Skip to main content
sharethis

ม.อ.เตรียมประชาพิจารณ์ออกนอกระบบ แจงขึ้นค่าเทอมไม่เกี่ยวออกนอกระบบ นักศึกษาเริ่มเคลื่อนค้านออกนอกระบบ ขอที่นั่งให้นักศึกษาในสภามหาวิทยา มีสิทธิมีเสียงเท่าคณาจารย์ อธิการ ม.อ.ชี้เป็นสถาบันสุดท้าย แจงขึ้นค่าเทอม ไม่เกี่ยวออกนอกระบบ

ม.อ.เตรียมประชาพิจารณ์ออกนอกระบบ
ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 เป็นต้นไป ม.อ.จะจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่กำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือการออกนอกระบบ

ผศ.สมปอง เปิดเผยต่อว่า การจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ อาจจะใช้เวลา 1 ปี ขณะนี้ได้มีการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นแนวทางไว้แล้ว โดยจะเชิญบุคลากร อาจารย์และนักศึกษาของทุกวิทยาเขตมาเข้าร่วม เพื่อรับฟังและเสนอประเด็นต่างๆ รวมทั้งมีการถามตอบในประเด็นต่างๆ ด้วย

ผศ.สมปอง เปิดเผยด้วยว่า เมื่อครบกำหนดเวลาในการทำประชาพิจารณ์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะสรุปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีความเห็นชอบก็จะนำผลการจัดทำประชาพิจารณ์เข้าไปในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ผศ.สมปอง กล่าวด้วยว่า การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ที่ทุกคนมีความกังวล มีอยู่ 2 อย่าง คือ การขึ้นค่าธรรมเนียม และการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส เพราะทุกคนเข้าใจว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดช่องให้ผู้บริหารทุจริตได้นั้น ความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องไปอ่านร่างกฎหมายให้ละเอียด และมาร่วมแสดงความเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ด้วย
 

แจงขึ้นค่าเทอมไม่เกี่ยวออกนอกระบบ
ผศ.สมปอง กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะทางมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะขึ้นค่าธรรมเนียมมาก่อนแล้ว แต่ได้ชะลอไว้ก่อน เพราะไม่อยากสร้างความเดือนร้อนให้นักศึกษา จึงปรับเป็นการขึ้นค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดตามชั้นปี

ผศ.สมปอง กล่าวว่า ในการขึ้นค่าธรรมเนียมนั้น เป็นการเปลี่ยนจากการจ่ายเป็นค่าหน่วยกิตมาเป็นแบบการเหมาจ่าย ซึ่งกำหนดเป้าหมายอยู่ที่คนละ 11,000 บาทจากเดิม 5,000 บาท โดยปีการศึกษานี้อยู่ที่ 7,000 บาท ปีหน้าจะขึ้นอีก 2,000 บาท จนกว่าจะครบ 11,000 บาท ซึ่งเป็นการค่าธรรมเนียมจากนักศึกษาใหม่ ยกเว้นบางสาขาวิชาที่มีค่าธรรมเนียม 11,000 บาทมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่

ผศ.สมปอง กล่าวว่า การขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว มีการชะลอหลายครั้ง จึงทำให้สามารถขึ้นค่าธรรมเนียมได้ทุกๆ 3 ปีหรือ 5 ปี ปัจจุบันขึ้นปีต่อปี จริงๆ แล้วทางมหาวิทยาลัยไม่อยากขึ้นค่าธรรมเนียม และไม่อยากสร้างความเดือนร้อนให้กับนักศึกษา แต่มีความจำเป็น เพราะเป็นการขึ้นค่าธรรมเนียมตามสภาพเงินเฟ้อ จึงต้องชี้แจงให้นักศึกษาทราบ

ผศ.สมปอง กล่าวด้วยว่า สำหรับเงินค่าธรรมเนียมที่เพื่อขึ้นนั้น เงินนั้นก็จะกลับไปที่คณะต่างๆ เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอน การให้ทุนการศึกษา ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ เป็นต้น เพราะรัฐบาลจะไม่เงินอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยบางส่วนอีกแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหารายได้บางส่วนมาเพิ่ม

ผศ.สมปอง กล่าวอีกว่า รัฐบาลถือว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาทางเลือก ไม่ใช่ภาคบังคับ เพราะฉะนั้นคนที่จะศึกษาก็จะต้องมีการลงทุนด้วย เพราะถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว ถือว่ามีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก

ผศ.สมปอง กล่าวว่า ส่วนการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีข้อดี คือ สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างคล่องตัว แต่ก็เป็นไปตามที่ระเบียบกำหนดและสามารถตรวจสอบได้ โดยกฎระเบียบต่างๆ ทางสภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องรอมติคณะรัฐมนตรี
 

นักศึกษาเริ่มเคลื่อนค้านออกนอกระบบ
ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบดังกล่าว โดยได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์คัดค้าน โดยเฉพาะในวิทยาเขตปัตตานีที่เริ่มมีการแจกใบปลิวคัดค้านทั่วมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา

นายอับดุลอาวัล บายา นักศึกษาชั้นปี 4 เอกการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ รองประธานสภานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับก็จะทำให้นักศึกษาต้องเสียค่าเทอมสูงขึ้น ทำให้ไม่มีความคิดเสรีภาพ ด้านจิตอาสาก็จะหายไป ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยและรัฐมีหน้าที่บริการประชาชน

นายอับดุลอาวัล กล่าวอีกว่า ผลกระทบระยะยาวคือ คนจนไม่สามารถเข้าศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยได้ และทำให้บางคนไม่สามารถเลือกเรียนตรงตามที่ตัวเองชอบเพราะค่าเทอมแพง ทำให้ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง
 

ขอที่นั่งให้นักศึกษาในสภามหาวิทยาลัย
นายอับดุลอาวัล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้นักศึกษายังไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากสร้างพื้นที่ต่อรอง โดยต้องการให้นักศึกษาสามารถเข้าไปเป็นกรรมการในสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้รับรู้เกี่ยวกับกระบวนการของมหาวิทยาลัยได้ ตอนนี้ที่ทำได้คือการสร้างกระแสความตื่นตัว เพื่อให้นักศึกษาทราบว่า กำลังจะมีการนำ ม.อ.ออกนอกระบบ

นายชยุตพงศ โสภีวรรณ นักศึกษาชั้นปี 4 เอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ.ปัตตานี ประธานกลุ่มกล้าคิด กล่าวว่า คิดว่าในระยะยาวมหาวิทยาลัยก็ต้องเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการอยู่แล้ว แต่นักศึกษาต้องการให้นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในสภามหาวิทยาลัย มีสิทธิมีเสียงเท่ากับกับคณาจารย์
 

ให้มีสิทธิมีเสียงเท่าคณาจารย์
นายชยุตพงศ กล่าวว่า หากคณาจารย์เห็นว่า นักศึกษายังไม่พร้อมที่จะไปนั่งในสภามหาวิทยาลัย ก็ขอให้คณาจารย์ลาออกเถอะ เพราะไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์อะไรได้ ไม่ให้นักศึกษาได้ใช้เหตุและผลในการพูดคุยปรึกษาหารือ หรือเพื่อต่อรองประโยชน์ของนักศึกษาด้วยกัน

“ถ้าสภามหาวิทยาลัยให้ความเป็นธรรมแก่คณาจารย์ได้ ก็ต้องให้นักศึกษาเข้าไปนั่งในสภามหาวิทยาลัยได้ เพื่อเป็นการให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาด้วย” นายชยุตพงศ กล่าว

นายชยุตพงศ กล่าวต่ออีกว่า หากเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบก็เท่ากับว่ากำลังปิดกั้นประชาชนที่อยู่ระดับล่างไม่ให้มีความรู้ เพราะมีการขึ้นค่าเทอมให้แพงขึ้น ทำให้การศึกษาจำกัดอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นายชยุตพงศ มีข้อเสนอด้วยว่า เมื่อออกนอกระบบแล้ว 1.ให้จัดสรรงบให้คนยากจนให้เข้าถึงการศึกษามากกว่านี้ 2.ให้ทุนกับชุมชนเพื่อส่งคนดีๆ เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยได้
 

อธิการ ม.อ.แจงเป็นสถาบันสุดท้าย
ด้านเว็บไซต์ของ ม.อ. เผยแพร่แถลงการณ์ของรศ.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ฉบับที่ 3/2556 หัวข้อ “ม.อ. กับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมี 12 แห่ง และยังคงสถานะเดิม 15 แห่ง

หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของ 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ พบว่า เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 4 แห่งยังคงสถานะเดิม

ในจำนวน 4 แห่งดังกล่าว มีการดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ อย่างชัดเจน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ยังคงมี ม.อ.แห่งเดียวเท่านั้น ที่ยังไม่กำหนดบทบาทให้ชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
 

แจงขึ้นค่าเทอม ไม่เกี่ยวออกนอกระบบ
รศ.ชูศักดิ์ ระบุว่า การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ จะมีการขึ้นค่าเทอมสูงขึ้นนั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะรัฐบาลยังสนับสนุนงบประมาณอยู่ ดังนั้นการขึ้นค่าเทอมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ หรือไม่ เพราะในปัจจุบันแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าเทอมตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น ในปี 2557 มหาวิทยาลัยมีแผนที่จะปรับค่าเทอม และจะปรับทุกๆ 3 ปีตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

รศ.ชูศักดิ์ ระบุด้วยว่า โดยสรุปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยมติที่ประชุมคณบดี ได้มีจุดยืนที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทั้งนี้มีแผนการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับใหม่รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net