Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักศึกษาค้าน มข.ออกนอกระบบ เคลื่อนไหวค้านมติ ครม.4 มิ.ย. ส่งหนังสือถึงสำนักนายกฯ ให้เพิกถอนมติครม.ที่เห็นชอบ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... ยันผู้บริหาร มข.ไม่เคยทำประชาพิจารณ์ภายในมหาวิทยาลัย หลังเคยถูกถอนร่างกฎหมายมาแล้ว

<--break->
วันนี้ (18 มิ.ย.56) เวลา 13.30 น.หน้าที่ทำการไปรษณีย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ นำโดยนายศักรินทร์ อ้องาม ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาฯ ส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านทางไปรษณีย์ ร้องทบทวนการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ และขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.56 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ ‘มหาวิทยาลัยนอกระบบ’
 
นายศักรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.มหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการจัดทำประชาคมสอบถามความคิดเห็น และให้ข้อมูลแก่นักศึกษา หรือภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
“วันนี้เราจึงมาเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เพิกถอนมติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ออกนอกระบบ” นายศักรินทร์ กล่าว
 
นายศักรินทร์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “การที่จะมีการแปรรูปสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นสถาบันที่จำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศชาติ ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในชาติก่อน”
 
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือเครือข่ายนักศึกษาฯ มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1.ขอให้ทบทวนการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เนื่องจากยังมีนักศึกษาคัดค้านมาโดยตลอดและขอเหตุผลที่จะนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
2.ขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่ได้ทำความเข้าใจและยังไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นรวมถึงการประชาคมของมหาวิทยาลัย
 
 
 
มติ ครม. 4 มิถุนายน 2556
 
ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
 
 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
 
1) กำหนดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
 
2) กำหนดวัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน หลักเกณฑ์ การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนงาน การรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
 
3) กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้จากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย
 
4) กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย  ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งและคณาจารย์ประจำตามที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
5) กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์  สภาพนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินมหาวิทยาลัย คณะกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรมประจำมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการอื่นที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยให้องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการ อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
 
6) กำหนดให้มีคณะกรรมการการบริหารมหาวิทยาลัย  ประกอบด้วยอธิการบดีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งและให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
7) กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย  กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพันจากตำแหน่ง คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
8) กำหนดให้มหาวิทยาลัยอาจจัดตั้งวิทยาเขต ซึ่งทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้
 
9) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
 
10) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
 
11) กำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สินงบประมาณฯ การดำรงตำแหน่ง และคณะกรรมการต่างๆ  ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย  ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net