ภารกิจก่อนถึงปลายทางสันติภาพ ‘วิทยาลัยประชาชน’ มุ่งสร้างนักสร้างสันติภาพที่ฟาฏอนีย์

 

ท่ามกลางบรรยากาศการไขว่คว้าหาสันติภาพในชายแดนภาคใต้หรือดินแดนฟาฏอนีย์ขณะนี้ จะมีใครซักกี่คนที่รู้ว่าเส้นทางสันติภาพจะเดินไปอย่างไร ปลายทางจะอยู่ตรงไหน และระหว่างทางจะมีคนบาดเจ็บล้มตายจากความรุนแรงอีกเท่าไหร่

ที่สำคัญ ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพที่จะนำพาสังคมฟาฏอนีย์และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาท้าทายอย่างคนที่มีความรู้ความสามารถต่อไปได้
 

ทำความรู้จักวิทยาลัยประชาชน
“วิทยาลัยประชาชน(People’s College)” คือหนึ่งในองค์กรที่กำลังทำหน้าที่นี้อยู่ โดยเน้นการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ แก่ผู้นำประชาชนจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ที่เป็นคนรุนใหม่ ผ่าน “หลักสูตรผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ”

เป็นการเตรียมคนในพื้นที่ให้มีคุณภาพมากที่สุด แม้ว่าปลายทางสันติภาพจะเป็นอย่างไรก็ตาม
วิทยาลัยประชาชน เป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ได้เปิดตัวอย่างทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

นายแวอิสมาแอ แนแซ หรืออาดำ หรือ ตูแวแอ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งวิทยาลัยประชาชน ในอดีตเคยเป็นนักสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace)
 


แวอิสมาแอ แนแซ
 

ก่อร่างสร้างสถาบันสันติภาพ
แวอิสมาแอ เล่าว่า วิทยาลัยประชาชนก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย นักพัฒนาเอกชนที่หวังจะก่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่กลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นองค์กรให้ความรู้เรื่องสันติภาพแก่ผู้นำประชาชนในชุมชนต่างๆ ภายใต้แนวคิด Knowledge is Power ความรู้คืออำนาจ

โดยผู้นำชุมชนกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำศาสนาหรือใครก็ตามที่คนในพื้นที่เคารพนับถือ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนระดับรากหญ้าต่อไป รวมทั้งให้ความรู้แก่องค์กรในเครือข่ายด้วย เพื่อให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ส่วนใดของกระบวนการสร้างสันติภาพ และจะมีบทบาทอย่างไร
 

มุ่งสร้างคนด้วยองค์ความรู้
แวอิสมาแอ กล่าวว่า เหตุที่ต้องให้ความรู้เรื่องสันติภาพแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองในอนาคตได้อย่างอิสระ ปราศจากการบังคับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยใช้ความรู้เป็นหลัก

“ที่สำคัญ เป็นการเตรียมความพร้อมผู้นำรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการเห็นอนาคตของพื้นที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” แวอิสมาแอ กล่าว

ผู้นำชุมชนถือธงสันติภาพ
แวอิสมาแอ เล่าต่อไปว่า ได้รับแนวคิดในการก่อตั้งวิทยาลัยประชาชนมาจากการเข้าอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพจาก 2 สถาบัน ได้แก่

1.ที่สถาบันอบรมการทูต คณะนิติศาสตร์ University of New South Wales, Sydney, Australia ซึ่งก่อตั้งโดย Professor José Ramos-Horta อดีตประธานาธิบดีของติมอร์เลสเต

2.การเข้าร่วมเสวนาประจำปีเรื่องการสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย ของสถาบันอาศรม มหาตะมะคานธีร์ (The Gandhi Ashram)

“ทั้ง 2 สถาบันทำให้ผมเห็นว่า ต่างประเทศให้ความสำคัญกับผู้นำในชุมชนในการกระบวนการสร้างสันติภาพ เพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด” แวอิสมาแอ กล่าว

ขยายแนวคิดสู่รากหญ้า
แวอิสมาแอ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา วิทยาลัยประชาชนได้เปิดสอนไปแล้ว 3 รุ่น แต่ละรุ่นมีนักศึกษา 50 คน รวมเป็น 150 คน ใช้เวลาเรียนรุ่นละ 6 เดือน โดยผู้เรียนที่เป็นคนหนุ่มสาว อายุประมาณ 20-30 ปี ที่เป็นอาสาสมัครสิทธิมนุษยชนตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่

เนื่องจากวิทยาลัยประชาชนมองว่า บุคคลเหล่านี้จะสร้างสันติภาพในระดับรากหญ้าได้ จึงนำเข้ามาศึกษาเรื่องสันติภาพ เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาจะอยู่ส่วนใดของกระบวนการสร้างสันติภาพ

หลังเปิดสอนไปทั้ง 3 รุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากนักศึกษาบางคนนำองค์ความรู้เรื่องสันติภาพไปเผยแพร่ต่อแก่ประชาชน และมีการจัดเวทีเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่จำนวนมาก
 

เปิดโอกาสให้คนหลากหลาย
แวอิสมาแอ กล่าวว่า เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นมาเกือบ 1 ทศวรรษ ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ปัจจุบันนี้ประชาชนระดับรากหญ้าพูดถึงการสร้างสันติภาพมากขึ้น โดยเฉพาะตามร้านน้ำชา ไม่จำกัดเฉพาะในวงนักวิชาการหรือภาคประชาสังคมเท่านั้น

ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในลักษณะที่เป็นสันติภาพมากขึ้นในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งทำให้เรื่องสันติภาพเปลี่ยนจากระดับพื้นที่เข้าสู่ระดับประเทศไปแล้ว

สันติภาพไม่ได้ผูกขาดที่ชนชั้นนำ
ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว วิทยาลัยประชาชนจึงเปิดโอกาสให้คนหลากหลายอาชีพเข้ามาเรียน โดยมีทั้งนักวิชาการ คนทำงานภาคประชาสังคม ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น คนไทยพุทธที่เข้ามาศึกษา เพื่อจะให้มีการรู้เรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

ส่วนผู้สอน ได้เลือกจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีทั้งคนในประเทศ คนต่างประเทศและคนที่ทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศ

สำหรับนักศึกษารุ่นที่ 4 นี้ ได้เริ่มเรียนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท