์

 

กระแสคนใต้รักในหลวง

“แม้ว่าจะแบ่งเป็นเหลืองจริงเหลืองปลอม แต่ในแง่หนึ่ง ทั้งสองประเภทมีจุดร่วมกันคือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้และเป็นสิ่งที่เขาพูดกันในวงสนทนา ความจงรักภักดีนี้ไม่ได้ผูกอยู่กับการเป็นเสื้อเหลืองเท่านั้น แต่ขยายความถึง “ความเป็นคนใต้” ด้วย จากเดิมที่มีคอนเซ็ปท์ความเป็นคนใต้ว่า นักเลง รักพวกพ้อง กล้าได้กล้าเสีย ต่อต้านรัฐ ปัจจุบันมันพ่วงคำว่า “คนใต้รักในหลวง” เข้ามาด้วย เพราะตอนที่เราคุยกันในวงสนทนาวงใหญ่ ก็พูดเรื่องการเมือง เรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ แล้วก็มีคนพูดขึ้นมาว่า คนใต้รักในหลวง เหมือนเป็นสัจพจน์ที่ไม่มีใครในนั้นจะเถียง”

“ถ้าคุณลงไปนครศรีธรรมราชตอนนี้ คุณจะพบกระแสรักสถาบันอย่างเข้มข้นมาก”  อนุสรณ์กล่าว

ปรากฏการณ์คำว่า คนใต้ ถูกปรับหรือถูกขยายความให้ครอบคลุมการรักในหลวงนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เขาวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากกระบวนการปลูกฝังกล่อมเกลาที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากการไม่อาจแยกออกจากกันได้ระหว่างกระบวนการสร้างความเป็นคนใต้ที่ยึดโยงกับพรรคประชาธิปัตย์กับกลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาซึ่งชูความจงรักภักดี ประกอบกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นคนใต้ ผูกพันกับประชาธิปัตย์และเป็นองคมนตรี ดังนั้น ความเป็นคนใต้ของคนในพื้นที่ที่ยึดโยงกับพรรคประชาธิปัตย์จึงส่งผลให้คนใต้กลายเป็นคนใต้รักในหลวงไปด้วยในตัว และเพราะเหตุนั้น ต่อให้ปัจจุบันพวกเขาเลิกใส่เสื้อเหลืองไปแล้ว เหลืออยู่คนเดียวที่บอกว่าตัวเองเป็น “เสื้อเหลืองจริง” ในหมู่บ้าน ซึ่งก็ถูกเหน็บแนมว่าเพี้ยน ก็ยังมีใจให้เสื้อเหลืองมากกว่าเสื้อแดง เพราะแม้เสื้อเหลืองต่อให้ก่อความวุ่นวายให้พรรคประชาธิปัตย์ตอนเป็นรัฐบาล แต่เสื้อเหลืองก็ยังเคลื่อนไหวโดยชูระเบียบการเมืองเชิงศีลธรรมที่มีกษัตริย์อยู่บนยอด ขณะที่พวกเสื้อแดงตั้งคำถามกับระเบียบการเมืองแบบนี้

“พวกนี้มองพวกเสื้อแดงเป็นพวก “ล้มเจ้า” สาเหตุที่คนเหล่านี้ไม่ชอบ หรือเกลียดเสื้อแดง ไม่ใช่แค่เฉพาะเชื่อว่าเสื้อแดงทำเพื่อทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทยอยู่ตรงข้ามพรรคประชาธิปัตย์ แต่เชื่อว่าเสื้อแดงต้องการจะล้มเจ้า สำหรับคนใต้แล้วเรื่องนี้ยอมไม่ได้” อนุสรณ์กล่าว

เมื่อพูดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ เขาชวนดูไปถึงกระบวนการสร้างตัวตนทางการเมืองโดยอิงอาศัยกับอำนาจ ในแง่หนึ่งหากไล่ดู literature เกี่ยวกับสร้าง Subjectivity หรือการสร้างตัวตนด้วยการใช้ศักยภาพของการกระทำการใดโดยไม่ต้องติดอยู่ในตรรกะของการกดขี่ครอบงำ หรือการต่อต้านขัดขืน ถ้าเราเชื่อว่ากระบวนการปลูกฝังการจงรักภักดีเป็นปฏิบัติการของอำนาจที่ต้องการควบคุมตรวจตรา การที่คนเหล่านี้บอกว่าตัวเองเป็นคนใต้รักในหลวง ก็เป็นการโอนอ่อนผ่อนกับอำนาจนั้นเพื่อให้มีศักยภาพบางอย่างที่จะกระทำการภายใต้อำนาจ คล้ายคลึงกับเวลาเราไปศึกษาพวกกลุ่มคนที่สร้างตัวตนทางศาสนาที่ยอมจำนนต่อพระเจ้าแล้วคนนั้นก็จะได้อำนาจผ่านพระเจ้าอีกที แต่อาจมีความต่างในแง่ที่ว่า ขณะที่ศักยภาพในการกระทำการหรือ agency ที่ได้มาพร้อมกับการสร้างตัวตนทางศาสนาโดยยอมจำนนต่อพระเจ้านั้นเปิดโอกาสให้คุณได้ปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ ในนามของพระเจ้า หรือองค์อธิปัตย์ แต่กรณีของ “คนใต้รักในหลวง” นั้นอาจไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาอิสลามเชื่อว่า คนทุกเพศเสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า ฉะนั้นคุณก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปฟังเฉพาะการตีความอัลกุรอ่านของสามี เพราะว่าต่อหน้าพระเจ้าทุกเพศเท่ากัน เรียกว่าได้ปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจโดยอิงอำนาจของ sovereign ตัวนั้น

“แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นนั้นต่างออกไป ในขณะที่องค์อธิปัตย์แบบนั้นไม่ได้มีส่วนในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่สิ่งที่คนใต้อ้างอิงในการสร้างตัวตนของพวกเขา ผ่านประโยคว่า คนใต้รักในหลวง องค์อธิปัตย์ที่เขาอิงมีส่วนในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจโดยตรง มีส่วนใน power play ขณะที่ God ไม่มี” เขากล่าวพร้อมตั้งประเด็นเพิ่มเติมว่า โดยคุณสมบัติพื้นฐานของ sovereign ทั้งหลายนั้นมีการจัดลำดับความสัมพันธ์พื้นฐานเป็นลำดับขั้นอยู่แล้ว คำถามคือ หากคุณไปอิงอาศัยอำนาจแบบนั้น โดยที่พวกนั้นมาร่วมวงเล่นด้วยกันคุณ มันจะเปิดโอกาสให้กับการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับกว้างมากสักเท่าไร ซึ่งสำหรับเขาคิดว่าไม่น่าจะทำได้

เมนูนโยบายเพื่อไทยเข้าไม่ถึง

ถามว่าการที่เพื่อไทยมีเมนูนโยบายที่ชัดเจนและยกระดับรายได้คนชั้นล่างได้มากกว่าประชาธิปัตย์นั้น ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่เลยหรือ อนุสรณ์ตอบว่า ถึงแม้คนเหล่านี้จะเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง แต่พวกนี้ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะคอปริ่มน้ำ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมประมงทะเลขยายตัวต่อเนื่องอย่างคงที่ ขณะที่อุตสาหกรรมเกษตรอาจขึ้นๆ ลงๆ ในแง่หนึ่งทำให้สามารถดูดซับแรงงานท้องถิ่นได้มาก คนเหล่านี้จึงไม่มีความกังวลอะไร ประกอบกับมีความเติบโตเรื่องกุ้งขาวอีกครั้ง เรียกว่ามี job opportunity หรือทางเลือกในการประกอบอาชีพสูงมาก หรือต่อให้ไม่มีอะไรเลย แต่คนเหล่านี้ก็ยังมีฐานของเครือญาติค่อนข้างจะแน่นมาก หลายครอบครัวมีเครือญาติอยู่ข้างนอกและประกอบอาชีพการงานที่มั่นคง ยกตัวอย่างหมู่บ้านที่ลงศึกษา บ้านของยายทั่ง มีลูก 8 คน มีแค่ 2 คนที่อยู่ในหมู่บ้าน คนหนึ่งเลี้ยงกุ้งขาว อีกคนหนึ่งเป็นแม่บ้าน สามีเป็นชาวประมงชายฝั่ง มีฐานะยากจน แต่ลูกอีก 5 คนทำงานในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ สถานะสูงทั้งหมด คนหนึ่งเป็นแรงงานจังหวัด คนหนึ่งเป็นที่ดินจังหวัด คนหนึ่งสามีเป็นกุ๊กและผู้ถือหุ้นร้านอาหารไทยที่มีชื่อในอเมริกา คนหนึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ ทั้งหมดนี้ส่งเงินมาให้ยายทั่งตลอด และมักแวะมาเยี่ยมเยียนยายทั่งที่บ้านที่ปลูกให้ บางคนนั่งเครื่อง บางคนขับรถส่วนตัวราคาแพง

“ภาพที่คุณเห็นมันไม่ใช่รถแท็กซี่หรือรถปิ๊คอัพใช้งานที่คุณจะเห็นในภาคอีสาน แต่มันเป็นรถยนต์ราคาแพง มันอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งคนใต้นิยมส่งลูกเรียน นิยมลงทุนในการศึกษา ดังนั้นต่อให้คุณมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงเลย แต่ด้วยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติลักษณะนี้มันก็ประคับประคองคุณ คุณมีความมั่นคงในแบบหนึ่ง ที่สำคัญนโยบายประชานิยม มันออกแบบมาสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย พวกนี้ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป โอกาสทางเศรษฐกิจที่นโยบายของเพื่อไทยหยิบยื่นให้ จึงไม่ได้สอดรับกับชีวิตทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน อันนี้ไม่นับรวมถึงพรรคเพื่อไทยมันเป็นคู่แข่งประชาธิปัตย์ที่ต้องจับตาและจับผิดกันแต่ต้น” อนุสรณ์กล่าว  

อีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คนเหล่านี้ในพื้นที่สร้างตัวตนทางการเมืองและมีส่วนทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก และเป็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์ค่อนข้างมาก เพราะประชาธิปัตย์ชูภาพและเล่นในภาพที่พวกเขาคาดหวัง จึงยังจำกัดการสร้างตัวตนและการมีส่วนทางการเมืองผ่านประชาธิปัตย์เป็นหลัก และมีแนวโน้มจะมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นความสับสนวุ่นวาย

“ก่อนหน้านั้นต่อให้เป็นประมงชายฝั่งก็ไม่เคยรวมตัวกันเป็นชมรมประมงพื้นฐานอย่างที่เราพบในหลายพื้นที่ ที่นี่ไม่มี การมีส่วนในการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งแรกๆ ของคนเหล่านี้คือ การไปเป็นส่วนหนึ่งของชมรมคัดค้านโรงไฟฟ้าหัวไทร แต่ก็น่าสนใจว่ายุทธวิธีที่เขาเลือกใช้ ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่มีแนวโน้มว่าเขาจะเชื่อจริงๆ มันมีลักษณะเป็นจารีตนิยมค่อนข้างสูง โดยเหตุผลหลักที่คนเหล่านี้หยิบขึ้นมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.คือ เพื่อปกป้องโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าโครงการนี้สร้างผลกระทบไม่ว่าทางนิเวศวิทยา หรือเศรษฐกิจ สังคม เยอะเหมือนกัน แต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพูดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การกั้นแบ่งน้ำเค็มน้ำจืด กระทบหลายส่วน อีกข้อคือ ปกป้องเศรษฐกิจพอเพียง” อนุสรณ์เล่าตัวอย่างในพื้นที่

 

เสื้อแดงในภาคใต้

เมื่อถามถึงในทางกลับกันเกี่ยวกับเสื้อแดงในภาคใต้ เขาอธิบายว่า ที่นครศรีธรรมราชจะต่างจากเสื้อแดงในที่อื่นๆ องค์ประกอบหลักไม่ใช่คนในเขตชนบท แต่เป็นพวกสื่อมวลชนอิสระในเขตเมือง ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ วิทยุชุมชนของเขาเอง อีกกลุ่มหนึ่งคือ สหายเก่า โดยเฉพาะที่มาจากพัทลุง หรือพวก “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” 

“ตอนนี้สหายเก่ามาผสานรวมกันกับพวกเสื้อแดง พวกนี้คิดถึงภาพของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แต่ในชั้นนี้ก็จำเป็นต้องไปร่วมกับพวก นปช.รวมถึงเพื่อไทยเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยก่อน อะไรก็ว่าไป สำหรับในพื้นที่จะมีน้อย ในหมู่บ้านที่ศึกษาไม่มีใครบอกว่าเป็นเสื้อแดง มีแต่คนที่บอกว่าเห็นใจเสื้อแดง ซึ่งมี 1-2 คนเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นอย่างที่บอก เดิมทีก็ไปกับเสื้อเหลืองและช่วงหลังๆ ก็ถอดเสื้อเหลืองออกเพราะวุ่นวายมากตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้น เหลืองอาจไม่ใช่ แต่ยังไงก็ไม่แดง”  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท