Skip to main content
sharethis

ดิ อิโคโนมิสต์ ชี้ กระแสตื่นตัวในหมู่ชนชั้นกลางและเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เอื้อต่อการกระจายข้อมูล ทำให้เกิดการทำตามกันอย่างเรื่องหน้ากาก V และเหตุการณ์ประท้วงหลายแห่งทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาทั้งในบราซิล, ตุรกี, อินโดนีเซีย ฯลฯ 

29 มิ.ย. 2013 -  เว็บไซต์ The Economist นำเสนอบทความชื่อ "The march of protest" เกี่ยวกับกระแสการประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บางแห่งมีการใช้หน้ากาก กาย ฟอว์กส์ จากตัวละคร V ในการ์ตูนยุค 1980 ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มกลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้นิรนาม" (Anonymous)

โดยการประท้วงในแต่ละที่มีที่มาต่างกัน เช่น ในบราซิลเริ่มต้นมาจากการประท้วงต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง, ในตุรกีเริ่มจะการประท้วงโครงการก่อสร้างที่มีการรื้อถอนสวนสาธารณะ, อินโดนีเซียมีการประท้วงการขึ้นราคาเชื้อเพลิง, ในบัลแกเรียเป็นการประท้วงการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกเดียวกันในรัฐบาล ส่วนในเขตประเทศยุโรปก็มีการประท้วงต่อต้านนโยบายจำกัดงบประมาณ (austerity) ขณะที่ปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" ในตอนนี้ก็กลายเป็นการประท้วงโดยถาวรในแทบทุกเรื่อง ผู้ประท้วงแต่ละกลุ่มต่างก็มีความไม่พอใจในแบบของตัวเอง

แต่กระนั้นในบทความกล่าวว่า ผู้คนก็ยังคงมีลักษณะของการเรียกร้องร่วมกัน ผู้ชุมนุมก็มีลักษณะคล้ายกัน แบบการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นในปี 1848, 1968 และ 1989 แม้ว่าการประท้วงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเกิดการรวมตัวอย่างรวดเร็ว ในยุคนี้มีความตื่นตัวของประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ และผู้ชุมนุมก็มักจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางธรรมดาๆ ไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ที่มีข้อเรียกร้องเรียงกันเป็นรายการ พวกเขามีทั้งความสนุกสนานและความโกรธในการกล่าวประณามการทุจริต, ความไร้ประสิทธิภาพ และความจองหองของผู้บริหารประเทศ

ไม่มีใครรู้ว่าปรากฏการณ์ในปี 2013 จะเปลี่ยนโลกไปอย่างไรหรือแม้กระทั่งจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือไม่ ในปี 1989 สหภาพโซเวียตคลอนแคลนและล่มสลาย แต่ในปี 1848 ที่มาร์กซ์ เชื่อว่าเป็นกระแสการปฏิวัติชนชั้นแรงงานครั้งแรกก็ต้องแปลกใจกับการเบ่งบานของระบบทุนนิยมในอีกหลายทศวรรษต่อมา และในปี 1968 ที่ดูเหมือนจะเป็นแนวถอนรากถอนโคนก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศมากกว่าเรื่องการเมือง แม้ว่าในตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ปี 2013 จะนำไปสู่อะไร แต่สำหรับนักการเมืองที่พยายามใช้วิธีการแบบเก่านั้น มันไม่ใช่ข่าวดีเลย


จากโลกออนไลน์มาสู่ท้องถนน

จังหวะของการประท้วงถูกขับเคลื่อนด้วยความเร่งจากการพัฒนาเทคโนโลยี การที่หน้ากาก V ปรากฏขึ้นทั้งในบราซิลและตุรกีเป็นเพราะว่าการประท้วงมีการจัดตั้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีทั้งการกระจายข้อมูลข่าวสาร การสนับสนุนให้เลียนแบบกัน และทำให้เกิดเป็นแฟชั่น คนที่มีสมาร์ทโฟนต่างก็เผยแพร่ข่าวสารแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ข่าวสารที่น่าเชื่อถือเสมอไป เมื่อตำรวจจุดไฟเผาที่พักผู้ชุมนุมในสวนสาธารณะเกซีเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ในกรุงอิสตันบูล ข่าวเหตุการณ์นี้ก็ไปปรากฏในทวิตเตอร์ทันที หลังจากที่ชาวตุรกีพากันออกไปประท้วงบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจก็มีการสุมไฟใส่ข่าวว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะมีบางเรื่องกลายเป็นเรื่องไม่จริง แต่มันก็ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นที่นิยมพูดถึงในการชุมนุมไปแล้ว

นอกจากนี้การประท้วงยังไม่ได้มาจากการจัดตั้งโดยสหภาพฯ หรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา บางกรณีเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเป้าหมายของตัวเอง เช่น กลุ่มที่ต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารในเซา เปาโล แต่เมื่อข่าวสารแพร่ออกไปเร็วมาก ทำมให้ประเด็นหลักๆ ของการประท้วงเปลี่ยนไป ซึ่งโดยตัวมันเองทำให้การประท้วงมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันการขาดการจัดการก็ทำให้วาระในการชุมนุมดูไม่แน่ชัด การประท้วงในบราซิลกลายสภาพเป็นการกล่าวประณามทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นไปจนถึงบริการสาธารณะ หรือในบัลแกเรียเมื่อรัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมด้วยการยกเลิกการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายความมั่นคงคนใหม่ แต่มวลชนก็ไม่ฟังรัฐบาลแล้ว

บรรยากาศของนักกิจกรรมเช่นนี้อาจจะหายไปเร็วเท่ากับตอนที่มันเกิดขึ้นซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกับกลุ่มผู้ประท้วง Occupy ที่เคยปักหลักชุมนุมในหลายๆ เมืองของสหรัฐฯ เมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ผู้ประท้วงมีความรู้สึกไม่พอใจอย่างลึกซึ่งจากที่เคยถูกกระทำมา ในอียิปต์มีความผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้นในรัฐบาลทุกระดับทำให้การประท้วงในอียิปต์กลายเป็นการต้านรัฐบาล ขณะที่ในยุโรปเป็นเรื่องของการต่อสู้กับการลดรายจ่ายด้านงบประมาณ โดยทุกครั้งที่มีการตัดงบประมาณครั้งใหม่ เช่นล่าสุดคือสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของกรีซ ก็จะทำให้เกิดการประท้วงขึ้นอีกครั้ง

ในบางครั้งเหตุการณ์ก็มาจากความรู้สึกถูกกีดกันจากทรัพยากรความมั่งคั่งรอบตัว เช่นการก่อจลาจลของกลุ่มผู้อพยพในย่านชานเมืองของสวีเดนเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หรือเหตุการณ์จลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่นอังกฤษในปี 2011 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่าสวีเดนมีอัตราการว่างงานของเยาวชนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานทั่วไป กลุ่มวัยรุ่นในอังกฤษก็ได้รับการศึกษาที่แย่และมีการเปรียบเทียบสถานะ

เมื่อเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตดีขึ้นทำให้ผู้คนคาดหวังว่าคุณภาพชีวิตของตนจะได้รับการพัฒนาชึ้นด้วย ความมั่งคั่งนี้จะถูกนำไปใช้กับบริการสาธารณะและในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมเช่นในบราซิลก็จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน แต่ในตอนนี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจกำลังอยู่ในอันตราย อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของบราซิลลดลงจากร้อยละ 7.5 ในปี 2010 เหลือ ร้อยละ 0,9 ในปี 2012 ในอินโดนีเซียซึ่ง GDP ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 5,000 ดอลลาร์ (ราว 150,000 บาท) ต่อหัว การขึ้นราคาเชื้อเพลิงก็ทำให้ครอบครัวคนธรรมดาทั่วไปรู้สึกสูญเสีย

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของความคาดหวังทางการเมืองจากกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชนผู้มีการศึกษาในอินเดียมากันออกมาเดินขบวนในหลายๆ เมืองหลังเกิดเหตุข่มขืนหมู่นักศึกษาแพทย์วัย 23 ปี พวกเขาประท้วงที่รัฐไม่มีการคุ้มครองผู้หญิงที่ดีพอ ในช่วงปี 2011 ก็มีการประท้วงใหญ่กว่าเมื่อเหล่าชนชั้นกลางลุกขึ้นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกระดับ

The Economist เปิดเผยข้อมูลว่าประเทศตุรกีมีนักศึกษาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ตั่งแต่ปี 1995 ชนชั้นกลางหนุ่มสาวเหล่านี้รู้สึกต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมเชิงศาสนาของนายกฯ เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน ผู้สนับสนุนการอยู่แบบครอบครัวใหญ่และมีการควบคุมแอลกอฮอล ขณะที่ประชาชน 40 ล้านคนในบราซิลที่ตะเกียกตะกายออกมาจากความยากจนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการใช้เงินภาษี พวกเขาต่างต้องการบริการสาธารณะ แต่กลับได้รับสนามกีฬาที่ราคาสูงเกินจริงมาแทน


เผด็จการต้องจ่ายแพงกว่า

เมื่อถามว่าแล้วการประท้วงในปีนี้จะจบลงอย่างไร หากตอบแบบมองโลกในแง่ร้ายก็คือประชาธิปไตยจะยากขึ้น เมื่อการพยายามแบ่งสรรคทรัพยากรให้กลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มคงยุ่งยากขึ้นหากมีการประท้วงตามท้องถนนในอีกไม่กี่วัน นั่นหมายความว่าในเขตยุโรปจะร้อนระอุขึ้นช่วงฤดูร้อนนี้ จนถึงบัดนี้นักการเมืองในยุโรปยังสามารถหาทางบ่ายเบี่ยงได้อยู่ (เช่นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในปารีสมาจากกลุ่ม "Frigide Barjot" ซึ่งเป็นกลุ่มคาโธลิกที่ประท้วงต่อต้านการแต่งงานของเกย์) แต่ไม่ว่ารายจ่ายสาธารณะลดลงต่ำกว่า GDP ร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า การขาดเสถียรภาพทางสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในจุดๆ หนึ่งเหล่าผู้นำในยุโรปก็จะเริ่มตัดงบประมาณที่ใช้จ่ายมากเกินไปสวัสดิการสังคมและต้องเผชิญความอ่อนแอของสถาบันของยุโรป แล้วความวุ่นวายจะตามมา

แต่โชคดีที่ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เก่งในการปรับตัว เมื่อนักการเมืองยอมรับว่าประชาชนต้องการสิ่งที่ดีขึ้น และผลโหวตก็ทำให้พวกเขาพอใจ สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปได้ เช่นการประท้วงการทุจริตในอินเดียก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยทันที แต่พวกเขาได้สร้างวาระร่วมกันของชาติขึ้นมา ทำให้มีคำสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปในด้านนี้ ส่วนในบราซิล ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟ ก็ต้องการให้มีการอภิปรายระดับชาติในเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องนี้ไม่ได้มาอย่างรวดเร็วหรือง่ายดาย แต่การประท้วงก็ช่วยพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นได้ แม้กระทั่งกับสหภาพยุโรปเอง

แม้ว่าบางคนในประเทศประชาธิปไตยอาจอิจฉาที่เหล่าเผด็จการมีอำนาจในการยับยั้งการชุมนุมประท้วงได้ ในจีนประสบความสำเร็จด้วยการป้องกันไม่ให้การประท้วงระดับท้องถิ่นขยายตัวเป็นการประท้วงระดับชาติ ซาอุดิอาร์เบียใช้วิธีการติดสินบนผู้ต่อต้านให้เงียบลง ในรัสเซียใช้การข่มเหงด้วยการขู่จ่ายค่าปรับและจับเข้าคุก แต่ในระยะยาวกลุ่มเผด็จการอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงกว่า การกำลังขับไล่ผู้คนออกจากท้องถนนจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งเออร์โดแกนน่าจะรู้ในเรื่องนี้ และเช่นที่รัฐบาลอาหรับได้เรียนรู้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ระบอบเผด็จการไม่เหลือช่องทางให้ผู้ประท้วงได้ระบายความโกรธแค้น ผู้นำของจีน รัสเซีย และซาอุฯ ก็คงรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างเมื่อได้เห็นการต่อสู้ของเหล่าประเทศประชาธิปไตยในปี 2013

เรียบเรียงจาก

The march of protest, The Economist, 29-06-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net