Skip to main content
sharethis

รู้จักกลุ่มบูหงารายารุ่นใหม่ จากนักศึกษาสู่นักกิจกรรมเพื่อสังคมชายแดนใต้ มุ่งยกระดับการศึกษา พัฒนาตาดีกาเพื่อพัฒนาคุณภาพคน เป้าหมายเพื่อสันติภาพ

ฮาซัน ยามาดีบุ – ทวีศักดิ์ ปิ

 

บูหงารายา เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งมีหลายสีแต่ไม่มีกลิ่น หากแต่บูหงารายาในที่นี้หมายถึง กลุ่มบูหงารายา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาหลายสถาบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551

นับเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในพื้นที่ในขณะนี้ ในฐานะที่เคยเป็นองค์กรแรกๆ ที่ทำงานด้านสื่อทางเลือกท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่ปัจจุบันบทบาทด้านสื่อได้ยุติลงไปแล้ว

ทุกวันนี้ เหล่านักกิจกรรมในนามกลุ่มบุหงารายารุ่นใหม่ กำลังมุ่งเน้นงานด้านการยกระดับการศึกษาของคนในพื้นที่ ในประเด็นที่ค่อนข้างท้าทาย เพื่อเตรียมรับกับสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 

กลุ่มบูหงารายารุ่นใหม่

นายฮาซัน บินมูฮำหมัดตอลา ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบูหงารายาคนปัจจุบัน เปิดเผยว่า กลุ่มบูหงารายาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2551 โดยการรวมกลุ่มของนักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

กลุ่มบูหงารายา ใช้ดอกชบาสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งหมายถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่ในขณะนั้น คำว่า “บูหงารายา” ถูกตีความว่าหมายถึง ดินแดนฟาฏอนีย์ จึงเป็นคำที่ไม่ค่อยมีใครต่อใครในพื้นที่กล้าพูดมากนัก จึงเป็นคำที่ค่อนข้างอ่อนไหว

การทำงานของกลุ่มบูหงารายารุ่นแรกๆ จะทำงานด้านสื่อ สิทธิเด็ก สตรีและการศึกษา นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อมางานด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีได้เลิกไปในปีพ.ศ.2553 เหลือบทบาทด้านการศึกษาเท่านั้น

สาเหตุที่ต้องหยุดงานด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีไป เพราะได้รับความกดดันหลายอย่าง ประกอบกับคนทำงานด้านสื่อในกลุ่มมีจำนวนน้อย รวมทั้งมีองค์กรด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่องค์กรด้านการศึกษายังมีน้อย

สาเหตุที่กลุ่มบุหงารายาเป็นที่รู้จักในพื้นที่ ต้องยอมรับว่ามาจากงานด้านสื่อ เพราะช่วยให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลความจริงผ่านเว็บไซต์และวารสารของกลุ่มบูหงารายา รวมกับกิจกรรมอื่นๆที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ การทำงานของกลุ่มบูหงารายา ก็พบกับอุปสรรค์มากมาย เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นหอพักซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของกลุ่ม รวมทั้งการถูกบล็อกเว็บไซต์ จนกระทั่งเว็บของสำนักสื่อบูหงารายาได้ปิดตัวลง


 

มุ่งภารกิจด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคน

นายฮาซัน เปิดเผยต่อไปว่า หลังจากกลุ่มบูหงารายา เริ่มเน้นเรื่องการศึกษา ทำให้ได้รับการตอบรับจากสังคมในพื้นที่ค่อนข้างดี เห็นได้จากศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือPERKASA ได้เชิญกลุ่มบูหงารายาไปร่วมงานด้วย

ฮาซัน เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนกิจกรรมของกลุ่มบูหงารายาปัจจุบัน เช่น การจัดโครงการยกระดับโรงเรียนตาดีกา และการจัดเวทีสาธารณะทางด้านการศึกษา โดยได้งบประมาณจากธนาคารโลก ผ่านมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

แนวทางในอนาคตของกลุ่มบูหงารายา มุ่งไปที่การวางระบบโรงเรียนตาดีกาให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยพยายามจะยกระดับเป็นเหมือนโรงเรียนประถมศึกษาและได้วุฒิการศึกษาด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

เหตุที่ต้องทำ เพราะรัฐไม่มีนโยบายที่ดีพอและเหมาะสมกับพื้นที่ แต่การยกระดับตาดีนั้นกลุ่มบูหงารายาต้องการให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง ขณะนี้มีโรงเรียนตาดีกานำร่องที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อาจจะมีลักษณะโรงเรียนเอกชนที่สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนาหลายแห่งในพื้นที่ แต่เป็นการยกระดับจากโรงเรียนตาดีกาที่ชุมชนเป็นเจ้าของ

“ลักษณะการสอนคือ จะมีการสอนด้วยภาษามลายูตามปกติ แต่มีการเพิ่มวิชาเหมือนกับที่สอนอยู่ในโรงเรียนของรัฐเข้าไปด้วย เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เป็นการนำหลักสูตรระดับประถมศึกษาเข้าไปในโรงเรียนตาดีกา”

ผลที่ตามมาคือ กลับทำให้เด็กนักเรียนมีผลการเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐดีขึ้น เพราะมีผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่า เด็กจะเรียนหนังสือได้ดีถ้าได้เรียนด้วยภาษาแม่ของตัวเอง เพราะจะเข้าใจวิชาเรียนได้ดี จากนั้นเมื่อไปเรียนด้วยภาษาอื่นแล้วก็จะทำให้เรียนได้ดีขึ้นไปด้วย

ฮาซัน ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มบูหงารายาคือสันติภาพ แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนของเราไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ดังนั้น ภารกิจของเราคือทำให้ประชาชนมีการศึกษาและช่วยเหลือตัวเองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net