Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสำรวจข้อมูลเพื่อศึกษาคุณสมบัติปัจจัยความพร้อมสำหรับการดำเนินกิจการวิทยุชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วพบว่า ครั้งหนึ่งกิจกรรมการสื่อสารอันเป็นการสะท้อนสิทธิการสื่อสารและการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่อันเคยคึกคักในนามวิทยุชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนได้กำลังจัดรูปตัวเอง หาที่ทางให้ตัวเองและไม่ได้ฟูฟ่องเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา
 
ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า มีผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงที่เข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตประมาณ 7,000 ราย และไม่เข้าสู่กระบวนการอีกกว่า 1,000 รายนั้นสะท้อนการเติบโตอย่างเต็มที่ของกิจการวิทยุกระจายเสียง แต่ไม่ใช่วิทยุชุมชน
 
แต่เมื่อพิจารณาตามประเภทการประกอบกิจการคือ บริการธุรกิจ บริการสาธารณะ และบริการชุมชน ก็จะพบว่า “บริการชุมชน”มีสัดส่วนที่น้อยกว่าบริการประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด หรือแม้แต่เทียบกับบริการสาธารณะที่มีองค์กรด้านศาสนาและหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาจับจองอย่างแน่นหนาและครอบคลุมพื้นที่ก็พบว่า วิทยุชุมชนมีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า
กล่าวสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ครั้งหนึ่งวิทยุชุมชนตามหลักการ “วิทยุประชาธิปไตย” เคยเป็นโครงการนำร่องของการชูธงปฏิรูปสื่อที่กระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวเชิงประเด็นไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรอื่น ๆ ซึ่งก็คือปัญหาหลักของผู้คนบนดินแดนที่ราบสูง
 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เครื่องมือการสื่อสารที่เคยเฟื่องฟูในช่วง 2544 - 2548 ก็กลายเป็น “ภาระ” อันล้นเกินของขบวนการประชาชนที่เรียกร้องสิทธิอันเกี่ยวข้องกับสิทธิและการทำมาหากินผู้ฝันถึงการเครื่องมือการสื่อสารที่จะขยายแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน การปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น หรือแม้แต่การใช้สิทธิการสื่อสาร 
 
ทั้งนี้ เพราะทั้งหมดที่เป็นวิทยุชุมชนนั้นล้วนต้องมี “ต้นทุน”สำหรับการจัดการ ต้องใช้งบประมาณและต้องการคนผู้มีจิตรอาสาอย่างเข้มข้นจำนวนมากพอเพื่อมาอยู่ในกระบวนการผลิตเนื้อหาเพื่อนำพาวิทยุชุมชนให้ดำเนินไปได้ นั่นก็หมายความว่า วิทยุชุมชนแทนที่จะเป็นเครื่องมือก็กลับกลายเป็นภาระของขบวนประชาชนในหลายพื้นที่
 
การหายตัวไปจำนวนหนึ่งของวิทยุชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เคยเฟื่องฟูนั้นมาจาก การต่อสู้อันยาวนานของกระบวนการปฏิรูปสื่อตามแนวอุดมการณ์นั้นมันมาพบทางตันเมื่อพบว่า องค์กรอิสระที่จะมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง แม้จะมีความพยายามหลาย ๆ ครั้ง แต่สุดท้ายก็พบว่า คนที่ถือธงนำขบวนปฏิรูปสื่อวิทยุชุมชนเองต่างเผชิญชะตากรรมที่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร
 
มิหนำซ้ำการเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและขยายตัวแบบไร้ทิศทาง ไร้คนจัดระเบียบคลื่นของวิทยุบริการธุรกิจที่กระจายตัวอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมานั้นมันได้สร้างปัญหาสั่นคลอนคลื่นวิทยุชุมชนที่มีความเชื่อมั่นในแนวทาง “ไม่แสวงหางกำไรในทางธุรกิจ ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมือง” ของบางกลุ่ม บางสถานีจนต้องไขว้เขวและบางส่วนหันเหจากเส้นทางวิทยุประชาธิปไตยไปสู่วิทยุธุรกิจ
 
การมาถึงของวิทยุธุรกิจที่เรียกตัวเองว่า วิทยุชุมชนแต่มีโฆษณา พร้อมกำลังส่งสูง เสาสูงนั้น มันได้สร้างปัญหาคลื่นทับซ้อน ปัญหาคลื่นแทรก จนเบียดขับและดับฝันวิทยุชุมชนผู้ยึดมั่นเสาสูง 30 เมตร กำลังส่ง 30 วัตต์ รัศมีกระจายเสียง 15 กิโลเมตรให้ตายกลางอากาศจำนวนมาก
 
ประกอบกับการมาถึงของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มาพร้อมกับข่าวด่วนพิเศษและการเข้มงวดกวดขันการสื่อสารทุกระนาบนั้นได้มีส่วนกำราบการเติบโตของวิทยุชุมชนพอสมควร
 
แกนนำหลายพื้นที่ที่มีวิทยุชุมชนของตนเองได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากหน่วยงานความมั่นคง และถูกสะกดรอยตามยามมีความเคลื่อนไหว และมันค่อย ๆ ทำลายความกล้าหาญที่จะสื่อสารแม้แต่ประเด็นการต่อสู้ที่ตนต่อสู้กันมายาวนาน 
 
หลังรัฐประหาร บางส่วนปิดตัวไปอย่างเงียบงัน บางส่วนหันไปร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง บางส่วนเปลี่ยนแนวทางไปเป็นวิทยุธุรกิจขายน้ำผลไม้สรรพคุณล้นเหลือรักษาสารพัดโรค
 
เมื่อคณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มวลชนผู้เฝ้ารอการมาถึงขององค์กรอิสระที่จะมาจัดสรรคลื่นความถี่จึงได้เห็นโฉมหน้าของ กสทช. ในเวลาต่อมา แต่ทว่า บางส่วนไม่ได้คงอยู่ในแนวทางวิทยุชุมชนอีกต่อไป บางส่วนล้มหายตายจากไปก่อน
 
การมาถึงของ กสทช.และเงื่อนไขทางเทคนิคที่ปลดล็อค 30 – 30 – 15 เป็นกำลังส่งไม่เกิน 500 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 60 เมตรนั้นมันได้ปลดปล่อยวิทยุชุมชนที่เฝ้ารอการส่งเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน แต่มันก็อาจจะสายเกินไปสำหรับผู้ที่หล่นหายไปพร้อมกับการมาถึงของวิทยุธุรกิจ วิทยุศาสนาที่มีคลื่นแรงและไกลและไม่สนใจว่าคลื่นจะทับซ้อนกับคลื่นใครในปี 2548 และจากไปหลังจากการมาถึงของข่าวด่วนพิเศษในคืนรัฐประหาร19 กันยายน 2549
 
สภาพปัจจุบัน วิทยุชุมชนของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นกระจายตัวอย่างบางเบาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง และยังคงอบอุ่นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่แอ่งสกลนคร 
 
ความเป็นอยู่ของวิทยุชุมชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจนั้น บางส่วนได้อาศัยเงินตระกูล ส ทั้งจากการเขียนโครงการเสนอ สสส การเข้าร่วมกับเครือข่ายสมัชชาปฏิรูป เพื่อได้งบประมาณโครงการมาหล่อเลี้ยงสถานีและมีเนื้อหาจากแหล่งทุนมาส่งกระจายเสียงผ่านคลื่นวิทยุชุมชน บางส่วนซึ่งน้อยมากได้รับการสนับสนุนจากชุมชนหล่อเลี้ยงตัวเอง บางส่วนยังอาศัยใบบุญหลวงพ่อเพื่อบรรเทาเยียวยาค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ค่าอินเตอร์เน็ต บางส่วนควักเงินส่วนตัวเพื่อประคับประคองสถานี
 
ความเป็นไปของวิทยุชุมชนที่ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองนั้น เหมือนบางส่วนเข้าใจกันไปเองว่า เรื่องการเมือง เรื่องความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นต่างทางการเมืองนั้นไม่สามารถพูดออกอากาศได้ ต้องเน้นความเป็นกลาง แต่ก็กลับพบว่า สารจากบรรดาแหล่งทุนตระกูล ส ทั้งหลายนั้นมันกลายเป็นวาทกรรมหลักในสื่อเล็กๆที่เรียกว่าวิทยุชุมชนจนล้นเกินในบางรายการ
 
บางครั้ง เมื่อฟังวิทยุชุมชนที่ยังยืนหยัดเป็นวิทยุชุมชนนั้น แม้เราจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดแบบชาวบ้าน แต่เราก็แทบไม่ได้ฟังภาษาชาวบ้านอีกต่อไป เพราะมันเต็มไปด้วยคำขบวน คำใหญ่ ๆ คำของหัวหน้า คำทางวิชาการ คำที่พูดอย่างไรก็ดูดี คำที่ฟังแล้วอัศจรรย์ใจ แต่มันเป็นคำที่ห่างไกลเหลือเกินจากวิถี จากชีวิตของผู้คนที่อยู่รายรอบสถานีวิทยุชุมชน สุดท้าย แทนที่วิทยุชุมชนจะทำหน้าที่รับใช้คนในชุมชน มันกลับกลายไปรับใช้แหล่งทุนเหล่านั้น 
 
นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งใช่ไหม ที่ทำให้วิทยุชุมชนเล็กลงและลดลงไปเอง?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net