ใช้รถตู้ผี ตายฟรี- บาดเจ็บจ่ายเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ไหวจะเคลียร์ อ่อนเพลียหัวใจ จริงๆ กับปัญหาการใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง ที่มีมากมายหลายหลากทั้ง ขับรถเร็ว ซิ่ง หวาดเสียว บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน สภาพรถทรุดโทรมไม่เหมาะสมกับการใช้งาน  แต่ปัญหาที่มีสะสมมานาน เหมือนโรคเรื้อรัง และดูเหมือนว่าจะมาแรงแซงทางโค้งขณะนี้ก็คือ “ปัญหารถตู้ผี” ที่ออกมาวิ่งกันเกลื่อนถนน หลอกหลอนผู้คนไปทั่วสารทิศ 

“รถตู้ผี”  คืออะไร   รถตู้ผีก็คือ รถที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อใช้รับส่งผู้โดยสารประจำทาง  แต่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  เพื่อเป็นรถยนต์ใช้ส่วนบุคคลแทน จุดสังเกตง่ายๆก็คือ สีของป้ายทะเบียน หากเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง จะเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง มีหมวดเลข 1 นำหน้า เช่น 10-19 แล้วตามด้วยตัวเลข 4 หลัก  ส่วนรถยนต์ตู้ส่วนบุคคลจะมีป้ายทะเบียนสีขาว และขึ้นต้นด้วยหมวดตัวอักษร รถตู้ประเภทนี้จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นรถตู้โดยสารประจำทางได้ หากนำมาใช้วิ่งบริการ เราจะเรียกว่า รถตู้ผี หรือ รถตู้เถื่อน นั่นเอง

หากถามว่าแล้ว รถตู้ผี เกิดมาได้อย่างไร คำตอบคือ เกิดมาจากระบบการจัดการขนส่งที่ไม่สมบูรณ์ การประกอบการขนส่งของเมืองไทยจะมีผู้รับสัมปทานเพียง 2 เจ้า คือ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) แต่เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีรถไม่เพียงพอกับการให้บริการ ทั้งสองหน่วยงานจึงออกใบอนุญาตเดินรถให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่นำรถเข้าร่วมวิ่งในเส้นทางต่างๆ ซึ่งเราจะเรียกรถเหล่านี้ว่า “รถร่วมบริการ” มีอายุการถือครองใบอนุญาต 7 ปี

แต่ที่น่าตกใจคือจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถนั้น กลับไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเอง ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือ มีรถโดยสารของตนเอง 1-5 คันเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่มีรถของตนเองอย่างเพียงพอจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ร้อยละ 2 เท่านั้น

ดังนั้นการประกอบการเดินรถในปัจจุบันจึงมีรูปแบบที่เรียกว่า “การนำรถเข้ามาร่วมวิ่งกับผู้ถือใบอนุญาต” ใครมีรถตู้แล้วอยากนำมาวิ่งรับขนคนโดยสารก็นำมาวิ่งร่วมได้ บางเส้นทาง 1 ใบอนุญาตแต่มีผู้ประกอบการกว่า 100 คน เลยทีเดียว และบางครั้งรถตู้ที่นำมาวิ่งให้บริการก็เป็น รถยนต์ตู้ส่วนบุคคล หรือเรียกว่า รถผี รถเถื่อน เพราะผู้ถือใบอนุญาตไม่มีการควบคุม บริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมาย ทำเรื่องผิดกฎหมายให้กลายเป็นความเคยชิน ให้บริการกันเป็นปกติเช่นเดียวกับรถโดยสารประเภทประจำทาง จนในที่สุดเรื่องผิดกฎหมายก็อาจกลายเป็นถูกกฎหมายในเวลาต่อมา

รถตู้ผี คือ รถตู้ที่ผิดกฎหมาย ปัญหาที่ตามมาจากการใช้บริการรถตู้ประเภทนี้ถ้าจะให้สาธยายสามวันเจ็ดวันก็คงบรรยายไม่ครบ แต่ถ้าจะจำกัดความให้สั้นกระทัดรัดก็คือ “ใช้รถตู้ผี ตายฟรี- บาดเจ็บจ่ายเอง จากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่นั่งรถตู้ผี แล้วประสบอุบัติเหตุ ระหว่าง ปี 2554-2556 (อุบัติเหตุ 83 ครั้ง เป็นรถผี 44 ครั้ง) พบว่า ปัญหาการใช้บริการรถตู้ผี มีดังต่อไปนี้

รถตู้ผี เป็นการนำรถมาใช้ผิดประเภท รถตู้ที่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน หรือ 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน เมื่อนำมารับส่งผู้โดยสาร 14-15 คน ประกันภัยก็จะรับประกันเท่ากับ 7 หรือ 12 คน เท่านั้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้ว ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็อาจไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

รถตู้ผี จะไม่นับว่าเป็นรถร่วมบริการที่ถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่รับผิดชอบก็คือ คนขับและเจ้าของรถเท่านั้น ซึ่งบางครั้ง คนขับและเจ้าของรถอาจเป็นคนเดียวกันอีก ไม่สามารถเกี่ยวร้อยไปยัง ผู้ถือใบอนุญาต (เจ้าของวิน) และ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)  ได้เลย สถานการณ์เช่นนี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะไม่ได้รับค่าชดเชย เยียวยา ที่เหมาะสม หรือไม่ได้เลย  

รถตู้ผี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ การได้รับบริการที่ไม่เหมาะสม เช่น บางเส้นทางรถตู้วิ่งให้บริการ เกิน 300 กิโลเมตร (ระยะทางรวมต้นทางปลายทาง) ซึ่งผิดกฎหมาย แถมยังมีคนขับคนเดียว อาจเกิดความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จนทำให้เกิดการหลับใน เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในเวลาต่อมา

รถตู้ผี เป็นการขยายอาณาเขตระบบการให้บริการที่ผิดกฎหมาย แทรกซึมมากับระบบที่ถูกต้อง หากผู้โดยสาร ยังคงส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดบริการเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับยินยอมถูกละเมิดสิทธิที่จะสามารถเลือกใช้บริการที่มีความปลอดภัยในชีวิต และเรายังเป็นผู้ส่งเสริมให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั่นเอง 

ถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเรา ต้องหันมาเรียนรู้ ร่วมกัน ปลูก ปลุก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไทยให้เข้­­มแข็ง และสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้รู้เท่าทันกับผลประโยชน์ที่แอบแฝง จ้องแต่จะเอาเปรียบเราทุกลมหายใจ พบปัญหาจากการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3734-37 หรือcomplaint@consumerthai.org และ ร่วมเป็นแฟนเพจอีกแล้วรถโดยสารไทยทางhttp://www.facebook.com/againbus  

 

 

ข้อมูลประกอบ

ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือน  ตุลาคม 2554 – มิถุนายน  2556

ประเภทรถโดยสาร

จำนวนอุบัติเหตุ (ครั้ง)

บาดเจ็บ

เสียชีวิต

ร้อยละ

รถตู้

83

638

119

30.63

รถโดยสารปรับอากาศ

82

1,878

123

30.26

รถโดยสารนำเที่ยว

43

1,050

42

15.87

รถโดยสารระหว่างจังหวัด

19

407

15

7.01

รถรับส่งพนักงาน

18

248

18

6.64

รถเมล์

21

81

9

7.75

รถแท็กซี่

5

5

6

1.85

รวม

271

4307

332

100.00

ข้อมูลจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท