“หยุดยิงในเดือนรอมฎอน” เป็นความต้องการจากพื้นที่

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุหยุดยิงในเดือนรอมฎอนเป็นความต้องการจากประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ ชี้ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นยากที่จะปฏิบัติและสูงเกินไป การถอนทหารยังไม่ถึงเวลา แต่ยืนยันไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพหยุดลง “เฉลิม-ภารดร”ปัดรับข้อเรียกร้อง

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ครั้งที่ 4 ของขบวนการ BRN ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ยูทูป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาว่า เป็นข้อเรียกร้องที่ยากในทางปฏิบัติและเป็นข้อเรียกร้องที่สูงเกินไป โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีการถอนทหารหรือถอดตำรวจออกพื้นที่จังหวัดชายแดนแดนภาคใต้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้ถอนทหารได้นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องถึงขั้นตอนของการเจรจา ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอระหว่างกันในระดับหนึ่งมาแล้ว นอกจากนี้ต้องเป็นข้อเรียกร้องในระยะยาว และเป็นข้อเรียกร้องในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะเรียกร้องให้ถอนทหาร อีกทั้งข้อเสนอให้มีการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นข้อเสนอเฉพาะหน้า ไม่ใช่ข้อเสนอในระยะยาว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ทางรัฐบาลจะต้องมีการทบทวนข้อเรียกร้องและอาจจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษชุดหนึ่ง ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น เพื่อที่จะหารือ หาจุดกลางระหว่างกันหรือปรับข้อเรียกร้องให้มีความเหมาะสม ซึ่งคิดว่าตอนนี้ยังมีเวลาที่จะให้คณะกรรมการที่ว่านี้มาหารือระหว่างกันได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปิดเผยก็ได้

 

หยุดยิงในเดือนรอมฎอน” เป็นข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่

“ผมคิดว่าทางบีอาร์เอ็นก็รู้ดีว่าข้อเสนอขอให้ลดปฏิบัติการความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น เป็นข้อเสนอของประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตสงบสุขในช่วงเดือนรอมฎอน และสามารถประกอบศาสนากิจในช่วงเดือนรอมฎอนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทางตัวแทนของคณะเจรจาของรัฐบาลไทยนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอในเวทีของพูดคุยสันติภาพ ดังนั้นข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นข้อเสนอที่มีความชอบธรรม” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า การเสนอให้ลดปฏิบัติการในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะยุติความรุนแรงอย่างเบ็ดเสร็จ หรือให้ถอดทหารออกจากพื้นที่แต่อย่างใด หวังเพียงแค่ว่าลดการปฏิบัติการในช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้นเพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อประชาชนในพื้นที่

“จะต้องมีการถอยคนละก้าวเพื่อเห็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะอันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นมา แต่มาจากผู้นำศาสนาในพื้นที่เองนำเสนอขึ้นมาก่อน แล้วนำไปสู่ประเด็นการพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายน เป็นข้อเสนอจากข้างล่างจริงๆ มาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับขอเสนอผ่านรัฐสภาไทยนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะกระบวนการเข้าสู่รัฐสภาต้องเวลาใช้อย่างน้อย 3-6 เดือน อีกทั้งในขั้นตอนการพิจารณาในรัฐสภามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้การเจรจาสันติภาพทั่วโลกไม่มีประเทศใดนำเรื่องของการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการพูดคุยสันติภาพ รัฐบาลดำเนินการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว ซึ่งทางบีอาร์เอ็นก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย”

“อย่างไรก็ตามผมคิดว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นสัญญาณในเชิงบวก เพราะจากเดิมขอให้ลดก่อเหตุรุนแรง แต่ข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็นใหม่นี้ต้องการยุติความรุนแรงเต็มพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอนและหลังจากเดือนรอมฏอนอีก 10 วัน รวมเป็น 40 วัน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

 

ประชาสังคมออกโรง รัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจน

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นก็เสนอแรงเกินไป เป็นการทำลายบรรยากาศการพูดคุย ทั้งนี้ตนมองว่าน่าจะลดความแรงลงบ้างในช่วงนี้ และควรจะเป็นช่วงที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย

“บีอาร์เอ็น ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะของความเป็นรัฐ จึงต้องมีข้อเรียกร้องมากเป็นของธรรมดา แต่ในส่วนของรัฐบาลไทย วันนี้ก็ยังไม่เห็นประเด็นอะไร ยังขาดการเตรียมตัวในการที่จะกำหนดประเด็นที่จะพูดคุย รัฐบาลไทยควรจะรักษาบรรยากาศ อย่าให้กระบวนการเพื่อสันติภาพที่เดินมาพอสมควรต้องล้มเหลว”

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะต้องพูดอะไรบ้างในวงพูดคุย เพราะประชาชนทั้งประเทศจับตามองอยู่ ทุกครั้งที่บีอาร์เอ็นมีข้อเสนอ ฝ่ายไทยจะเงียบ ไม่ให้ความเห็น หรือให้ความเห็นน้อยมาก ซึ่งหลังจากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ควรจะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะสื่อสารต่อสาธารณะให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นผลเสียกับการพูดคุยได้

“ข้อเสนอของบีอาร์เอ็น 6 ข้อล่าสุดนี้เป็นเพียงชั้นเชิงของการพูดคุยเจรจา ที่นำออกสู่สาธารณะ เพราะว่าถ้าในเดือนรอมฎอนนี้ บีอาร์เอ็นไม่สามารถยุติเหตุการณ์ได้ ก็จะเสีย แต่ถ้ามีการยื่นข้อเสนอกับทางรัฐบาลไทยทำไม่ได้ ก็จะเป็นข้ออ้างในภายหลังว่า ที่ยุติไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยทำไม่ได้ มันเป็นชั้นเชิงทางการเจรจา”

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในการสื่อสารต่อสาธารณะ ฝ่ายรัฐบาลไทยจะต้องสื่อสารให้ดี ถ้าไม่พูดอะไรก็จะเป็นการถอยทางการเมือง และจะเป็นการเสียงเชิงให้กับผู้พูดคุย ทั้งนี้ในส่วนของภาคประชาสังคมนั้นกำลังเตรียมออกเป็นแถลงการณ์ชี้แนะให้กับทั้งสองฝ่ายพูดคุย ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

เฉลิม” ปัดข้อเรียกร้อง ยันต้องดูแลประชาชน

วันเดียวกัน สื่อหลายสำนักได้นำเสนอคำให้สัมภาษณ์ของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ออกมาปฏิเสธรับข้อเสนอ 7 ข้อล่าสุดของบีอาร์เอ็นที่ออกมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ โดยเฉพาะข้อที่ต้องการให้มีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่านความมั่นคงออกจากพื้นที่เนื่องจากเจ้าหน้ายังคงต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและให้ความมั่นใจกับประชาชน รวมถึงประชาชนก็ต้องการให้คงกำลังเจ้าหน้าที่ไว้

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวอีกว่า ตนยังเชื่อว่าบีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมแนวร่วมไม่ให้ก่อเหตุได้และเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนจะไม่ยุติลง “ข้อเสนอก็เสนอไปแต่ผมจะไม่รับฟังเนื่องจากเป็นข้อเสนอของผู้ที่มีความผิดติดตัว” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 

ภารดรเรียกร้อง BRN ยื่นข้อเสนอผ่านมาเลย์

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่าข้อเสนอบีอาร์เอ็น 7 ข้อล่าสุด ไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงเนื่องจากไม่ได้ส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาคือผ่านประเทศมาเลเซีย

“การออกมาแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะต้องการผลทางจิตวิทยาจากคนในพื้นที่ ส่วนในเรื่องการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น ต้องเป็นการพิจารณาจากฝ่ายความมั่นคงและยึดเสียงประชาชนเป็นหลัก พร้อมเรียกร้องให้ทางบีอาร์เอ็นรีบส่งแผนการลดเหตุความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งที่ผ่านมาโดยเร็ว” พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.ท. ภราดร กล่าวถึงข้อเสนอของบีอาร์เอ็นอีกว่า การดำเนินการใดๆ จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยและเป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าชาวบ้านเห็นด้วยกันข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นหรือไม่ และขณะนี้กำลังรอให้ทางบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอผ่านทางมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยอยู่

“ในการพูดคุยได้มีข้อตกลงกันว่าการติดต่อใดๆ จะต้องดำเนินการผ่านผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจาเท่านั้น จะไม่มีการติดต่อกันโดยตรง” พล.ท.ภราดร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท