Skip to main content
sharethis

อุตสาหกรรมยาล่ารายชื่อผู้ป่วย 10,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายที่จัดทำโดยบริษัทยา ห้าม อย.ต่อรองราคายา ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา เรียกร้องบริษัทยาข้ามชาติยุติการใช้ผู้ป่วยเป็นเครื่องมือ


(3 ก.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชมรมสายใยความหวังผู้ป่วย ซึ่งสนับสนุนโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมบริษัทยาข้ามชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ได้ออกจดหมายเชิญชวนให้สมาชิกร่วมลงรายชื่อเสนอร่าง พรบ.ยา พ.ศ...(ฉบับเครือข่ายประชาชนรักษ์สุขภาพ) โดยมีสาระสำคัญไม่ให้ อย.ทำหน้าที่ต่อรองราคายา

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นว่า วิธีนี้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้มาแล้วทั่วโลกเพื่อแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง โดยใช้เงินเป็นตัวล่อสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มเพื่อพูดแทนบริษัทยาข้ามชาติ หากจำกันได้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีความพยายามที่จะยุบคณะอนุกรรมการกำหนดราคากลางยาและพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อไม่สำเร็จสมาคมพรีม่าก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการต่อรองราคายา แต่ขณะนี้ เขากำลังหลอกใช้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งและสถาปนาคนของตัวเองในนามผู้ป่วยเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทยา

“ต้องตั้งคำถามในเชิงจริยธรรม ล้วงเงินจากกระเป๋าซ้าย แล้วก็ทำทีเป็นเทวดา มาสนับสนุนการทำงานผู้ป่วย เงินมาจากการฉกฉวยเอาประโยชน์จากผู้ป่วย น่าตั้งคำถามกับกระบวนการสนับสนุนว่า ทำเพื่ออะไร เพื่อรักษาราคาแพงเอาไว้ ไม่ให้รัฐต่อรองราคายา ล้างสมองว่า ยาต้องลงทุนวิจัย ห้ามต่อรอง แพงๆ นั่นแหละเหมาะสมแล้ว ที่ผ่านมา คนทำงานด้านเอดส์ถูกยื่นข้อเสนอจากบริษัทยามาตลอด ให้เงิน ให้ทำกิจกรรม เสนอให้ไปดูงานต่างประเทศ เสนอ ‘ความร่วมมือวิชาการ’ เพื่อให้ข้อมูลโดยตรงกับผู้ป่วย ซึ่งเราพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย แต่เราไม่รับเงินบริษัทยา เพราะเงินเหล่านั้นคือเงินของเราที่เขาขโมยไปในรูปของราคายาแพงๆ มีบทเรียนช่วงแรกๆ ที่บางองค์กรรับ แต่พบว่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความเอารัดเอาเปรียบของบริษัทยา เรื่องราคายา คุณพูดได้อย่างไม่เต็มปากเต็มคำ ฉะนั้น 20 ปีของการทำงานเอดส์ในประเทศไทย แทบไม่มีการรับเงินบริษัทยา

เรื่องสำคัญคือ ในระบบสุขภาพของประเทศ ต้องได้ยาที่ดีในราคาที่เหมาะสม การได้ยาในราคาที่เหมาะสม ไม่เคยได้มาจากการสำนึกรู้เองของบริษัทยาแต่ได้มาด้วยการต่อรอง มีกลไกสำคัญที่รู้โครงสร้างราคา เจรจาต่อรองให้มีการลดราคา มีกลไกบัญชียาหลักที่คำนึงถึงประสิทธิภาพ และราคา กลไกแบบนี้สำคัญ แต่บริษัทยาข้ามชาติกำลังจะยื่นกฎหมายในนามผู้ป่วยเพื่อทำลายกลไกสำคัญในการต่อรองราคายาเหล่านี้ เท่ากับการฆ่าผู้ป่วย และที่สำคัญจงใจจะแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วทั่วโลก”

นอกจากนี้ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดการเด็ดขาดกับผู้ผลิต-นำเข้ายาปลอมว่า หากเป็นยาปลอมตาม พ.ร.บ.ก็ต้องสนับสนุน แต่เกรงว่า จะพยายามขยายนิยามยาปลอมให้ครอบคลุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามที่พรีม่าผลักดันมาตลอด และยังเห็นว่า มีความพยายามสอดแทรก ระบบที่เรียกว่า Patent Linkage ให้ อย.ทำหน้าที่เป็นตำรวจทรัพย์สินทางปัญญาตามความต้องการของสหรัฐฯด้วย

ทางด้าน ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมการขายยาสู่บุคลากรสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบต่อการสั่งจ่ายยา หรือจัดหายาทำให้เกิดการใช้ยาไม่สมเหตุผล และยังทำให้ยาราคาแพงขึ้นจากต้นทุนการส่งเสริมการขายยา  ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่เสนอโดยบริษัทยาข้ามชาติครั้งนี้  จึงเป็นการดิ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจตนเองโดยแท้   ที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของภาคธุรกิจที่ให้ตัดส่วนของการควบคุมการส่งเสริมการขายยาออกไปจากร่าง พ.ร.บ.ยา ในหลายกรรมหลายวาระ ที่ชัดเจนที่สุดคือร่างกฎหมาย ฉบับของภาคธุรกิจ ที่ไปอ้างใช้ชื่อกลุ่มผู้ป่วยมาเป็นเจ้าของ ทั้งที่กลุ่มอุตสาหกรรมยาเป็นผู้ยกร่างและให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งให้แก่กลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

มีงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศ ที่แสดงความห่วงใยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ประกอบวิชาชีพ แม้แต่สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ยังประกาศกฎหมาย ให้เปิดเผยมูลค่าการสนับสนุนเงินแก่แพทย์เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานระหว่างบริษัทยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดกระบวนการ จัดการระบบธรรมาภิบาล ให้มีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 

“เรื่องแรกที่ต้องทำ หากอุตสาหกรรมยาจริงใจ คือ การประกาศจุดยืนด้านจริยธรรม ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ยอมรับและนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยมาปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้เป็นเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลในทางปฏิบัติอย่างทุกวันนี้ ทั้งที่ผ่านมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2555

ส่วนประเด็นเรื่องผู้ป่วยที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยา  ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อยๆ  และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่า หากให้การสนับสนุน จะต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝง มิฉะนั้นแล้ว เป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างยิ่ง  ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้ป่วยในเรื่องยาหลายประเด็น”

ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายากล่าวว่า ยาในประเทศไทยที่เป็นยาผูกขาด (มีสิทธิบัตร) จำนวนมาก มีราคาแพงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว  ทั้งนี้กลไกการควบคุมราคายาตามกฎหมายแบบหลวมๆ ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการให้แสดงราคาที่จำหน่ายเท่านั้น จึงเป็นที่ชื่นชอบของธุรกิจยา เพราะเป็นการเปิดอิสระในการกำหนดราคายา โดยภาคอุตสาหกรรม และไม่มีกระบวนการควบคุมราคาใดๆ เลย

“ไม่มีการประชุมคณะอนุกรรมการใดๆ ดังนั้น จึงเป็นความพยายามที่จะยังยืนยันมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพนี้ ในร่างกฎหมาย ฉบับประชาชนปลอมๆ ทั้งที่ในประเทศผู้ผลิตยาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ล้วนมีระบบการควบคุมราคายาที่เข้มแข็งทั้งสิ้น แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตยาก็ตาม ดังนั้น การมาพยายามทำให้กระบวนการควบคุมราคายาของไทยอ่อนแอลง ยิ่งจะความสร้างเสียหายให้กับทั้งประเทศไทยและคนไทย ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญใหม่ที่ อย. ดูแลอยู่ในปัจจุบันนั้นก็เป็นระบบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว และก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการมียาชื่อสามัญใหม่เข้าสู่ท้องตลาดนั้น เป็นผลดีกับผู้ป่วยเพราะมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์มีเพียงบริษัทยาต้นแบบที่ต้องลดราคายา ลดกำไรของตนเองลงมาแข่งขัน ข้อเสนอนี้จึงไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วยอย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ สาระสำคัญในเอกสารของชมรมสายใยความหวังผู้ป่วยระบุว่า 1.ไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้ผลิต นำเข้า ขายยาปลอมต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด 2.ให้ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายยาเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่ยกเว้นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ใหม่ๆ 3.จำแนกบทบาทของ อย.กับกรมการค้าภายในให้ชัดเจน โดยให้ อย.เน้นบทบาทประเมิน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของยา ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบเรื่องราคายาเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการรักษาใหม่ๆ 4.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญใหม่ เพื่อป้องกันกรณีพิพาทในการละเมิดสิทธิบัตร 5.เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการยาแห่งชาติโดยเฉพาะจากองค์กรผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การรักษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net