Skip to main content
sharethis

 

คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ปฏิวัติอาหรับสปริง

ย้อนไปตั้งแต่ช่วงปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" กลุ่มประชาชนชาวอียิปต์ได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือในตูนิเซีย ทำให้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2011 ประชาชนจำนวนมากในอียิปต์พากันลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานนับตั้งแต่ปี 1981 โดยในการประท้วงครั้งนั้นมีมวลชนจากหลากหลายแนวคิด ทั้งกลุ่มอิสลาม กลุ่มต่อต้านทุนนิยม กลุ่มชาตินิยม และกลุ่มเฟมินิสต์

หลังจากที่มีการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 คน และบาดเจ็บราว 6,000 คน ในวันที่ 11 ก.พ. 2011 มูบารัคก็ยอมออกจากตำแหน่ง และมีการมอบอำนาจให้กับกลุ่มสภาทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces หรือ SCAF) นำโดยโมฮาเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้น


ประท้วงสภาทหารฯ

แต่การประท้วงในอียิปต์ก็ยังคงไม่จบลงเท่านี้ หลังจากนั้นยังคงมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารหลังยุคมูบารัคโดยเริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 เม.ย. 2011 ในชื่อการประท้วง "ปกป้องการปฏิวัติ" โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารดำเนินการเปลี่ยนผ่านโดยเร็วและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องการปฏิวัติ โดยที่ก่อนหน้านี้สภาอียิปต์ได้ออกกฏหมายสั่งห้ามการชุมนุมและการหยุดงานประท้วง

การประท้วงรัฐบาลทหารดำเนินต่อมาในหลายๆ ชื่อ ซึ่งมักจะเป็นการประท้วงแบบนัดรวมตัวทุกๆ สัปดาห์ จนกระทั่งตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2011 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการพยายามสลายการชุมนุม และผู้ประท้วงก็เริ่มแข็งข้อต่อรัฐบาลทหารมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้ประท้วงที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารก็มาจากหลายกลุ่มทั้งกลุ่มคริสเตียนนิกายคอปต์ กลุ่มคนหนุ่มสาว กลุ่มสตรี เรื่องหลักๆ ของการประท้วงยังอยู่ที่ความไม่พอใจที่มีการเปลี่ยนผ่านช้าเกินไป เกรงว่ารัฐบาลทหารพยายามจะอยู่ในอำนาจ และเรื่องการลิดรอนเสรีภาพ

จนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค. 2012 มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในอียิปต์ และมีการจัดตั้งรัฐสภาทำให้สภาทหารสูงสุดของอียิปต์ถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้กับสภา


เลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่

ช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. 2012 อียิปต์เริ่มมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ แต่ในระหว่างช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องการสั่งยุบสภาฯ โดยศาลอียิปต์บอกว่ากฎหมายมาตราต่างๆ ที่ใช้ในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2011 ไม่สามารถใช้ได้และเรียกร้องให้มีการยุบสภาทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาทหารฯ กลับมามีอำนาจบริหารอีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศตัวสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 18 มิ.ย. 2012

มีการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีย์อีกครั้งในวันที่ 19-24 มิ.ย. 2012 มีส่วนหนึ่งมาเพื่อต่อต้านการสั่งยุบสภาของสภาทหารฯ ซึ่งเกรงว่าอำนาจของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจสภาทหารอย่างมากจะกลายเป็นการจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาเพื่อฟังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในวันที่ 24 มิ.ย. 2012 มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โดย โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 51.73 ขณะที่ อาห์เม็ด ชาฟิค ผู้สมัครอิสระได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 48.27

โดยอาห์เม็ด ชาฟิค คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีมูบารัคให้เป็นนายกฯ ในช่วงที่กำลังมีการลุกฮือ ก่อนจะลาออกอีกราวหนึ่งเดือนถัดมา มีบางคนมองว่าชาฟิคเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจากสมัยมูบารัค แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มคริสเตียนนิกายคอปต์ซึ่งต่อต้านผู้สมัครจากพรรคของกลุ่มมุสลิม

มอร์ซีกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่โดยเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2012
 

การงัดข้อกับศาลและสภาทหาร

ช่วงเดือน ก.ค. 2012 หลังจาก มอร์ซี ดำรงตำแหน่ง เขาก็มีคำสั่งให้ ส.ส. ที่ถูกยุบสภาในช่วงที่สภาทหารฯ อยู่ในอำนาจกลับมาเปิดประชุมสภาอีกครั้ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับการตัดสินใจในครั้งนี้ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการงัดข้อกันระหว่างฝ่ายผู้นำจากภราดรภาพมุสลิมและศาลอียิปต์

ในวันที่ 12 ส.ค. 2012 มอร์ซี ก็สั่งปลดนายพลทันทาวี และซามี อันนัน สองผู้นำกองทัพออกจากตำแหน่ง โดยมีมวลชนส่วนหนึ่งชุมนุมสนับสนุน ซึ่งการปลดผู้นำกองทัพจากสภาทหารฯ ทำให้มอร์ซีมีอำนาจนิติบัญญัติกลับคืนมา

ขณะเดียวกันในหมู่ประชาชนก็มีบางส่วนรู้สึกวิตกกับผู้นำอย่างมอร์ซีซึ่งเชื่อว่ามีกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหนุนหลัง คนเหล่านี้มักเป็นกลุ่มฆราวาสนิยม กลุ่มเสรีนิยม และกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายคอปต์ พวกเขากลัวว่าอียิปต์จะกลายเป็นประเทศอิสลามและขาดความหลากหลาย นักการเมืองฝ่ายฆราวาสนิยมอย่าง โมฮัมเหม็ด เอลบาราดาย ซึ่งล่าสุดกลายเป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายประท้วงต้านรัฐบาล ก็ไม่เห็นด้วยกับมอร์ซี

โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2012 ก็มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายซาลาฟีออกมาชุมนุมสนับสนุนให้มีการนำหลัก 'ชาริอะฮ์' (Sharia) มาใช้กับกฎหมายของอียิปต์


เริ่มชุมนุมต้านมอร์ซี

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2012 ก็มีประชาชนหลายพันหวนกลับมายังจัตุรัสทาห์รีย์ ซึ่งในคราวนี้เป็นการประท้วงต้านมอร์ซี หลังจากที่มอร์ซีออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเอง ในช่วงนั้นกลุ่มคณะตุลาการก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน

1 ธ.ค. 2012 มอร์ซี ประกาศวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ชุมนุมกลุ่มอิสลามออกมาแสดงการสนับสนุนที่มหาวิทยาลัยไคโร ขณะเดียวกันที่จัตุรัสทาห์รีย์ก็มีผู้ออกมาต่อต้าน

จนกระทั่ง 8 ธ.ค. 2012 มอร์ซี จึงยอมยกเลิกกฤษฎีกาพิเศษที่ให้อำนาจพิเศษแก่ตนเอง

ในวันที่ 15 และ 22 ธ.ค. 2012 จึงมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีผู้เห็นชอบร้อยละ 63.83 ผู้ไม่เห็นชอบร้อยละ 36.17

ในวันที่ 26 ม.ค. 2013 ประชาชนส่วนหนึ่งพากันมาชุมนุมครบรอบสองปีการปฏิวัติ โดยมีบางส่วนแสดงความไม่พอใจว่าแม้หลังจากการปฏิวัติขับไล่มูบารัคผ่านมาสองปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

การประท้วงยังคงมีขึ้นอยู่เนื่องๆ ในหลายวาระ รวมถึงการประท้วงต่อต้านการละเมิดทางเพศสตรีในที่ชุมนุม แต่การประท้วงส่วนใหญ่ยังเป็นการเน้นต่อต้านประธานาธิบดี มีรัฐมนตรีบางส่วนลาออกหลังเห็นเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม และบางครั้งความรุนแรงก็มาจากการปะทะกันของผู้ชุมนุมต่างฝ่าย หรือคนต่างนิกาย

และแม้ว่าก่อนหน้านี้มอร์ซีจะเคยสั่งยกเลิกกฎหมาย "หมิ่นผู้นำสาธารณรัฐ" สมัยมูบารัคและสั่งปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกจับในข้อหานี้ แต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2013 แบสเซม ยุสเซฟ นักล้อเลียนทางการเมืองชื่อดังของอียิปต์ก็เข้ามอบตัวจากข้อหาหมิ่นศาสนาอิสลามและประธนานาธิบดีมอร์ซี


การประท้วงใหญ่ล่าสุด-การรัฐประหาร

เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2013 ซึ่งการประท้วงดำเนินไปอย่างสงบจนกระทั่งมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกสังหาร

1 ก.ค. 2013 กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลส่วนหนึ่งได้เข้าไปทำลายอาคารที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร และในวันเดียวกัน กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเส้นตาย 48 ชั่วโมง ว่าจะมีการแทรกแซงหากรัฐบาลยังหาทางจัดการความขัดแย้งไม่ได้ รัฐมนตรี 4 คนประกาศลาออก

2 ก.ค. 2013 รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศลาออก ประธานาธิบดีมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมรับการขีดเส้นตายของกองทัพ บอกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาของตนเอง

3 ก.ค. 2013 ถึงกำหนดเส้นตาย มอร์ซีถูกสั่งกักตัวไว้โดยเชื่อว่าอยู่ที่ค่ายทหารของกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ รถถังเคลื่อนไปตามที่ต่างๆ และมีวางกำลังตามจุดสำคัญ จนกระทั่งผู้นำกองทัพประกาศแถลงการณ์ยกเลิกอำนาจของมอร์ซี และแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อาดลี มานซูร์ ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขและประชากรเปิดเผยว่ามีผู้ชุมนุมสนับสนุนมอร์ซีเสียชีวิต ทั้งนี้ภาพจากทวิตเตอร์ ของคาริม ฟาฮิม แสดงให้เห็นกลุ่มสนับสนุนศาสนาอิสลามออกมาเผชิญหน้ากับรถถังของทหาร จนกระทั่งฝ่ายทหารยอมล่าถอยออกไป โดยเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าาพวกเขาแค่ต้องการมาคุ้มครองแต่กลับถูกขับไล่ โดยในช่วงที่พวกเขาล่าถอยมีผู้สนับสนุนมอร์ซีตะโกนว่า "มอร์ซีเป็นประธานาธิบดีของพวกเรา"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net