Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สองสามวันก่อนได้มีโอกาส skype คุยกับพ่อสารทุกข์สุขดิบกันตามประสาพ่อลูกที่อยู่ห่างไกลกัน พ่อเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้กำลังไถ่ที่เพื่อเตรียมปลูกต้นยางอ่อนรอบใหม่ ในอำเภอรือเสาะออก จังหวัดนราธิวาส ที่ผ่านมาได้ทำไปแล้วรอบนึง เหลืออีกรอบนึงที่จะต้องลงใบจักรถี่ขึ้น เพื่อทำให้ดินร่วนซุย ระหว่างที่คุยกัน พ่อเล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้นว่า มีเด็กๆ ที่อยู่แถวนั้นชี้ให้ดูรอยโคลนที่ติดอยู่กับต้นยางเก่า มีขนาดสูงเกือบเท่าตัวคน เด็กๆ บอกว่า เป็นรอยโคลนของหมูป่าที่มาหากินอยู่บริเวณแถวนี้ คนแถวนี้ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่รู้ว่าตัวใหญ่มาก และไม่เคยเห็นหมูป่าขนาดใหญ่แบบนี้มานานมากแล้ว

สิ่งที่พ่อกังวลคือ ตอนนี้กำลังลงต้นยางอ่อน ก็กลัวว่าหมูป่าจะมากินต้นยางอ่อน ต้องหาวิธีจัดการโดยเพิ่มตาข่ายกั้นรอบบริเวณ ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่า

ฉันก็เลยคุยกับพ่อว่า ทำไมไม่ว่าจ้างคนไทยพุทธแถวนั้นให้มาช่วยจัดการ แต่ก็ลืมไปว่าตั้งแต่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงอันดับสองรองจากตำบลบันนังสตา จ.ยะลา[1] และคนไทยพุทธหลายคนรู้สึกว่าตนเองเป็นเป้าของความรุนแรง และหลายคนก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ได้อพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่นแล้วหลายครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์ของคนไทยพุทธและคนมุสลิมในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เริ่มห่างหายกันไปเรื่อยๆ พอๆ กับกลุ่มคนไทยพุทธที่ค่อยๆ หายไปจากพื้นที่

คุณอับดุลเลาะห์ ลออแมน[2] นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชายแดนใต้ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เคยเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์และความเอื้ออาทรระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิมว่า ส่วนใหญ่มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำสวน เช่น สวนผักหรือสวนผลไม้ ส่วนคนไทยพุทธส่วนใหญ่ก็จะมาจากอีสาน มารับจ้างทำงานปลูกยาง ไถ่พรวน ในช่วงที่อีสานเข้าฤดูแล้ง หลายคนชอบความอุดมสมบูรณ์ก็ตั้งรกรากอยู่แถวนี้และก็กลายเป็นเพื่อนกัน ชาวสวนมุสลิมมักจะมีปัญหากับหมูป่า เพราะมักจะชอบเข้ามากินต้นยางอ่อนในอยู่เสมอ สร้างความลำบากให้กับชาวสวนมุสลิมมาก ชาวสวนมุสลิมก็จะไปเรียกให้เพื่อนชาวไทยพุทธมาช่วยจัดการ

นอกจากเพื่อนชาวไทยพุทธจะช่วยกำจัดหมูป่าแล้วก็ยังได้เนื้อหมูป่าไปทำแกงกินกับครอบครัว ส่วนชาวสวนยางมุสลิมก็สบายใจเพราะไม่ต้องไปแตะต้องกับหมู เพราะกฎข้อบังคับทางศาสนา และยังสามารถรักษาสวนยางเอาไว้ได้อีกด้วย

นี้คือความสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันก่อนมีสถานการณ์ความไม่สงบช่วงปี 2547

หมูป่าขนาดใหญ่ใน อ.รือเสาะ เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่แสดงให้ปรากฎการณ์ทางสังคมหลายอย่าง ได้แก่ 1) ชาวไทยพุทธในพื้นที่ได้เริ่มหายไปจาก อ.รือเสาะ เพราะถ้ายังอยู่ ชาวไทยพุทธจะเข้าไปยิงหมูป่า เพื่อนำมาประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน 2) ในกรณีที่ถ้ายังมีกลุ่มคนไทยพุทธอยู่ใน อ.รือเสาะ การที่มีหมูป่าขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่ และกลุ่มคนไทยพุทธยังมีความหวาดกลัวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ จนไม่กล้าเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ อันเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอีก

ชาวสวนที่พอมีสตางค์ อาจจะมีวิธีการจัดการโดยการเพิ่มตาข่าย กั้นอาณาบริเวณที่ปลูกต้นยางอ่อนไว้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ชาวสวนทุกคนที่มีสตางค์ สามารถลงทุนเพิ่มเติมในลักษณะเช่นเดียวกันแบบนี้ได้ เพราะการทำสวนยางต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และการทำรั้วกั้นก็ต้องมีการลงทุนที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ความไม่สงบก็ทำให้รายได้อื่นๆ นอกจากการทำสวนลดลง เช่น ลูกจ้างที่เป็นชาวไทยพุทธไม่กล้าเข้าไปเก็บผลไม้ในสวนผลไม้ ทำให้เจ้าของสวนผลไม้มุสลิมขาดรายได้ รายได้จากการขายสินค้าลดลงเพราะลูกค้าไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่เพื่อซื้อของ

เมื่อก่อนสังคมชายแดนใต้เรามีต้นทุนร่วมกัน ก็คือ ทุนทางสังคม ที่คนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ เคยดำรงอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังตัวอย่างเรื่องหมูป่าที่กล่าวถึงในข้างต้น คนไทยพุทธไม่ได้มีข้อจำกัดทางศาสนาในเรื่องการรับประทานหมู ทำให้ชาวสวนมุสลิมที่เดือดร้อนจากการที่หมูป่ามาทำลายต้นยางอ่อน ต้องอาศัยเพื่อนชาวไทยพุทธมาช่วยกำจัดหมูป่า และต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เพราะในขณะที่คนไทยพุทธได้เนื้อหมูป่าไปกิน ชาวสวนยางมุสลิมก็ไม่เสียต้นยางอ่อนจากการทำลายของหมูป่า ความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์และพึ่งพาอาศัยกันนี้เอง ทำให้ถึงแม้ว่าจะต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์กัน สามารถจะมีปฏิสัมพันธ์กันได้ ซึ่งสามารถเรียกว่าสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้โดยใช้คำสั้นๆ ว่า “เพื่อน”

แต่เมื่อเพื่อนชาวไทยพุทธหายไปเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง หมูป่าก็กลับมา ไม่เพียงแต่ชาวมุสลิมนอกจากความกังวลเรื่องหมูป่าที่จะเข้ามาทำลายสวนยางแล้ว แต่พวกเขายังรู้สึกเศร้าใจที่ต้องเสียเพื่อนไปจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net