เสวนา: ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ชี้การชุมนุม แม้สงบ-ปราศจากอาวุธ ก็อาจผิดกฎหมายอื่นๆ ตุลาการต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพตาม รธน.กับ กฎหมายระดับ พ.ร.บ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล แนะชุมนุมขัดแย้งระหว่างประชาชนต่างขั้วมีมากขึ้น ต้องอดทนฟังฝ่ายเห็นต่าง กิตติศักดิ์ ปรกติ รับมหาวิทยาลัยยังบกพร่อง ไม่สร้างองค์ความรู้ให้ศาล

(26 มิ.ย.56) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา” ณ ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ คำว่า "โดยสงบ" นั้น ต้องตีความอย่างกว้าง แม้จะมีการใช้เครื่องเสียง หรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้อยู่อาศัย ถ้าสุจริตและได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ ก็ถือว่ายังเป็นการชุมนุมโดยสงบ พร้อมยกตัวอย่างคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค.51 ที่ว่า ในการชุมนุมที่บริเวณรัฐสภา ซึ่งผู้ชุมนุมใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์กั้นทางเข้าไว้ ทำให้ ส.ส.กลัว ไม่กล้าเข้าสภา เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น จึงไม่ใช่่การชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ศาลระบุต่อว่า แม้การชุมนุมไม่สงบ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสลายการชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุอันตราย การสลายการชุมนุมนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนด้วย คือจากเบาไปสู่หนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะใช้มาตรการใด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งคู่

กรณี "ปราศจากอาวุธ" นั้น อาวุธแบ่งเป็นสองชนิด คือ หนึ่ง อาวุธโดยสภาพ เช่น ปืน มีด  ในที่ชุมนุมทุกแห่ง โดยเฉพาะที่สาธารณะ มักพบอาวุธเสมอ  กรณีคดีคัดค้านท่อก๊าซ ศาลปกครองสงขลา ตุลาการผู้แถลงคดีนี้ ระบุว่า ผู้ชุมนุม มีปืน มีดสปาต้า หนังสติ๊กสามง่าม แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณผู้ชุมนุม ถือว่า มีน้อย จึงเชื่อว่าเป็นเจตนาของบุคคลผู้พกพาอาวุธ ไม่ถือเป็นการกระทำร่วมของผู้ชุมนุม สอง อาวุธโดยการใช้ ซึ่งโดยตัวมันเอง ไม่ได้มีเพื่อทำอันตรายบุคคล เช่น ไม้คันธงเหลาปลายแหลม กรรไกร กรณีนี้ศาลปกครองสงขลา ให้ความเห็นว่า ไม่ถือเป็นอาวุธโดยสภาพ แต่เมื่อถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงหยิบฉวยเครื่องมือมาใช้ป้องกันตัวเอง ถือเป็นเจตนาแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ช่วงต้นการนัดแนะ ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนากำหนดให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นอาวุธ จึงไม่ถือเป็นเจตนามีอาวุธในการชุมนุม

จันทจิรา กล่าวต่อว่า แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่บางกรณี ก็ยังอาจผิดกฎหมายบางอย่างของบ้านเมืองบ้าง เช่น พ.ร.บ.จราจร กฎหมายอาญา เรื่องการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ หรือการบุกรุกสถานที่ราชการ เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายพัฒนาการวุฒิภาวะของสังคมที่จะเรียนรู้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งเป็นเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้มีอำนาจ ดังนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ องค์กรตุลาการ ต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับคุณค่าที่กฎหมายระดับ พ.ร.บ. มุ่งคุ้มครอง และสร้างสมดุลว่า คุณค่าใดต้องรักษาไว้มากกว่ากัน

สำหรับการเข้าไปคัดค้าน ขัดขวางการตรากฎหมายของ สนช. จันทจิรา ระบุว่า องค์กรตุลาการต้องพิจารณาถึงบริบทการใช้เสรีภาพในการชุมนุมให้มาก โดยกรณีนี้ สนช. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยหลายประการ นอกจากนี้  จำเลยก็ได้แสดงวัตถุประสงค์ชัดเจนว่ามีมาตรการโต้แย้งการใช้อำนาจ สนช. ซึ่งไม่ชอบด้วยประชาธิปไตยและไม่ชอบธรรม เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้ง และกฎหมายที่จะออกจะกระทบเสรีภาพประชาชนในอนาคต แต่ทุกมาตรการไม่เป็นผล จึงเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมกระทำการเสี่ยงผิดกฎหมายอาญา

มองผ่านคำพิพากษา: ศาลให้น้ำหนักรูปแบบ-วิธีชุมนุม มากกว่าเหตุแห่งการชุมนุม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า นิยามของการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นพื้นที่เทาๆ  มองแง่ลบคือ ขึ้นกับทัศนคติหรือความเห็นของผู้พิพากษาแต่ละคนต่อการชุมนุม แต่มองแง่บวก คือ เปิดให้คนในสังคมเข้าไปสร้างความหมายได้ด้วย ผ่านการสู้คดี การให้เหตุผลของจำเลย

ทั้งนี้ การชุมนุมโดยสงบ มักขัดกับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งในการตีความเรื่องนี้ เขาเห็นว่ามีสองทาง คือ หนึ่ง ฝ่ายโปรรัฐ คือให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐเป็นหลัก และ สอง ฝ่ายโปร right ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ โดยแม้จะเห็นการตีความแบบแรกสูง แต่แบบที่สอง ก็เริ่มมีมากขึ้น

สมชาย แสดงความเห็นว่า  เสรีภาพในการชุมนุมนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ใช่เรื่องว่าทำอย่างไรให้การชุมนุมไม่มีผลกระทบ แต่คือเราจะจัดลำดับความสำคัญของเสรีภาพอย่างไร ซึ่งเขามองว่า จะต้องจัดลำดับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญให้เหนือกว่าอย่างอื่น 

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลไทยเท่าที่อ่าน คิดว่าศาลจะพิจารณาถึงรูปแบบและวิธีการของการชุมนุม แต่ไม่ให้ความสำคัญกับสาเหตุที่นำมาซึ่งการชุมนุมมากเท่าไหร่ ทั้งที่เมื่อดูคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่า คดีท่อก๊าซ คดีปีนสภา คดีจินตนา แก้วขาว ข้อพิพาทอื่นๆ ล้วนเกิดจากความไม่ชอบธรรมบางอย่างเป็นปัจจัยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มองว่าคำตอบสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ศาล โดยยกตัวอย่างกรณีศาลสูงอเมริกา ที่ช่วงหนึ่งมีคำพิพากษาซึ่งมีความป็นอนุรักษนิยมมาก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะการผลักดันและวิจารณ์ของสาธารณะ

สมชาย กล่าวเสริมว่า พลังของเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ใช่แค่จำนวนคนหรือจำนวนวันชุมนุม แต่อยู่ที่เหตุผลของการชุมนุมว่าชอบธรรมเพียงใด กรณีคดีปีนสภานั้น ในความเห็นของตัวเอง ต่อให้ครบองค์ประชุมก็ควรปีน เพราะมีความชอบธรรมที่อธิบายได้ นอกจากนี้ ควรมีการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวม กรณีการปีนสภา เดินขบวนเรื่องท่อก๊าซ  หรือกรณีจินตนา  ไม่ใช่ความผิดฐานกบฏ ซึ่งต้องการเปลี่ยนรัฐบาล เพียงแต่ทำให้ความไม่ชอบธรรมบางอย่างถูกแก้ไข ในการสู้คดี หากชนะในชั้นศาล คือการสร้าง-ขยายเสรีภาพของการชุมนุมให้ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากแพ้ ก็ต้องยอมรับโทษนั้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้เกิดสำนึกแห่งความยุติธรรมขึ้นในสังคมได้

นอกจากนี้ สมชายกล่าวถึงอนาคตของเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทยว่า ปัจจุบันการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น หลายกรณีเป็นระหว่างประชาชนที่เห็นต่าง สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างระหว่างประชาชน แม้ฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเดียวกัน แต่มีไว้สำหรับคนที่พูดไม่เหมือนกับเรา พร้อมย้ำว่า ขันติธรรมหรือความอดทนที่จะรับฟังฝ่ายที่เห็นต่างจากตนนั้นเป็นวัฒนธรรมการเมืองชนิดหนึ่งที่จำเป็น 

ชี้ 'มหาวิทยาลัย' บกพร่องหน้าที่ ไม่สร้างองค์ความรู้ให้ศาล
กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพในการชุมนุม ยังมีความสับสนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายตำรวจ ว่าจะใช้อำนาจรักษาความสงบอย่างไร เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจจำกัดการชุมนุมได้ โดยมีมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญให้สิทธิการชุมนุมไว้ หากจะทำได้ก็ด้วยกฎหมายเฉพาะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคำพิพากษาที่ออกมา เช่น คดีสลายการชุมนุมชาวบ้านที่ต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่มีการปรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุม และคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ต.ค.51 ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช.ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฝ่ายผู้ชุมนุมเอง ตราบใดยังไม่มีกฎหมายระบุ ก็ดูเหมือนจะคิดว่าจะชุมนุมที่ไหนก็ได้ ในมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนกฎหมาย องค์ความรู้เรื่องนี้ก็ยังคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกันหลายประการ

กิตติศักดิ์ ตั้งคำถามว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เหตุใดจึงยังไม่มีคำอธิบายรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมเสียที แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขียนตำราโดยละเอียดก็ยังไม่มี ถ้าเป็นแบบนี้ ศาลจะอ่านหนังสือที่ไหน จะสร้างสำนึกขึ้นจากที่ไหน ในวงการศาลมีแต่แนวคำพิพากษา และเมื่อถูกเร่งรัดคดี ก็ต้องอาศัยลอกแนวคำพิพากษาเก่าๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ถูกและคับแคบ ควรได้รับการวิจารณ์ แต่ก็ยอมรับว่าพวกตนเองในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็บกพร่องต่อหน้าที่ด้วย ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยได้ให้ความรู้ ตั้งคำถาม มีตัวอย่างเปรียบเทียบเพียงพอหรือไม่

กรณีคดีปีนสภา เพื่อยับยั้งการออกกฎหมายของ สนช. กิตติศักดิ์ เสนอว่า จำเลยอาจอ้างได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เพราะการออกกฎหมาย ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าขาดองค์ประชุม อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ขัดรัฐธรรมนูญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท