Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เป็นชื่อของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่จะเข้าฉายอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้ สร้างโดยผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นหนุ่ม ชื่อ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความน่าสนใจในฐานะหนังนอกกระแส ที่มีลักษณะสัจนิยม(realistic) ถ่ายภาพและบันทึกเหตุการณ์ตามที่เป็นจริง เป็นแบบสารคดีโดยไม่อาศัยเนื้อเรื่องแบบละคร หรืออาศัยดารานำที่เป็นหนุ่มหล่อสาวสวย เป็นเครื่องจูงใจ แต่ใช้การบอกเล่าหรือฟ้องสังคมด้วยเนื้อเรื่องที่ตรงไปตรงมา

ก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเป็นข่าวมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อสร้างเสร็จ แล้วกลายเป็นหนังที่ถูกเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ในวันที่ 23 เมษายน กลับมีข่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ได้พิจารณาห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในราชอาณาจักร โดยเห็นว่า เนื้อหาและภาพของภาพยนตร์นี้ก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิด กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อจึงไม่ควรอนุญาตให้เผยแพร่

เป็นการดีที่อีก 2 วันต่อมา คำสั่งห้ามฉายก็ถูกยกเลิกโดยคณะกรรมการพิจาณาภาพยนตร์ชุดใหญ่ เพียงแต่คณะกรรมการขอจัดหนังในเรท 18 พร้อมกันนั้น ผู้สร้างถูกขอร้องให้ดูดเสียงในช่วงต้นเรื่องความยาว 2 วินาที-ซึ่งเป็นประโยคที่พิธีกรบนเวทีในงานเคาท์เดาวน์รับปีใหม่ที่สี่แยกราชประสงค์-พูดว่า “เรามาร่วมเคาท์ดาวน์และร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา” ซึ่งฝ่ายผู้สร้างก็ยอมรับตามนั้น เพราะเห็นว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักของเรื่อง

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ เปิดฉากที่งานเคาน์ดาวน์ปีใหม่ พ.ศ.2554 แต่ก็ได้ย้อนเหตุการณ์เล่าไปถึงการกวาดล้างปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วย จากนั้น ภาพยนตร์ก็เล่าถึงเรื่องชีวิตของชายคนหนึ่ง ชื่อ อ๊อด ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลกุดเสลา อำเภอกันทรลักษณ๋ จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เขาพระวิหาร เล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ของอ๊อดที่มีการศึกษาไม่สูงนัก และใช้ชีวิตบวชเป็นเณรอยู่ถึง 4 ปี ก่อนที่จะสึก แล้วไปจับใบแดง ต้องเข้าเป็นทหารประจำการ หลังจากที่ต้องฝึกฝนอย่างหนักแล้ว ก็ถูกส่งไปประจำการที่สามจังหวัดภาคใต้ จากนั้น ก็ได้เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกส่งมาปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯด้วย ทั้งที่ญาติพี่น้องและชาวบ้านสนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงแทบทั้งสิ้น แต่อ๊อดก็ต้องมาปฏิบัติตามหน้าที่

ในกรณีนี้ เท่ากับว่าภาพยนตร์ได้พยายามเล่าเรื่องการปราบปรามคนเสื้อแดงในอีกทัศนะหนึ่ง ทั้งยังได้ใส่ข้อความเพื่อเสนอทัศนะเกี่ยวกับคนเสื้อแดงต่อผู้ชม เช่นเล่าว่า ที่ราชประสงค์"เคยมีการปิดล้อมสังหารหมู่ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด" และว่า “รัฐบาลไทยในสมัยนั้นอ้างว่าเป็นการกระทำของมือที่สาม เพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายรัฐบาล” แต่“กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและผู้สนับสนุนเชื่อว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลและทหาร” จากนั้นก็อธิบายต่อไปว่า “ชาวกรุงเทพฯและผู้ไม่สนับสนุนหลายคนกล่าวชื่นชมรัฐบาลและทหาร” ขณะที่ “ชาวต่างจังหวัดถูกปรามาสว่าโง่ เห็นแก่เงิน”

แต่นั่นยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ เรื่องสำคัญที่สุดที่ภาพยนตร์เล่าก็คือ ผลกระทบของความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร ที่มีต่อประชาชนในพื้นที่กันทรลักษณ์ อันเป็นมุมมองที่คนเมืองและกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มรักชาติที่สนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืนไม่เคยคำนึงถึง เพราะเมื่อสถานการณ์ดึงเครียดและเกิดการสู้รบตามพรมแดน ประชาชนทั้งสองฝากพรมแดนได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ต้องเสี่ยงกับกระสุนปืนร้ายแรงที่ทหารสองฝ่ายยิงตอบโต้กัน และต้องอพยพออกจากเขตพื้นที่อันตราย ดังนั้น ชาวบ้านจึงมีความพอใจมากกว่า ในการเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วทำให้การเผชิญหน้าระหว่างประเทศยุติลง อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาได้ชีวิตปกติกลับคืนมา

ภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงยังไปไกลกว่านั้น เพราะยังได้เล่าเรื่องความขัดแย้งเดียวกันในความเชื่อและเรื่องเล่าของประชาชนฝ่ายกัมพูชาที่อุดรมีชัยด้วยว่า ฝ่ายไทยต่างหากที่พยายามบุกรุกและโกงดินแดนชองกัมพูชาตลอดมา จนถึงขนาดว่า อาศัยเงื่อนไขที่กัมพูชามีสงคราม ย้ายหลักพรมแดนตามใจชอบ เช่นกล่าวว่า “หลักเขตไม่ได้เดินย้อนกลับไปทางฝั่งไทย แต่มันเขยิบมาทางฝั่งของเรา” และทหารไทยก็เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีกัมพูชาก่อน ฝ่ายกัมพูชาจึงเป็นสู้เพื่อปกป้องพรมแดนและชีวิตของประชาชน และยังลงท้ายเรื่องด้วยการสำรวจถนนสายใหม่ที่ขึ้นเขาพระวิหารจากฝ่งกัมพูชา ที่เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รับทราบในไทย

นัยยะที่ภาพยนตร์นี้พยายามสะท้อนก็คือ เส้นเขตแดนระหว่างประเทศเป็นเพียงสิ่งสมมุติ แต่ก็กลายเป็นเส้นแบ่งประชาชนให้ขัดแย้งกัน ทั้งที่ประชาชนทั้งสองฝากพรมแดนต่างก็พูดภาษาเขมรเช่นเดียวกัน และประชาชนสองฝ่ายก็ปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติมากกว่าที่จะมีกรณีพิพาทกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Boudery ซึ่งหมายถึงเขตแดน นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้สร้างภาพยนตร์ได้อธิบายว่า “หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของเขตแดน แต่ความจริงแล้วตามความคิดของผมหมายถึงเขตแดนตามความคิดของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนำเสนอของตนในตัวภาพยนตร์แล้วจะพยายามนำเสนอให้รอบด้านให้มากที่สุด ให้ตัวละครแต่ละคนได้มีโอกาสมากที่สุด”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นสารคดีอันน่าสนใจ อย่างน้อยที่สุดก็คือการนำพาสาธารณชนชาวไทยไปรับรู้มุมมองของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งถือเป็นงานสร้างสรรค์อย่างง่าย ที่จะทำมาซึ่งประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net