Skip to main content
sharethis

เครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม  โต้หมอประดิษฐ เบี้ยวไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ปลด ผอ.อภ. ไม่เป็นธรรม ด้าน นพ.วิทิตประกาศเดินหน้าฟ้อง รมว.สาธารณสุข คณะรัฐมนตรี และบอร์ด อภ.  ทั้งคดีปกครอง คดีอาญา และคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา นพ.วิทิต  อรรถเวชกุล  ทีมที่ปรึกษากฎหมาย และผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมรวมทั้งผู้แทนเครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ประชุมหารือข้อกฏหมาย  และได้ผลสรุปว่ามีข้อมูลและหลักฐานภายในที่ชัดเจนพร้อมที่จะฟ้องเอาผิดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รมว.สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีทางปกครอง เพื่อให้ถอนมติ ครม. และคุ้มครองฉุกเฉิน  ฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และจะฟ้องหมิ่นประมาท    นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. และนพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รมว.สาธารณสุขที่ให้ข่าว กล่าวร้ายทำให้เกิดความเสียหาย  รวมทั้งจะฟ้องคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท

นพ.วิทิต  อรรถเวชกุล  กล่าวว่า เพื่อปกป้องระบบยาของประเทศ ปกป้ององค์การเภสัชกรรมของรัฐ และปกป้องศักดิ์ศรีของคนทำงาน สัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้อง คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รมว.สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีปกครอง อาญาและทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน เพื่อเป็นตัวอย่างเอาผิดกับการใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือของรัฐ โดยไม่เป็นธรรมไม่ยึดหลักธรรมมาภิบาล

นพ.วิทิตกล่าวต่อว่า  ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับราชการมาเกือบสามสิบปี รับใช้พี่น้องชาวบ้านแพ้วและพื้นที่ใกล้เคียงนับสิบปี  จนถูกไปใช้อ้างอิงหาเสียงในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคการเมืองหนึ่ง และใช้เวลากว่าหกปีพัฒนาองค์การเภสัชกรรม จนเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้  สร้างระบบความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศ  แต่กลับถูกกลั่นแกล้ง ทำลายชื่อเสียงเพื่อยึดครองระบบยาของรัฐ  จึงจำเป็นต้องฟ้องเอาผิดเพื่อให้ศาลยุติธรรมได้ทำความจริงให้ปรากฏ 

ด้านชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ว่า นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้บิดพริ้วไม่ทำตามข้อสรุปของการหารือเมื่อวันที่  6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาลที่สรุปให้ตั้งคณะกก.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการทำลายภาพพจน์องค์การเภสัชกรรม และปลดผู้อำนวยการ โดยมิชอบ

นพ. วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว “การที่ รมว.สาธารณสุขบิดพริ้วไม่ทำตามข้อตกลงที่ทำเนียบ แต่กลับเฉไฉไปตั้ง คณะทำงานของกระทรวงและองค์การเภสัชกรรมให้เป็นผู้ให้ข้อมูลและให้ข่าวอนุญาตให้กลุ่มคนที่เครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพเสนอชื่อ ให้มีหน้าที่เพียงรับฟังข้อมูลจากคณะทำงานที่ตนตั้งขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการบิดเบือนข้อตกลงและเป็นการให้ข่าวที่ไร้วุฒิภาวะ  ขาดความน่าเชื่อถือ” นพ. วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ขณะที่เว็บไซต์ข่าวเดลินิวส์ รายงานว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ได้พูดมาตลอดว่าการฟ้องร้องเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกฟ้องก็มีสิทธิ์ฟ้องกลับเช่นกัน  ทั้งนี้ เป็นห่วงว่าหากมีการฟ้องแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะไม่สามารถเปิดเผยได้อีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องของคู่กรณี เป็นอำนาจศาล ดังนั้นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบการยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต อาจไม่สามารถเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า การเลิกจ้างอดีต ผอ.อภ.ทำเป็นระบบ มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นำเข้าพิจารณาในบอร์ด อภ.  12 คนลงมติเห็นชอบ ก่อนเสนอ รมว.สาธารณสุข นำเข้า ครม. จึงเชื่อมั่นในหลักฐาน พยานและเหตุผล  ที่เลิกจ้างเพราะบริหารบกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายซึ่งสามารถชี้แจงได้ ข้อสำคัญประเด็นความเสียหายบอร์ด อภ.จะตั้งคณะกรรมการละเมิดขึ้นมาพิจารณาเรียกค่าเสียหายไม่เฉพาะกรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนเท่านั้น ยังมีกรณียาโคลพิโดเกรล และโอเซลทามิเวียร์อีก ทุกคนมีสิทธิ์ฟ้องแต่ถ้าใช้สิทธิ์ไม่ถูกต้อง เมื่อฟ้องคนอื่นได้ก็มีสิทธิ์ถูกฟ้องกลับเช่นกัน ถ้ากล่าวหาคนอื่นไม่จริง ทั้งนี้ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ได้นัดคณะกรรมการตรวจสอบการเลิกจ้าง นพ.วิทิตและคณะกรรมการชี้แจงไปดูข้อมูลทั้งหมดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net