ปธน.บราซิล เสนอทำประชามติปฏิรูปฯ หวังสนองข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม

ดิลมา รุสเซฟ ปธน.อดีตนักสู้ฝ่ายซ้าย เสนอทำประชามติปฏิรูปฯ และแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อสนองตอบข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม หลังมีการประท้วงอย่างหนักตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

25 มิ.ย. 2013 - ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ของบราซิลก็เสนอให้มีการทำประชามติเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง และปรับปรุงโครงการขนส่งมวลชนด้วยงบประมาณ 5 หมื่นล้านเรียล (ราว 7 แสนล้านบาท) เพื่อต้องการให้การประท้วงสงบลง หลังจากที่มีการประท้วงใหญ่ในบราซิลเมื่อตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้แล้วรุสเซฟยังได้สัญญาว่าจะมีมาตรการด้านการสาธารณสุขและการสร้างงาน ข้อเสนอของประธานาธิบดีอดีตนักสู้ฝ่ายซ้ายของบราซิล มีขึ้นหลังจากที่เดินทางเยี่ยมนายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการเมืองต่างๆ ที่มีการประท้วงจนกระทั่งเกิดความรุนแรงและความไม่สงบ และก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน รุสเซฟก็ได้เข้าพบปะกับแกนนำของชุมนุม

การประท้วงในบราซิลเริ่มต้นจากความไม่พอใจเรื่องการขึ้นค่าโดยสารขนส่งมวลชน ต่อมาจึงถูกยกระดับกลายเป็นการประท้วงแสดงความไม่พอใจในหลายประเด็นนับตั้งแต่เรื่องการบริการสาธารณะที่ด้อยคุณภาพ ประเด็นการทุจริต เรื่องผู้มีอิทธิพล และการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

โดยรุสเซฟได้เรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและสัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามในตอนนี้ทางการบราซิลยังไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องการปฏิรูปดังกล่าว

จากแถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีบราซิลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากล่าวว่า บราซิลจะต้องเดินหน้าต่อไป และสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ คือเพิ่มความเข้มงวดด้านการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ โดยรุสเซฟได้พูดถึงมาตรการดังกล่าวว่าคือการเพิ่มบทลงโทษและกฏหมายใหม่ที่ทำให้การทุจริตเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

รุสเซฟกล่าวว่าจะมีการตั้งสภาการขนส่งมวลชนแห่งชาติขึ้นโดยมีงบประมาณ 5 หมื่นล้าน (ราว 7 แสนล้านบาท) ที่จะมีการประสานงานร่วมกับกลุ่มประชาสังคมเพื่อขยายและเสริมสร้างโครงการขนส่งมวลชนในเมือง

อย่างไรก็ตาม มายารา ลองโก วิเวียน หนึ่งในแกนนำกลุ่มขบวนการค่าโดยสารฟรี (Free Fare Movement) ที่ได้พบปะกับรุสเซฟกล่าวว่า ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มเขา และพวกเขาจะยังคงประท้วงต่อไป

ดิลมา รุสเซฟ เคยเป็นนักสู้สายมาร์กซิสท์ในช่วงที่บราซิลตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ เธอพยายามรอมชอมกับข้อเรียกร้องบางส่วนของผู้ชุมนุมมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยเริ่มจากการยับยั้งแผนการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถไฟของรัฐบาลท้องถิ่น และสัญญาว่าจะมีการนำเงินรายได้จากธุรกิจน้ำมันไปสร้างโครงการเพื่อการศึกษา

มีนักวิจารณ์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่าท่าทีของรุสเซฟที่มีความเต็มใจตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมบนท้องถนนดูแตกต่างจากท่าทีดื้อรั้นของผู้นำตุรกี ซึงมีการประท้วงใหญ่ภายในประเทศในช่วงไล่เลี่ยกัน

นักวิเคราะห์มองว่าขณะที่รุสเซฟมีพื้นเพเป็นผู้มีแนวคิดถอนรากถอนโคน (radical) แต่ก็มีที่ปรึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นนักปฏิบัตินิยม (pragmatism) คอยวางแนวทางให้ และหลังจากฟุตบอลโลกปีหน้ารุสเซฟต้องเผชิญกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแม้ว่าเธอจะยังคงได้รับเสียงรับรองเกินร้อยละ 50 แต่ในช่วงไม่นานมานี้คะแนนนิยมของรุสเซฟก็ต่ำลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี

การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าผู้ชุมนุมจะไม่มากเท่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งมีการชุมนุมใน 80 เมือง รวมยอดผู้ชุมนุมจากเมืองต่างๆ แล้วประมาณ 1-2 ล้านคน

 

เรียบเรียงจาก

Dilma Rousseff proposes referendum on political reform, 25-06-2013, The Guardian
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท