การเมืองของความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ: ไวรัส HPV

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) กำลังกลายเป็นประเด็นทางการแพทย์ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางบนพื้นที่สาธารณะ ในฐานะ “ความเสี่ยง” (Risk) หรือ “ภัยคุกคาม” (Threat) ที่ถูกนิยามขึ้นภายใต้ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ อันสลับซับซ้อน โดยอาศัยการแปรรูปข้อมูลสถิติการวิจัยนานับประการให้กลายเป็น “ความจริงสูงสุด” สำหรับผู้คนทุกคนในสังคม(ที่เข้ามาสัมพันธ์กับความรู้ชุดนี้ ไม่ว่าจะ โดยทางตรงหรือทางอ้อม) ให้ต้องเชื่อตามข้อมูลเหล่านี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แม้จะไม่มีความเข้าใจ ต่อรูปแบบหรือกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับเทคนิควิธี ทางการแพทย์เลยก็ตาม อนึ่งตามบทความนี้ไม่ได้มีนัยยะที่จะปฏิเสธ วิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นพลังของชุดความรู้หนึ่งๆว่า สามารถกำหนดความคิดความอ่านของผู้คน ผ่านกระบวนการประกอบสร้างทาง ความหมายของ “ความเสี่ยง” “สุขภาพ” และ “อันตราย” ซึ่งในที่สุดแล้ว ได้กลับมา กำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
           
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงขอเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจไวรัส HPV ผ่านกรอบคิดทฤษฎีเรื่อง สังคมความเสี่ยงสูง (Risk Society) กล่าวคือ ตามวิธีคิดของ Ulrich Beck “ความเสี่ยง” ถือเป็นรากฐานของความเปลี่ยนแปลงชิ้นสำคัญ บนสังคมสมัยใหม่ ที่เน้นการวิพากษ์ข้อเท็จจริงต่างๆที่ปรากฏขึ้นในสังคม (Reflexive Modernity) โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่ไม่อาจกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้ และส่วนใหญ่เป็นผลพวง (By-Product) จากการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งในยุคก่อนหน้า(1)  เช่น ความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ความสะอาดของ สายพานการผลิตสินค้าประเภทอาหาร และการดูแลสุขภาพพลานามัยของผู้คน เป็นต้น
 
ไวรัส HPV ก็เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น คือ มีลักษณะของ ภัยอันตรายอันทรงพลังในช่วงเวลาปัจจุบัน และสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ต่ออนาคตของผู้คน ยกตัวอย่างเช่น การดำรงอยู่ของ HPV ในร่างกายของมนุษย์ จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่า เราไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่เป็น พาหะ (Carrier) ของเชื้อไวรัส HPV จากการสังเกตโดยทั่วๆไป เนื่องจากไวรัสชนิดนี้จะ ไม่แสดงอาการของโรค (Symptoms) เฉกเช่นเดียวกับไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชนิดอื่นๆ(2) เช่น เอดส์ หรือ เริม ดังนั้นกว่าผู้ป่วยจะค้นพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับ ภัยคุกคามของ HPV ก็เมื่อเชื้อโรคร้ายได้กระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย และขยายตัวเป็นมะเร็งนานาชนิดแล้ว เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิงส่วนนอก (Vulvar Cancer) มะเร็งในอวัยวะเพศหญิง (Vaginal Cancer) มะเร็งองคชาติ (Penile Cancer) มะเร็งทวารหนัก (Anal Cancer) รวมไปถึงมะเร็งช่องคอ (Oropharyngeal Cancer)(3)
 
จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัส HPV ได้เชื่อมโยงความรู้สึกไม่มั่นคง (Uncertainty) ในปัจจุบันกาล (Present) เข้ากับภัยอันตรายที่ดำรงอยู่ในอนาคตกาล (Futurnity) ซึ่งไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะปรากฎตัวขึ้นหรือไม่(4) หมายความว่า อาจจะเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้น หรือ เกิดในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน และนั่นทำให้ระดับความไม่มั่นคง ยิ่งทบเท่าทวีคูณ ก่อให้เกิดเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงในจินตนาการของผู้คนอย่างสุดขั้ว
 
ในขณะเดียวกันข้อมูลสถิติทางการแพทย์สมัยใหม่ ได้ยกระดับความน่า สะพรึงกลัวของไวรัส HPV ขึ้นไปอีกขั้น โดยจากการสำรวจของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้คนกว่า 79 ล้านคน ที่เป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ และพร้อมที่จะกระจายความเสี่ยงผ่านการติดต่อทางเพศ สัมพันธ์ในทุกๆรูทวาร (โดยมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นราว 14 ล้านคน ต่อปี)(5)
 
จากสภาพการณ์ข้างต้นความตึงเครียด (Tension) ได้ปรากฎขึ้นในมโนทัศน์ ของผู้คนอย่างยิ่งยวด ก่อให้เกิดการเรียกร้องช่องทางในการระบายความคับข้อง ออกจากจินตนาการของพวกเขาอย่างรวดเร็ว และนั่นนำไปสู่การเข้ามาของทุน บรรษัทยาข้ามชาติ พร้อมวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่มีราคาต่อ 1 โด้สอยู่ที่ 6,000 บาท ซึ่งการันตีการสร้างภูมิคุ้มกัน 3 ถึง 5 ปี ตามชนิดของวัคซีน (Gardasil และ Cervarix)
 
อย่างไรก็ตามทางเลือกที่มีราคาสูงลิบลิ่วขนาดนี้ เมื่อเทียบกับการป้องกัน ด้วยวิธีอื่นๆ จำเป็นจะต้องได้รับการสลักหลัง หรือ ประทับตรารับรอง โดยผู้มีอำนาจ ในการกำหนดทิศทางของความรู้ เช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกา คือ ACIP (Advisory Committee on Immunization Practices) ซึ่งทำการแนะนำอย่างถึงที่สุด (Recommended) ให้เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 12 ปีในสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนป้องเชื้อไวรัส HPV ตั้งแต่ยัง ไม่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก รวมไปถึงผู้หญิงอายุ 12 -26 ปี เด็กผู้ชาย และชายวัย 12 – 26 ปี(6) ซึ่งระดับของการสร้างภูมิคุ้มกันก็จะแตกต่างกันไป และยังไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะคงทนถาวรแค่ไหน
 
ประเด็นต่อมาที่ควรค่าแก่ความสนใจก็คือ หาก HPV มีอันตรายอย่างที่ว่าจริง ผู้มีอำนาจหรือรัฐจะเข้ามาจัดการกับปัญหาความเสี่ยงนี้อย่างไร เช่น ในกรณีของประเทศ ไทย ที่ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่าการลงทุนฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในเด็กผู้หญิง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก จะคุ้มทุนในเชิงขนาด (Economy of Scale) หรือก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน (Cost Effectiveness) หรือไม่ เมื่อเทียบกับ การรักษาพยาบาลชนิดอื่นๆ เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น หรือ การรณรงค์ให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
 
ดังนั้นเมื่อยังหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดสรรช่องทางระบายความเสี่ยง ทั้งในเชิงกายภาพ (True Risk) และ ในมโนทัศน์ของผู้คน (Perception of Risk) ไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกของความไม่แน่นอนก็จะดำรงค์อยู่ต่อไป และค่อยๆแพร่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ผ่านข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมหาศาล จากหน่วยงานรัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ องค์กรสาธารณสุข สื่อสิ่งพิมพ์ และโลกออนไลน์ ภายใต้สายธารของกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ครอบคลุมทั่วทุกปริมณฑล ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันพลังของความรู้ชุดนี้ ที่ค่อยๆประทับลงบนจินตนาการของผู้คนอย่างแนบแน่น และขยายตัวไปสู่การ กำหนดพฤติกรรม และทางเลือกในโลกที่เป็นจริงของพวกเขา
 
 
อ้างอิง
 
(1)   Ulrich Beck. Risk Society Towards a New Modernity (Sage Publications Ltd.), 1992
(2)   Centers for Disease Control and Prevention. “Basic Information about HPV-Associated Cancers”. http://www.cdc.gov/cancer/hpv/basic_info/index.htm
(3)      Centers for Disease Control and Prevention. “Genital HPV Infection – Fact Sheet”. http://www.cdc.gov/std/HPV/STDFact-HPV.htm
(4)   Elke Krahmann. Risk Markets: The Commodification of Security and the Risk Society (ECPR), 2007
(5)   Centers for Disease Control and Prevention. “Genital HPV Infection – Fact Sheet”. http://www.cdc.gov/std/HPV/STDFact-HPV.htm
(6)   Alice Park, “Government Panel Recommends Vaccine for Boys”. http://healthland.time.com/2011/10/25/government-panel-recommends-hpv-vaccine-for-boys-too/#ixzz2WMbqK4IL
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท