Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ VTR ประจำมหาวิทยาลัยถูกฉาย ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยแผ่กระฉ่อน คำว่าเสรีภาพทุกตารางนิ้วถูกประกาศก้อง นักศึกษาปรบมือรัว ๆ น้ำตาจะไหล พร้อมกับภาพจินตนาการที่ว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพวกเธอตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ ที่นี้ทุกชั้นปีจะเสมอภาคด้วยคำว่า “รับเพื่อนใหม่” แต่ทว่าความจริงแล้วไม่เลย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ติดป้ายตน (label) ว่าเป็นดินแดนประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของประชาชนและสังคม แท้จริงแล้วกลับเต็มไปด้วย “ความกระหายในอำนาจ” ที่พร้อมจะลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้นามของ “เสรีภาพ”

“พี่คะ พอดีว่าน้องตอนนี้อยู่ปี1คณะ...... รู้สึกไม่สบายใจ รุ่นพี่เริ่มให้มีป้ายชื่อผ้าผูกคอนู้นนี่ รู้สึกอึดอัดมากเลย”

“นี้คณะ..... ก็ให้ห้อยป้ายชื่อกับให้ใช้สัญลักษณ์แบบเดียวกันค่ะ ไม่ใส่ก็ไม่ได้ โดนบ่น ป้ายงอก็บ่น ไม่แขวนป้ายก็บ่น วัน....ที่แล้ว ก็มีให้น้องยืนร้องเพลง มีพี่ยืนตะโกนว่า(ไม่ถึงกับด่า)น้อง เรื่องไม่เคารพรุ่นพี่ แบบใส่อารมณ์ เข้าใจว่าเป็นการแสดง แต่ก็บั่นทอนจิตใจน้องไปหลายคนเหมือนกันค่ะ”

“ทำไมถึงต้องบังคับให้ใส่ครับ มันสังเวชก็ตรงนี้แหละครับ พอไม่ใส่ก็จะมีปัญหาอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะจากพวกที่อายุมากกว่า 1 ปีหรือเท่าๆ กันนั่นแหละ ความคิดก็ไม่ได้เหนือกว่าอะไรเลย อย่าให้ผมต้องสาธยายเลยครับ พวกประชุมเชียร์ พวกว้ากมีหมด ขู่บังคับเข้า ไม่เข้าไม่ได้รุ่น เพื่อนผมโดนว้ากร้องไห้ยังมีเลยครับ”

นี่คือตัวอย่างข้างต้นจากเสียงที่ถูกความเป็นรุ่นพี่เอารัดเอาเปรียบ ธรรมศาสตร์ไม่ได้ต่างอะไรไปจากมหาวิทยาลัยแบบไทยๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่มีป้ายโฆษณาเกินจริง (propaganda) ว่าที่นี้เสรีภาพทุกตารางนิ้ว(นิ้วเดียว) แล้วก็บุญเก่าที่รอวันกินหมด

มันน่าขบขันที่ว่ามหาวิทยาลัยที่สร้างภาพใหญ่โตว่าจะคอยกอบกู้ความยุติธรรมให้แก่สังคม คอยช่วยเหลือผู้อื่นในยามทุกข์ยาก ตามคำกล่าวของศรีบูรพาที่ว่า “เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของผู้อื่น” อันซึ่งถูกดัดแปลงมาเป็นวาทกรรม “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” แต่ทุกวันนี้นักศึกษาที่นี้กลับกลายเป็นผู้เสพย์ติดอำนาจ การได้ว้ากน้อง สั่งน้อง และได้สวมใส่จิตวิญญาณความเป็นรุ่นพี่จนละเลยถึงการตระหนักถึงปัญหาของสังคมอย่างสิ้นเชิงอันทำให้เราควรคิดว่า เรายังควรจะผลิตซ้ำวาทกรรมเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ ?

ทุกวันนี้หลายๆคณะบังคับให้น้องร้องเพลงเชียร์ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่หาได้ตั้งคำถามไปว่าร้องเพลงเหล่านี้เพื่ออะไร เพลงเหล่านี้มีความหมายอะไร ทั้งหลายทั้งสิ้นล้วนถูกปลูกฝังให้สืบทอดกันมาเป็นประเพณี (tradition) แต่ด้วยความเป็นประเพณีก็ทำให้เด็กที่เข้ามาพร้อมกับสมอง กลับออกมาเป็นสมองหาย งบประมาณที่ใช้ในการรับน้องนอกสถานที่ของบางโต๊ะมีมูลค่าที่เรียกเก็บกันมากกว่า 20,000-50,000 บาท ด้วยซ้ำ ทั้งที่งบประมาณการหารายได้เหล่านี้ล้วนสามารถนำไปพัฒนาชุมชน ให้ทุนการศึกษา หรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างประโยชน์แก่สังคมและความสามัคคีของคนในโต๊ะได้ดีมากกว่าการจัดกิจกรรมเพื่อ “สนองตัณหา” ของกลุ่มพี่ๆนักศึกษาที่ประชาชนจ่ายภาษีสนับสนุนค่าเล่าเรียนอยู่ร่ำไป

นอกจากนั้นในหลายๆคณะก็พยายามจะสร้างอัตลักษณ์ที่แปลกใหม่ให้กับกลุ่มคณะตัวเอง เช่น ทำป้ายห้อยชื่อ ใส่ผ้าคลุม เอาหมวกทรงแปลก ๆ มาให้น้องใส่กัน ซึ่งอาจจะบอกว่าเป็นสีสันทางเสรีภาพ แต่ทว่านั้นไม่ใช่เลย สิ่งเหล่านี้คือการแสดงสัญญะทางอำนาจภายใต้สีสันฉูดฉาด มีบางคณะที่น้องไม่ใส่ก็จะโดนตำหนิติเตียน หรือใส่สิ่งเหล่านี้ที่แสดงสีสันความหลากหลายแต่กลับโดนที่คณะจองจำให้อยู่ภายใต้เครื่องแบบนักศึกษา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือร้องที่เข้ามาทำ หรือชอบ เพียงเพราะว่าเข้ามาแล้วเขาทำกัน ไม่ทำเดี๋ยวจะโดนมองว่าแปลก เลยให้ประเพณีประดิษฐ์ของพี่ ๆ คิดแทนร่างกายเรา แต่หาได้ถาม “ใจ” ตัวเองเลย

แล้วข้ออ้างยอดฮิตของการรับน้องด้วยความรุนแรงเหล่านี้ก็จะเป็นว่า “ก็มีเสรีภาพกันแล้วไม่ใช่หรอคะ ? ไม่ชอบก็ไม่ต้องเข้า” ยิ่งสะท้อนความดัดจริตออกมาชัด ๆว่าดินแดนแห่งเสรีภาพกลับใช้ “เสรีภาพ” มาเป็นข้ออ้างในการจัดกิจกรรมที่ “ป่าเถื่อน” “รุนแรง” “ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของปี 1 กันอย่างไม่กระดากปาก พอน้องจะไม่เข้าร่วมก็จะมีการกดดันต่างๆนาๆ เช่น “น้องๆหลายคนก็มาบ่นให้เราฟัง เขาจะขาดก็ไม่กล้า กลัวเพื่อนจะมาดราม่า รุ่นพี่จะว๊าก ซึ่งปีนี้.....บางสาขาเริ่มจะมีบังคับให้ติดป้ายชื่อ ติดอะไรบ้าบอตามตัวละ เราเคยไปบอกนะ แต่ก็โดนด่ามาว่าประเพณีมันมีมายาวนาน ถ้าไม่ชอบก็อย่ายุ่ง เลยไม่รู้จะทำไงต่อ” คือ คนที่ไม่เข้าก็จะถูกนำไปใช้เป็นข้อหาให้รุ่นพี่ทำโทษคนที่ยังอยุ่ในห้องเชียร์ว่ามาน้อย เพื่อนขาด ทำให้เกิดการกดดัน เพื่อนเกลียด ไม่มีคนยุ่ง รุ่นพี่แบน หรือไม่กดดันก็หมดโอกาสที่จะร่วมกิจกรรมที่ตนเองนั้นควรจะได้เข้าร่วมโดยไม่ต้องมาเจอกิจกรรมที่รุนแรงเช่นนี้

กระนั้นก็ตามระบบ “อำนาจนิยม” ในมหาวิทยาลัยก็ยังไม่จบเมื่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการ “บังคับ” ให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชา TU100 (Civic Education) ความเป็นพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม และลดบทบาทความสำคัญของวิชาสหวิทยาการมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์(TU110-20) ที่ช่วยทำให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ถึงปัญหาของสังคมผ่านมุมมองทาง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณกรรม อย่างวิพากษ์มี critical mind, critical thinking มิใช่การล้างสมองแล้วยัดเยียดโปรแกรมนิยามการเป็นคนดีในแบบที่อาจารย์อยากให้เป็น โดยไม่รู้กันว่าตกลง “ดี” ในนิยามไหน โดยใครกันแน่ ตกลงเรามีเสรีภาพจริงหรือ ?

โดยรวมแล้วเป็นวิชาที่กำหนดให้ทำโครงงานเพื่อสังคมเพื่อแลกกับคะแนนหรือเกรดที่จะได้รับ โดยใช้คะแนนและการให้เกรดเป็นตัวหลอกล่อให้นักศึกษาทำหน้าที่บางอย่างที่มหาวิทยาลัยควรจะทำเองออกเงินเอง เช่น ป้ายห้องน้ำ การตกแต่งมหาวิทยาลัย ฯลฯ และยังสอนให้เด็กทำดีเอาหน้าเข้าหาสังคมแบบชั่วครั้งคราวเหมือนหุ่นยนต์ที่โดนป้อนคำสั่งทำไปก็แค่เพราะวิชานี้บังคับ ไม่ได้มีผลพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรตั้งคำถามได้ว่าการจะเป็นพลเมืองที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือพลเมืองดีตามนิยามของคนจัดตั้งวิชานี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องบังคับกันในระดับ “มหาวิทยาลัย” ?

แถมการบังคับดังกล่าวยังไม่ได้สร้างความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจิตสำนึกจริงๆว่าอะไร คือ ประชาธิปไตย แต่กลับเป็นการล้างสมองนักศึกษาด้วยชุดศีลธรรมแบบไทย ๆ นิยมลงไป ดังที่คุณแขก คำ ผกา ได้เขียนไว้ในคอลัมน์มติชนสุดสัปดาห์

“เพราะหากเมื่อไหร่ที่มหาวิทยาลัยคิดถึงการล้างสมองมากกว่าการทำหน้าที่แสวงหาปัญญาแล้วเมื่อนั้น อนาคตของเมืองไทยคงมืดมิดแตกดับ และพวกเราคงต้องทำใจที่จะอยู่กับความมืดมิดทางปัญญาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สุดท้ายนี้ขอไว้อาลัยให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ร่วมบรรจุความมืดมิดนี้ไว้แด่สังคมไทยผ่านหลักสูตรวิชาความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม[1]

ทำให้เห็นว่านอกจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะนิยมชมชอบกับระบบการบังคับท่องจำ พี่สั่งให้ทำอะไรก็ทำ อำนาจของมหาวิทยาลัยเองก็ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความมืดมิดทาง “ปัญญา” ให้แก่นักศึกษาเองอีกด้วย การเป็นคนดีแบบธรรมสาสตร์จะต้องถูกบังคับและประเมินเป็นตัวเลข A B C D F มันคือลักษณะของโครงสร้างทางอำนาจที่ทำให้ระบบคิดของมนุษย์ตายด้านสอนให้นักศึกษาเป็นหุ่นยนตร์

แม้กระทั่งการแต่งกายชุดนักศึกษาที่บรรดาห้องเชียร์ต่างๆของแต่ละคณะรณรงค์ บังคับให้น้องๆใส่กัน วิชาบังคับอย่างสหวิทยาการวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนในธรรมศาสตร์ต้องเรียนยัง “บังคับ” ให้ใส่ หากใครไม่ใส่จะไม่เช็คชื่อ มันช่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ “เสรีภาพที่ตายแล้ว” ของธรรมศาสตร์เสียจริงๆ วิชาที่สอนทุกคนให้คิดอย่างวิทยาศาสตร์แต่กลับเชื่อว่ามนุษย์ในสมัยก่อนเหาะเหินเดินอากาศได้ แล้วก็ใช้ระบบอำนาจนิยมบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา นี่ยิ่งสะท้อนความตกอับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคสายลมและแสงแดดที่หวังพึ่งอะไรไม่ค่อยจะได้เลย

และคำว่ามหาวิทยาลัยของธรรมศาสตร์ก็เป็นเพียงสถาบันการศึกษาถูกสร้างภาพให้เป็นสถานที่แห่งความดีงามเหมาะสม เต็มไปด้วยบุคคลที่ดีเป็นแบบอย่างให้แก่สังคม ซึ่งเป็นความเชื่อที่สังคมผลิตซ้ำกล่อมเกลากันมา เราจะไม่สามารถจินตนาการการรับรู้ความแตกต่างที่เราจะมีคนหน้าตาแปลก ๆ แต่งตัวแปลก ๆ คิดแปลก ๆ เกินกว่าที่ระบบได้นิยามและกำหนดบทบาทเอาไว้ได้ เพราะระบบของความรู้ในประวัติศาสตร์ถูกจำกัดไว้ให้เพียงแต่ชนชั้นนำเมื่อกาลเวลาผ่านไปการเข้าถึงความรู้ได้เข้าสู่ยุคที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้ามาแข่งขันกันอย่างเปิดกว้างอย่างตลาดวิชาของ มธก. แต่สังคมไทยยังมีจินตภาพของนักศึกษา ความเป็นมหาวิทยาลัยอย่างชนชั้นนำนิยม สังคมไทยยังตั้งความหวังไว้กับนักศึกษาจนลืมไปว่าตนเองก็สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ และนักศึกษาก็นิยมผยองตนว่าเป็นผู้ที่ดีมีความรู้ หรือคอยช่วยเหลือสังคมแบบทำดีเอาหน้าแบบวิชา TU100  หรือการทำดีในฐานะผู้โปรดสัตว์มากกว่าการทำด้วยความตั้งใจจริงอย่างบริสุทธิ์ใจและปราศจากการบังคับ (free-will) ดังนั้นการจะใช้ชื่อ มธก. แต่เดิมนั้นจึงน่าละอายอย่างยิ่ง

ท้ายที่สุดแล้วตรรกะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่ต่างจากการทำหน้าที่เป็น ตรรกะแบบตำรวจ (The Police)[2]  นั้นคือคอยควบคุมระบบสังคมด้วยการดักจับสิ่งที่ผิดแยกไปจากสิ่งที่โดนความเห็นพ้องต้องกันควบคุมจนทำให้กลุ่มคนที่แตกต่างกลายเป็นเพียงเศษซากของสังคมที่เหลือเดนทั้งที่การกระทำหรือพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้นั้นล้วนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้มาตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่าความเป็นสังคมได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับความเป็นมหาวิทยาลัย เพราะสังคมกำลังจะบอกกับเราว่า เรา ต้อง อยู่กันโดยให้เกียรติผู้อื่นด้วยการแต่งกายพฤติกรรมที่เหมาะสมตามลำดับต่ำสูงที่สังคมกำหนดให้ แต่เราไม่ได้อยู่กันโดยให้เกียรติความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันเลย

ขอไว้อาลัยให้กับการตายจากอย่างเอน็จอนาถของคำว่า วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ที่จะถึงด้วย

 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย




[1]  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 4-10 มีนาคม พ.ศ.2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594

[2]  Jacques Ranciére, Disagreement, chapter 2 อ้างใน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ความคิดทางการเมืองของฌาคส์ ร็องซิแยร์. น.28-30

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net