Skip to main content
sharethis

 

10 ก.ค.56 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ....ภายหลังจาก คปก.ได้ศึกษาข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง

คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าว 11 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียม คปก. เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรทบทวนหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ให้เป็นรูปธรรมและให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตกรณีลูกหนี้ชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ครบ ควรคิดดอกเบี้ยจากยอดคงค้างที่ผู้ถือบัตรไม่ได้ชำระเท่านั้นโดยให้คิดตั้งแต่วันที่ชำระไม่ครบ จึงจะเป็นธรรมแก่ผู้ถือบัตร ไม่ควรคิดดอกเบี้ยไปถึงวันที่สถาบันการเงิน หรือ non-bank ทดรองจ่าย

ส่วนประเด็นเรื่องบทกำหนดโทษ คปก. เห็นว่าควรกำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติในมาตรา22 ของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีหน้าที่แจ้ง เปิดเผย หรือให้ข้อมูลแก่ผู้ถือบัตร รวมทั้งการเตือนเกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ ในการใช้ข้อมูลหรือใช้บัตรเครดิต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธปท.ประกาศกำหนด” ไว้ให้ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากการไม่แจ้งของผู้ประกอบการตามมาตรา 22 จะมีโทษทางอาญาตามมาตรา 27 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบกับตามหลักกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าการกำหนดโทษทางอาญาต้องบัญญัติกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อให้มาตรการบังคับใช้โทษทางกฎหมายอาญาเกิดความถูกต้องและเป็นธรรม และการกำหนดโทษทางอาญาหากไม่มีความชัดเจนก็อาจเป็นช่องทางการทุจริตของเจ้าพนักงานได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าพนักงานเช่นกัน

ขณะเดียวกันคปก. เห็นว่าควรมีการบัญญัติเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือบัตรเครดิตให้ชัดเจนไว้ในร่างฯดังกล่าว และกำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนโดยนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือบัตรไปใช้แล้วอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรได้

นอกจากนี้มีประเด็นเรื่องการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม คปก.เห็นว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเกิดกรณีการทวงถามหนี้ที่ไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายร่างกายก็ตาม แต่ทางสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการก็ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบแต่อย่างใด เพียงแต่หากถูกร้องเรียนก็ดำเนินการเพียงการปลดเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดออกจากงานโดยอ้างว่าเป็นปัญหาการจัดการผิดพลาดส่วนบุคคล ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... จะต้องมีบทบัญญัติให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดด้วย โดยจะต้องพิจารณาทั้งระบบเกี่ยวกับการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม อีกทั้ง คปก.เห็นว่า ควรระบุหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการทวงถามหนี้บัตรเครดิตอย่างเป็นธรรม ได้แก่ กรณีการขึ้นทะเบียนบุคคลที่จะประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ รูปแบบการติดตามทวงถามหนี้ต้องกระทำต่อลูกหนี้โดยตรงและไม่มีลักษณะที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ติดตามทวงถามหนี้ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงชื่อของผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ให้ชัดเจน ให้ผู้ติดตามทวงถามหนี้ที่ได้เงินจากลูกหนี้หากมีหนี้หลายบัญชีและได้ชำระหนี้บางส่วน ผู้ติดตามทวงถามหนี้ต้องนำไปชำระในแต่ละบัญชีตามสัดส่วนเว้นแต่ลูกหนี้จะได้แจ้งไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีเกิดความเสียหายจากการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมฝ่ายผู้ประกอบการต้องรับผิดร่วมกับตัวแทนหรือลูกจ้างที่ผู้ประกอบการได้ใช้ให้ไปดำเนินการทวงถามหนี้ เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net