คู่เจรจาโปรดทราบ “รอมฎอนนี้คนชายแดนใต้อยากทำความดีอย่างสงบ สันติ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน (ปีนี้ 2556 อยู่ระหว่าง 10 กรกฎาคม 2556 - 8 สิงหาคม 2556) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)

บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (‘ศิยาม’ในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอด หมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ทำให้เสียศีลอด นับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)"

จากคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ 4 ผ่านอุสตาซฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทนของแนวร่วม 7 ข้อ (ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย อาจารย์ Hara Shintaro โปรดดูรายละเอียดสามภาษาได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4402) ทำให้คนของรัฐบาลไทยและหน่วยความมั่นคงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวด้วยคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปคงจะล้ม

ในขณะที่ข้อเสนอหลายข้อถูกใจคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เรียกร้องมานาน และหลายข้อในข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลไทยรวมทั้งกองทัพได้ปฏิบัติและมีแผนที่จะปฏิบัติอยู่แล้ว

สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ อยากจะให้เดือนรอมฎอนในปีนี้ สงบ สันติและหยุดความรุนแรงสักเดือนในขณะเดียวกันกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็อยากให้ดำเนินการต่อเพื่อเป็นทางออกทางการเมืองเพราะผลสำรวจล่าสุดยืนยันในความต้องการดังกล่าวของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ อดีตรัฐมนตรีคนในพื้นที่กล่าวว่า ข้อเสนอ 7 ข้อ ของ BRN เพื่อแลกกับการยุติการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน นับว่าเป็นข้อเสนอที่โดนใจชาวมลายูปาตานีเป็นอย่างมาก แต่สำหรับฝ่ายรัฐไทยกลับเกิดอาการหงุดหงิดและหนักใจ จนทำให้เกิดกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ รัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคง 2 ท่านจะถูกเปลี่ยนตัว เพราะไม่นิ่งและสุขุมพอที่จะรับข้อเสนอหนักๆของ BRN

“เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช กับผู้มีอำนาจรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยึดครองนั้น มักจะได้รับข้อเสนอที่เป็นบทหนักๆ ไว้ก่อนและเป็นการอิงกับความต้องการของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่

“ไม่แปลกหรอกครับกับการเสนอให้เรียกทหารกลับสู่กรมกอง ไม่อยากใช้คำว่าถอนทหาร ให้งดจำหน่ายสุราน้ำเมา ปิดแหล่งบันเทิงอบายมุขและให้ อส.มุสลิมหยุดปฏิบัติหน้าที่ให้มุ่งเข้าหามัสยิดให้มากๆ ในช่วงรอมฎอน เป็นข้อเสนอที่โดนใจมุสลิมผู้ศรัทธาอย่างจัง

“แล้วทำไมผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องเครียดไปด้วย แทนที่จะต่อรองลดราวาศอก กลับปฏิเสธอย่างทันควัน รัฐบาลตัดสินใจถูกแล้วปรับครม.ครั้งนี้ที่จะเปลี่ยนผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงเอาคนที่มีจิตใจหนักแน่น นิ่งๆ ลึกๆ กว้างๆ หวานๆ สุขุมรอบคอบมาแทนครับ” (โปรดดูใน https://www.facebook.com/areepen.utarasint?fref=ts)

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ หรือ CSCD จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South Poll) เมื่อช่วงวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าวันนัดพูดคุยที่มาเลเซียระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยและตัวแทนขบวนการปลดปล่อยปาตานีในวันที่ 13 มิถุนายน เพียงเล็กน้อย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,006 ราย จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวมีข้อสรุปดังต่อไปนี้

1. ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ซึ่งมีระดับเฉลี่ยของคะแนนอยู่ที่ 5.80 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางบวก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ กับการศึกษาในครั้งแรกมีจำนวนผู้ยอมรับกระบวนการสันติภาพร้อยละ 67.17 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การสนับสนุนและยอมรับต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนมีจำนวนสูงขึ้นในการสำรวจครั้งนี้

2. ข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายรวมทั้งข้อเรียกร้อง 5 ข้อจาก BRN ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อเทียบระดับคะแนน ข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับ คือ กลุ่มที่ได้คะแนนการยอมรับสูงมาก เป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนเรื่องการร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ การลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่สูงในระดับที่สอง คือข้อเรียกร้องเรื่องบทบาทภาคประชาสังคมในการพูดคุยสันติภาพ การเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน(พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และการปกครองแบบพิเศษ เป็นต้น

ส่วนข้อเรียกร้องในระดับที่สาม ส่วนใหญ่คือข้อเรียกร้องของ BRN คือการลงประชามติเรื่องอนาคตปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การให้มีประเทศอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอเป็นสักขีพยานในการเจรจา และการยกเลิกบัญชีดำที่หมายตัวผู้กระทำผิด เป็นต้น

ข้อเรียกร้องทั้งสามกลุ่ม ได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ตอบทั้งหมดแต่มีระดับความรู้สึกความเชื่อมั่นสูงต่ำแตกต่างกันไป

3. ข้อเรียกร้องของ BRN ได้รับคะแนนการยอมรับจากประชาชน ประชาชนรับได้ในระดับที่พอสมควร แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่า ระดับน้ำหนักไม่ใช่อยู่ในกลุ่มระดับคะแนนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของประชาชนเรื่องอื่นๆ จึงควรได้รับการพิจารณาโดยร่วมกับข้อเสนออื่นๆของภาคประชาชน

4. น่าสังเกตว่า ข้อเสนอของ BRN ที่มีคะแนนยอมรับค่อนข้างสูงมากกว่าข้อเสนออื่น 5 ข้อคือ ต้องการเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ มีระดับความเห็นยอมรับเฉลี่ยอยู่ที่ 6.94 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.8 อีกข้อก็คือต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยแทนที่จะเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเจรจา มีระดับความเห็นเฉลี่ยที่ 6.11 (โปรดดูรายละเอียดใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4397)

จริงอยู่ในประวัติศาสตร์อิสลามนั้นในสมัยศาสนทูตมุฮัมมัดเคยมีการทำสงครามที่เรียกว่าสงครามบัดร เมื่อวันที่ 17 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 2  (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน  http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1770) แต่เป็นสงครามที่ท่านป้องกันตนเองจากศัตรูที่เข้ามาโจมตีและหมายปองชีวิตท่านอย่างชัดเจน

อย่างไรก็แล้วแต่  คนในพื้นที่ตอนนี้อยากให้รอมฎอนปีนี้ เป็นจุดเริ่มตนของความสงบ สันติและหยุดความรุนแรง ดังนั้นไม่ว่าฝ่าย BRN หรือรัฐบาลและหน่วยความมั่นคงน่าจะชิงประกาศการสร้างบรรยากาศ การหยุดสงคราม และความรุนแรงโดยปราศจากเงื่อนไขก็จะได้ใจมวลชนคนพื้นที่อย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกันผู้เขียนในนามคณะทำงานประชาสังคมยังคงนำเสนอ แผนที่เดินทางสันติภาพแก่ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าจนบรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยนำความสันติสุขแก่ประชาชน ภาคประชาสังคมจะผนึกกำลังร่วมกันกับทุกฝ่าย แม้ว่าเวทีการพูดคุยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ (โปรดอ่านรายละเอียดใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4352)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท