Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

David Krieger  ประธานองค์กร “สันติภาพยุคนิวเคลียร์”  (Nuclear Age Peace Foundation) เล่าเรื่องที่อดีตประธานาธิบดีของอเมริกันคนที่ 35 คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John  F. Kennedy) เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพในบทความชื่อ John F. Kennedy Speaks of Peace” ไว้อย่างน่าฟัง

เคนเนดี้ได้ให้ความหมายของการสร้างสันติภาพที่แท้จริงไว้ว่า “ หมายถึงการทำให้ชีวิตบนโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน  เช่น ด้านสิทธิและความเท่าเทียม รวมถึงในด้านเศรษฐกิจ (เขาใช้คำว่า worth living- ดูในhttp://www.wagingpeace.org/articles/db_article.php?article_id=169) ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเจริญเติบโต(พัฒนา)ให้เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก เยาวชน และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม”

เคนเนดี้ กล่าวถึงเรื่องสันติภาพนี้ไว้  6 เดือนก่อนที่จะถูกฆาตกรรมในปี 1963 ซึ่งน่าจะเป็นความหมายของ “สันติภาพสากล” ไม่ใช่สันติภาพตามแบบฉบับท้องถิ่น(ประเทศ) ใดประเทศหนึ่ง ที่มักอ้างเรื่อง “อัตลักษณ์ของประเทศ” กันแบบเอาสีข้างเข้าถู  เหมือนผู้คนในบางประเทศ เช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ที่หมายถึงเรื่องสากล หรือเรื่องที่ทุกคนยอมรับว่า มีความสำคัญสำหรับมนุษยชาติทุกคน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเผ่าพันธุ์ไหน นับถือลัทธิศาสนาอะไร หรือมีประเพณีวัฒนธรรมอย่างไร

และเรื่องของสันติภาพก็สมควรเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง คือ หากสังคมไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชนแล้ว สันติภาพก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆในสังคม ไม่วาจะเรื่องใดๆ ก็ตามเรามักมองหาสันติภาพ แต่ปัญหาคือ ความเข้าใจต่อกระบวนการด้านสันติภาพว่า ได้มองในแง่ของ “สันติภาพสากล”กันหรือไม่ เพราะหากไม่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดสันติภาพได้ ทั้งการมองสันติภาพด้วยความคิดเห็นแคบดังกล่าว การสร้างสันติภาพ(สันติวิธี)ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้งไปเท่านั้นเอง ไม่สามารถก่อให้เกิดสันติภาพตามที่ต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงว่าสังคมนั้นก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ต่อไป

แน่นอนว่า สันติภาพ เป็นคำสวยหรู และเป็นสิ่งที่ทุกสังคมคาดหวัง แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่มูลเหตุปัจจัย ซึ่งมูลเหตุปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องมองให้รอบด้านอย่างเข้าใจความหมายของ “องคาพยพสันติภาพ” สันติภาพ คงไม่ได้เกิดจากการใช้วาทกรรมที่สวยหรู แต่ย่อมเกิดจากการลงมือปฏิบัติอย่างเข้าใจถึงปัญหา โดยเฉพาะต้นตอ(สมุฏฐาน)ของปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สันติขึ้นในสังคมนั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ “นักวางแผนสันติภาพ” ทั้งหลาย ต้องไตร่ตรองใคร่ครวญดูให้ดีๆ  มากกว่าการใช้เพียงวาทกรรมเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม

กระนั้น ก็มีข้อสงสัยเกิดขึ้นมาเช่นกันว่า ในบรรดานักวางแผนสันติภาพนี้ น่าจะมีคนที่ทำการ(ด้านสันติภาพ)อยู่ 2 ส่วน คือ  กลุ่มคนที่ถือว่า สันติภาพเป็นงานและเงิน กับ กลุ่มคนที่ถือว่า สันติภาพ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมโดยแท้จริง          

เรามักเห็นนักสร้างสันติภาพ ในกลุ่มแรก ได้ไม่ยากเย็นนัก แต่สำหรับนักสร้างสันติภาพในกลุ่มหลัง หาได้ไม่ง่าย เพราะต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะและพิสูจน์กันนานพอสมควร

สิ่งที่นักสร้างสันติภาพในกลุ่มแรกโดยส่วนใหญ่ทำ ก็คือ  วาทกรรมที่เป็นทั้งคำพูดและลายลักษณ์อักษร ในเชิงหน้าที่การงานและผลตอบแทนด้านการเงิน(รวมถึงผลตอบแทนด้านชื่อเสียง) สิ่งที่พวกเขาทำเสมือนหนึ่งเป็นการคิดค้นหาแนวทางของการสร้างสันติภาพ(เช่น  การปรองดอง เป็นต้น)  หากแต่กระบวนสร้างการสันติภาพที่นำเสนอ เป็นการสนองต่อผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น การนำเสนอกระบวนการสร้างสันติภาพแล้วประเทศหรือกลุ่มผู้นำเสนอได้ประโยชน์หรือมีประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์เรื่องใดก็ตาม ไม่รวมถึงผลตอบแทน (ค่าจ้าง) เพื่อ “แผนการสันติภาพ”ที่คนกลุ่มนี้จะได้รับ เช่น นักการเมือง  หรือนักวิชาการ บางกลุ่มที่ทำงานเรื่องนี้

เราจะเห็นว่า มีงานเชิงวาทกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ(ปรองดองก็ใช่) ออกมาจำนวนมากมายในช่วงที่ผ่านมา และในงานจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้ แทบไม่ต่างจากกองขยะอันมหึมา ,เราลงทุนไปไม่ใช่น้อยกับงานเหล่านี้ ที่ต่อมาแปรสภาพเป็นกองขยะสะสมพะเนินเทินทึก สะสม และใช้ประโยชน์อะไรแทบไม่ค่อยจะได้ นอกเหนือไปจากคำพูดอันสวยหรูเท่านั้น

ส่วนนักสร้างสันติภาพในกลุ่มที่สอง เป็นพวกที่อุทิศตัว อย่างที่เห็นและรู้จักกันกันดี เช่น มหาตมะคานธี(อินเดีย)  ,เนลสัน แมนเดลา(แอฟริกาใต้)  เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นตำนานของนักสร้างสันติภาพ เป็นผู้ก่อให้เกิดแนวคิดสันติวิธี  ที่เป็นการค้นพบจากประสบการณ์จริงในชีวิตและยังคงสามารถนำวิธีการที่ท่านเหล่านี้เคยใช้ มาประยุกต์ใช้แม้กระทั่งกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

เพียงแต่ในปัจจุบัน เราหานักสร้างสันติภาพแบบนี้ได้ยากเต็มที ขณะที่เราหาพวก “มีอาชีพสร้างสันติภาพ”ได้ไม่ยาก

ในแง่ของกระบวนการสร้างสันติภาพ มีวาทกรรมทำนอง “ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก” คือ พูดอีกก็ถูกอีก อยู่มาก เช่น “เราต้องใช้ธรรมะในการสร้างสันติภาพ” , “เราต้องใช้การปรองดองสามัคคีสร้างสันติภาพ” , “จงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ” เป็นต้น  ซึ่งคำพูดเหล่านี้ไม่ได้ผิดอะไร แต่ในเชิงวิธีการลึกๆในรายละเอียดของการสร้างสันติภาพแล้ว น่าจะมีอะไรก็ตามที่สามารถมองเห็นได้ว่า สันติภาพสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ จากความสามารถเข้าถึงหัวอกหัวใจของคนในสังคมที่เป็นคู่ขัดแย้ง (เช่น ระหว่างรัฐบาล กับประชาชน , ระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ  ระหว่างความคิดเชิงอุดมการณ์ต่างๆ)

พูดง่ายๆ ก็คือ ขอรายละเอียดด้านวิธีการสร้างสันติภาพให้มากกว่า “วิธีการ(เล่นคำ)ปรัชญาสันติภาพ”   

การพูดเชิงปรัชญา “ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก” ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียหาย แต่สันติภาพ ไม่เพียงไม่สามารถสร้างจากวาทกรรมเท่านั้นแล้ว สันติภาพที่เป็นสากลยังต้องสร้างด้วยการปฏิบัติในชีวิตจริงหรือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  ซึ่งหากนักสร้างสันติภาพไม่มีประสบการณ์ก็เกรงว่า จะเป็น “การอนุมานสันติภาพ” ที่ผิดพลาด

ถามว่า มีกี่ครั้งที่นักสันติวิธีเหล่านี้ ได้ลงไปในพื้นที่ขัดแย้ง ศึกษาด้วยการปฏิบัติตนให้ความช่วยเหลือและศึกษาข้อมูลในพื้นที่จริง จนกระทั่งรู้ถึงแก่นแท้ของปัญหา ก่อนนำมาสู่วิธีการสร้างสันติภาพในเชิงที่เป็นรูปธรรมรายละเอียด มากกว่าการหาข้อมูลจากสื่อข้างนอกและมัวสาละวนปั้นคำพูดสันติภาพอันไพเราะเพราะพริ้งให้คนนอกพื้นที่ขัดแย้งฟัง (หากพูดถึงเมืองไทย ขอให้ดูตัวอย่างพื้นที่ขัดแย้งเช่น  3 จังหวัดชายแดนใต้ เปรียบเทียบกับเมืองนอกพื้นที่ขัดแย้งอย่างกรุงเทพ)

ดังการลงพื้นที่จริงที่อินเดียค่อนชีวิตของแม่ชีเทเรซ่า (Mother Teresa of Calcutta) ซึ่งในที่สุดเธอก็ได้ความจริงเกี่ยวกับความหมายของสันติภาพแบบง่ายๆว่า คือการกลับไปบ้านของแต่ละคนและทำให้ครอบครัวมีความสุข หรือการรักครอบครัว(“Go home and love your family”- http://en.wikipedia.org/wiki/Mother_Teresa) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม่ชีเทเรซ่า มองว่าครอบครัวเป็นแหล่งกำเนิดของสันติภาพโดยรวม การสร้างสันติภาพต้องมาจากครอบครัวที่เข้มแข็ง เธอไม่ได้ยกหลัก  ศาสนธรรมธรรมนำหน้ามาก่อนเสียด้วยซ้ำ เพราะเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ ส่วนหลักศาสนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆก็อยู่รวมในการปฏิบัติเพื่อความสุขของครอบครัวนั้นแล้ว ,คำพูดของแม่ชีเทเรซ่า จึงไม่อาจถือว่าเป็นวาทกรรมแค่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากปฏิบัติเพื่อสันติภาพอย่างเอาจริงเอาจังตลอดชีวิตของเธอ จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนสากล

ที่เมืองไทย เรามักได้ยินคำเหล่านี้อยู่เสมอ เช่น คำพูดที่ว่า “สิทธิมนุษยชนแบบไทย” , “สันติภาพแบบไทย” เพื่อทำให้มองดูได้ว่า เราเป็นเอกเทศ(ที่ชอบอ้างกันเสมอ เช่น “อย่างน้อยก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร”) เราเป็นประเทศที่มีอัตลักษณ์ของเรา ดังนั้นคนชาติอื่นจงอย่าได้มายุ่งกับประเทศของเรา  แต่เราลืมไปว่า ทั้งสิทธิมนุษยชนและสันติภาพเป็นเรื่องสากล เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั่วโลกทุกชาติศาสนา ผู้มีหัวอกหัวใจ มีความสุข มีความเจ็บปวด เหมือนกัน

 จึงไม่แปลกด้วยซ้ำ หากจะพูดถึงขนาดว่า สันติภาพจะเกิดมีได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับเหตุปลาทูราคาแพง หรือราคาถูก , เพราะสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนพลเมืองยังมีปัญหาด้านปากท้อง หรือมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งก็เป็นไปตามที่อดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้เคยกล่าวไว้

เพียงแต่ไม่ทราบว่า ท่านผู้มีอาชีพสร้างสันติภาพทั้งหลาย ที่สถิตอยู่บนหอคอยจะคำนึงถึงกันบ้างหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net