Skip to main content
sharethis

ทักษะด้านภาษาอังกฤษของแรงงานไทยต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

จ็อบสตรีทดอทคอมเผยผลคะแนนเฉลี่ยและจัดอันดับทักษะด้านภาษาอังกฤษของคน ทำงาน 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน จากจำนวน 1,540,785 คน ที่ทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรม JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) แบบประเมินความเข้าใจด้านภาษาอังกฤษจำนวน 40 ข้อ ซึ่งเป็นชุดคำถามที่หมุนเวียนกันไปจากคำถามกว่า 1,000 ข้อ พบว่า ประเทศที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ สิงคโปร์ ในขณะที่แรงงานไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนตามสายอาชีพภายในประเทศไทย พบว่า สายอาชีพที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าสายอาชีพอื่นๆ ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์/บรรณาธิการ, นักการตลาด/พัฒนาธุรกิจ และเลขานุการผู้บริหาร

ผลคะแนนเฉลี่ยดังกล่าวได้มาจากกลุ่มผู้หางานจาก 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย ในทุกระดับตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับพนักงาน (Entry and Executive), พนักงานอาวุโส (Senior Executive), ผู้จัดการ (Manager) และผู้จัดการอาวุโส (Senior Manager) พบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ 81% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ 73%, มาเลเซีย 72%, อินโดนีเซีย 59% ตามลำดับ และไทยมีคะแนนเฉลี่ยเป็นลำดับสุดท้าย คือ 55% และหากมีการจำแนกคะแนนเฉลี่ยตามกลุ่มระดับตำแหน่งงานจะพบว่า ระดับพนักงานประสบการณ์ 0 - 3 ปี (Entry and Executive Level) เป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มระดับตำแหน่งงานอื่นๆ ในประเทศตัวเอง

นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "จากผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดทักษะการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ ของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นตัวแปรสำคัญที่องค์กรใช้ในการพิจารณาคัดเลือก บุคลากรเข้าทำงานในปัจจุบัน ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีย่อมมีโอกาสในการได้งานมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ"

จากผลคะแนนของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยที่ทำแบบทดสอบยังพบความสอดคล้อง กันระหว่างระดับตำแหน่งงานและระดับคะแนนเฉลี่ย กล่าวคือ ผู้ที่มีระดับตำแหน่งสูงจะมีคะแนนเฉลี่ยด้านทักษะภาษาอังกฤษสูงตามไปด้วย โดยพบว่า กลุ่มพนักงานทั่วไป มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 53% ในขณะที่กลุ่มพนักงานอาวุโส มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57%, กลุ่มผู้จัดการ 60% และกลุ่มผู้จัดการอาวุโส 64% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกคะแนนเฉลี่ยการวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทย ตามสายอาชีพ จะพบว่า 3 สายอาชีพที่ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด คือ 63% ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์/บรรณาธิการ, นักการตลาด/พัฒนาธุรกิจ และเลขานุการผู้บริหาร ในขณะที่สายอาชีพที่มีทักษะอ่อนที่สุด คือ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีผลคะแนนเฉลี่ยเพียง 17%

"ผู้หางานหรือคนทำงานทั่วไปที่เข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษในการทำงานผ่านแบบทดสอบ JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) จะทราบผลคะแนนของตัวเอง โดยการแบ่งการวัดผลออกเป็น 4 ทักษะ ได้แก่ คำศัพท์ (Vocabulary), การสนทนา (Conversation), ไวยากรณ์ (Grammar) และความเข้าใจ (Comprehension) ซึ่งผู้หางานสามารถทราบว่าทักษะใดที่เป็นจุดแข็งและทักษะใดที่เป็นจุดอ่อน เพื่อนำไปฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป

นอกจากนี้ระบบยังแจ้งอันดับคะแนนโดยเปรียบเทียบกับผลคะแนนของผู้ที่อยู่ ในสายอาชีพเดียวกัน, ผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดภายในประเทศที่ตนอยู่ และผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดในฐานข้อมูลกว่า 1.5 ล้านคน จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย) โดยผู้หางานจะทราบว่า ผลคะแนนที่ตนเองได้นั้นจัดอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบใน กลุ่มดังกล่าว" นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้สนใจสามารถเข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษดังกล่าว ได้ที่ www.jobstreet.co.th/english

(จ๊อบสตรีท, 11-6-2556)

 

รวบ 2 นายหน้าลวง 50 คนไทยค้าแรงงานญี่ปุ่น

พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. แถลงการจับกุม นายนพดล เทียนทิพย์จรัส อายุ 68 ปี และ นายสาธิต ปิ่นทอง อายุ 54 ปี นายหน้าหลอกลวงแรงงานไปประเทศญี่ปุ่น หลังจากผู้เสียหายร่วม 50 คน เข้าร้องเรียนกับตำรวจ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า ถูกผู้ต้องหาทั้งสอง หลอกลวงว่าสามารถพาแรงงานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในตำแหน่งพนักงานโรงงาน ก่อสร้าง การเกษตร และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคนละ 50,000 - 60,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดเดินทาง ผู้ต้องหากลับขอเลื่อนการเดินทางมาโดยตลอด จนกระทั่งหลบหนีและติดต่อไม่ได้ จนพนักงานสอบสวนขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสอง และติดตามจับกุมตัวไว้ได้ ซึ่งในการแถลงข่าววันนี้ มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าชี้ตัว ผู้ต้องหาทั้งสองด้วย

จากการตรวจสอบประวัติพบว่า นายนพดล มีประวัติการกระทำความผิดหลอกลวงแรงงานไปต่างประเทศ และฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่ปี 2539 ในพื้นที่ สน.ลาดพร้าว สน.บางชัน และ สน.ทองหล่อ

(ไอเอ็นเอ็น, 12-6-2556)

 

ก.แรงงาน เตรียมเสนอบูรณาการ “กองทุนเงินออมแห่งชาติ- สปส.” เข้า ครม.

กรุงเทพฯ 12 มิ.ย.- นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 40 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มิถุนาคมนี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่...) พ.ศ...ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบการเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในมาตรา 40 แก่แรงงานอกระบบ (อาชีพอิสระ) ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอย่างเดียว (แบบ กอช.) เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพของผู้ประกันตนอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดให้โอนงาน กอช.และบุคลากรที่มี 9 คน ให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ที่มีความพร้อมทั้งด้านสำนักงาน บุคลากรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่ และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กอช.ในระยะยาว

สำหรับกรณีสิทธิประโยชน์มาตรา40 (ทางเลือกที่ 3) ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น โดยคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องมีอายุ 15-60 ปี แต่ปีแรกจะออกบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60ปี สามารถเข้าสู่ระบบการคุ้มครองได้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 100บาทต่อเดือน และรัฐบาลจ่ายสมทบให้ 100 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ จากการประมาณการว่าภายใน 5 ปี (2557-2561) จะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก จำนวน 21.4 ล้านคน และจะรัฐบาลจะต้องส่งเงินอุดหนุนเข้ากองทุนจำนวน 61,000 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 12-6-2556)

 

ปี 56 ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 3.8 แสนคน

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยถึงผลการศึกษาภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมว่า ในปี 56 ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 380,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  43,520 คน  กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 36,606 คน  กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร  30,825 คน  และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 25,600 คน เป็นต้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น เร่งปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีหรือนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน หรือ การจ้างเอาท์ซอร์สให้นำงานไปจ้างเกษตรกรที่ว่างจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวในต่าง จังหวัด
              
ขณะที่ภาครัฐได้เร่งจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อวางระบบการศึกษาและการอบรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

“เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่าง สศอ.  สถาบันเครือข่ายและสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ชี้ว่าแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังมีเพิ่มต่อเนื่อง โดยในปี 56 ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5.85 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ขาดแคลนอยู่ 380,000 คน  ส่วนในปี 57 ความต้องการแรงงานอยู่ที่ 5.91 ล้านคน คาดว่าจะขาดแคลน 395,000 คน โดยแรงงานที่ขาดแคลนพบว่า 95% เป็นแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี”

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานมากมาจาก อัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้มีปริมาณแรงงานในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ  แต่ความต้องการแรงงานกลับเพิ่มขึ้นตามอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของการขาดแคลนแรงงานระดับล่างนั้นผู้ประกอบการได้แก้ปัญหาโดยการ ใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนแต่ก็ยังขาดแคลนอยู่  ส่วนแรงงานฝีมือนั้นค่อนข้างที่จะเข้ามาทดแทนได้ลำบาก ดังนั้น สศอ. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งฝึกอบรมให้ความรู้กับช่างฝีมือด้านเทคนิค อย่างต่อเนื่อง

(เดลินิวส์, 13-6-2556)

 

ปคม.รวบหนุ่มใหญ่ ลวงแรงงานลงเรือประมง

พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. แถลงข่าวจับกุม นายสายัน นิลวาส อายุ 55 ปี ผู้ต้องหาร่วมกันค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน โดยสามารถจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 26/3 หมู่ 4 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ต้องหาร่วมกับพวกหลอกลวงแรงงานไปทำงานบนเรือประมงในอ่าวไทย เหตุเกิดที่นิคมอุตสาหกรรม อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ต่อเนื่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2552 - 28 ก.พ. 2554 โดยผู้เสียหายถูกไต้ก๋ง ทราบเพียงว่าชื่อ นายมล บังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืน หากไม่ยินยอมก็จะทำร้ายร่างกาย จนกระทั่งเรือประมงได้เข้าไปในน่านน้ำประเทศมาเลเซีย แล้วถูกตรวจสอบ แรงงานบนเรือจึงได้รับการช่วยเหลือ และเข้าแจ้งความไว้ที่ บก.ปคม. ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติศาลออกหมายจับ จนสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้

จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเพื่อนอีกคนเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่วยขับรถพาแรงงาน ส่งที่ท่าเรือปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะได้รับเงินค่าจ้าง 5,000 บาท โดยไม่รู้ว่าเหยื่อถูกหลอกลวงมา และถูกส่งไปทำงานในเรือประมงดังกล่าว

(ไอเอ็นเอ็น, 13-6-2556)

 

ก.แรงงานแจงโอนกองทุน กอช.ให้ สปส.ดูแล

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน(รง.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ครม.เห็นชอบโอนงานกองทุนการออมแห่ง ชาติ (กอช.) และบุคลากรมาให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการพร้อมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนฯให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในมาตรา 40 แก่แรงงานอกระบบ (อาชีพอิสระ) ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ว่า เรื่องนี้เป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดให้กับแรงงาน นอกระบบ ซึ่งไม่ใช่การปฏิเสธนโยบายของพรรคการเมืองอื่นตามที่มีการวิจารณ์ แม้ว่าพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 จะเกิดขึ้นในสมัยที่ไม่ใช่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ดีหรือมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เราก็ต้องกล้าดำเนินงานให้ดีขึ้นเพื่อไม่เป็นปัญหาในอนาคต

ส่วนการบริหารงานของกองทุนกอช.ภายหลังการโอนงานมาให้สปส.ว่าให้ใช้ ทรัพยากรของสปส.ในด้านบุคลากร สถานที่และระบบเทคโนโลยีเพื่อประหยัดงบในภาพรวมและทำให้เกิดความสะดวกแก่ ประชาชนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ดังนี้ 1.ให้มีการรับสมัครผู้ประกันตนและรับเงินผ่านช่องทางของสปส.ที่มีอยู่ทุก จังหวัดทั่วประเทศ 2.ในการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สปส.ที่ปฏิบัติงานรองรับมาตรา 40 อยู่แล้วมาสานงาน กอช.ด้วย 3.แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สปส.มีอยู่เพื่อรองรับการ ดำเนินงาน และ4.โอนย้ายพนักงานและลูกจ้างของ กอช.มาเป็นบุคลากร สปส. ทั้งนี้ สำหรับการบริหารเงินกองทุนกอช.เห็นควรให้สปส.บริหารกองทุนทั้งหมดเพราะ ปัจจุบันมีผู้แทนกระทรวงการคลังอยู่ในคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน ประกันสังคมอยู่แล้ว ส่วนงบประมาณคงเหลือที่ กอช.มีอยู่จำนวน 677 ล้านบาทต้องส่งคืนคลังและสปส.จะเสนอของบประมาณตามขั้นตอนปกติต่อไป

"การที่สปส.จะเปิดทางเลือกมาตรา 40 (3 ) โดยให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะกรณีชราภาพ ซึ่งได้รับเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปีนั้นไม่เป็นปัญหาในอนาคตต่อกองทุนสปส. เพราะไม่มีการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุนเหมือนเช่นกอช.จะดำเนินการให้มี การค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่าเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารกองทุนละงบประมาณได้"นายอนุสรณ์ กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 13-6-2556)

 

จ่อชงครม.เพิ่มสิทธิ์แรงงานนอกระบบ

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. กระทรวงแรงงานเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติหลักการพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 (มาตรา 40) สำหรับแรงงานนอกระบบ แผน 3 เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 2 แผน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้ความคุ้มครองกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนอายุระหว่าง 15-60 ปี จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และรัฐบาลสมทบอีกเดือนละ 100 บาท จนครบอายุ 60 ปี จะได้รับเงินคืนใน รูปแบบบำเหน็จ หรือบำนาญ ซึ่งเมื่อผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ กระทรวงแรงงานพร้อมรับสมัครผู้ที่สนใจ และดำเนินการได้ทันที

ปัจจุบันคนไทยวัยทำงานมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 11 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานอิสระปัจจุบันเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อยู่ที่ 1.4 ล้านคน ทั้งในแผน 1 และแผน 2 มั่นใจว่าหลังจากเปิดรับสมัครแผน 3 จะทำให้ตัวเลขผู้ประกันตน เพิ่มเป็น 2-2.5 ล้านคน เพราะผู้ที่ทำแผน 1 และแผน 2 ไว้แล้วสามารถมาใช้สิทธิ์สมัครแผน 3 ได้ทันที หรือจะเลือกประกันตนในแผน 3 แบบเดียวก็ได้อีกด้วย

ส่วนกรณีที่การทำหน้าที่ของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีความใกล้เคียงกองทุนประกันสังคม เรื่องสวัสดิการด้านการชราภาพ แรงงานนอกระบบ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน จึงได้หาแนวทางในการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน โดยได้นำเสนอให้โอนงานของ กอช. มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่มีความพร้อมด้านสำนักงานที่มีอยู่กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ บุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

(ข่าวสด, 14-6-2556)

 

"โต้ง" สั่งยุบ กอช.

รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เห็นชอบเสนอเรื่องการควบรวมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับกองทุนประกันสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ โดยจะมีการแก้ไขกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อให้นำ หลักการ กอช.เข้าไปอยู่ด้วย โดยก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ที่ผลักดัน กอช. ได้ยื่นเรื่องกับประธานวุฒิสมาชิก ให้ถอดถอนนายกิตติรัตน์ ออกจากตำแหน่ง เพราะทำผิดกฎหมายรัฐ ธรรมนูญมาตรา 170 ไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมาย กอช. ที่ให้มีการรับสมาชิกภายใน 1 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

(ข่าวสด, 16-6-2556)

 

เปิดข้อมูลพบเยาวชนว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่กว่า 5 เท่า

 กรุงเทพฯ 17 มิ.ย.- องค์กรแรงงานระหว่างประเทศเผยข้อมูลเยาวชนว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่ 5.3 เท่า พบเด็กตกงาน 36 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนปัญหาหลักสูตรการศึกษา ไม่สอดคล้องอาชีพแห่งความเป็นจริงที่ต้องมีทักษะและการปฏิบัติ
 
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เยาวชนกับการจ้างงาน” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกมาเป็นผู้นำเสนอข้อมูล โดย นายมัตทิเยอ คอนยัก ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า พบข้อเท็จจริงของเยาวชนในโลก 73 ล้านคน เป็นคนตกงาน 36 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 5.3 เท่า และไทยมีสถานประกอบการนอกระบบขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้มีโอกาสถูกจ้างให้ทำงานที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ ไม่มีกลไกปกป้องทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงถูกบังคับให้ทำงานนอกระบบ และหลายคนทำงานแลกกับรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงชีวิต ดังนั้นความท้าทายของปัญหาไม่ใช่แค่การสร้างงาน  แต่ยังรวมถึงงานที่มีศักดิ์ศรีและค่าตอบแทนที่เหมาะสม
 
“สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือศูนย์ฝึกอาชีพไม่สอดคล้องความต้องการของตำแหน่งงานในตลาด  ที่ผ่านมา พบว่ามีเยาวชนผู้ด้อยโอกาสอีกจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงหลักสูตรที่สร้างเสริมทักษะ ทั้งยังขาดการอบรมให้ความรู้และแนะแนวอาชีพในรูปแบบต่าง ๆ บางครั้งอาจมีทักษะ แต่ไม่ได้นำมาใช้กับการทำงานของตน  ขณะเดียวกันเยาวชนจำนวนมากขวนขวายเพื่อให้ได้ปริญญา หรืออนุปริญญา  แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดแรงงานหรือผู้ประกอบการต้องการ  หนทางแก้ไขคือการส่งเสริมให้เยาวชนสั่งสมประสบการณ์การทำงานไว้แต่เนิ่น ๆ  เช่น  ผ่านโครงการฝึกอบรม หรือการฝึกงาน  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ สถานศึกษาควรมีหลักสูตรที่สอนให้ทราบถึงการเป็นผู้ประกอบการเป็นอย่างไร ไม่ใช่การสอนให้เขารู้แค่การประกอบอาชีพ เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานเท่านั้น พร้อมทั้งปลูกฝังให้ตระหนักถึงสิทธิของตนในที่ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูก เอารัดเอาเปรียบในทุกรูปแบบ" ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว

(สำนักข่าวไทย, 17-6-2556)

 

ไอโอเอ็มชื่นชมระบบดูแลสุขภาพต่างชาติ-ครอบครัวของรัฐบาลไทย

17 มิ.ย.-รมว.สาธารณสุข เผยไอโอเอ็มชื่นชมระบบการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างชาติและครอบครัวของรัฐบาลไทย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการดูแลสุขภาพแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้แรงงานในประเทศ ไทยว่า สธ. มีนโยบายให้แรงงานต่างชาติ สัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว ต้องผ่านการตรวจสุขภาพทุกคน โดยได้ให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสุขภาพของแรงงาน และนำเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง คือประกันสังคม หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่างชาติที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งบุตรที่อายุไม่เกิน 15 ปี และผู้ติดตามทุกคนจะต้องตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพกับ สธ. ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจะได้รับสิทธิการดูแลทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม ป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนต่างๆ การส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

มาตรการดูแลสุขภาพต่างชาติที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยได้รับความสนใจจาก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือไอโอเอ็ม (International Organization for Migration : IOM) เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงเกิดโรคทั้งกลุ่มคนต่างชาติและคนไทยแล้ว การมีหลักประกันการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและ ความมั่นคงในระยะยาว นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศต้นทางที่เป็นเพื่อนบ้าน

(สำนักข่าวไทย, 17-6-2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net