Skip to main content
sharethis

 

10 ก.ค.56 เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันแถลงความคืบหน้าผลการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล
       
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐบาลได้สอบถามความเห็นไปยังสถาบันการศึกษาใน 3 ข้อ ว่า 1.รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ 2.ข้อความส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลที่เกี่ยวกับการลงประชามติก่อนการยก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมีผลทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร การให้ออกเสียงประชามติจากหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วตาม กระบวนการที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดไว้สอดคล้องกับความเห็นของ ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.การจัดออกการออกเสียงประชามติว่าควรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ก่อนที่รัฐสภาลงมติวาระที่ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่จะทำได้หรือไม่ และถ้าหากจะจัดให้มีประชามติ ควรจัดแบบให้มีข้อยุติหรือแบบให้คำปรึกษา และแต่ละแบบมีข้อเสีย อย่างไร และจะมีผลต่อการลงมติในวาระ 3 หรือไม่ อย่างไร
       
“ผลการศึกษาดังกล่าวจะถูกนำไปประกอบการพิจารณา แต่รัฐบาลไม่ได้นำสถาบันการศึกษาเหล่านี้มาการันตีความชอบธรรมให้กับสภาผู้ แทนราษฎรในการเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291” นายพงศ์เทพ กล่าว
       
นายพงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ส่งผลการศึกษามาเป็นที่แรก โดยจะส่งให้ผู้ที่มีอำนาจและสมาชิกรัฐสภาพิจารณาก่อน แต่ยังเหลือผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆอีก แต่ในส่วนการดำเนินการแก้ไข รัฐธรรมนูญที่ยังค้างการลงมติวาระ 3 นั้น ก็เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ว่าจะดำเนินการหรือไม่
       
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปความเห็นในส่วนของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า รัฐสภาจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการยกร่างฉบับใหม่ได้หรือ ไม่นั้น มีความเห็นต่างกันสองทาง โดยการแก้ไขอาจนำไปสู่การยกเลิกทั้งฉบับ ซึ่งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ให้ความเห็นว่าสามารถดำเนินการแก้ไขได้ เนื่องจากมีตัวอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตที่นำมาสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2539 เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
       
นายปริญญา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือ ไม่นั้น สรุปได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ เนื่องจากมีการกำหนดข้อห้ามไว้ชัดเจน และมองว่าการแก้ไขเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้เป็นการล้มล้าง แต่เป็นการมาแทนที่เท่านั้น ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยกคำ ร้องไป เนื่องจากมองว่าการกระทำของรัฐสภาไม่ได้ล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจสั่งการให้รัฐสภาเลิกการกระทำการดังกล่าว ส่วนความเหมาะสมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
       
นายปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการทำประชามติก่อนการยก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีผลทางกฎหมายหรือไม่นั้น ทางคณะทำงานเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าเป็นเพียงคำแนะนำ เท่านั้น เพราะใช้คำว่าควร ไม่ได้มีการระบุว่าต้อง จึงไม่มีผลทางกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามคำแนะนำดังกล่าว อาจมีผลทางการเมืองจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจนเกิดการต่อต้านนำมาสู่ความขัด แย้งรอบใหม่ในสังคมไทยได้ อย่างไรก็ตามแนวทางการทำประชามติหลังจากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น อาจไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำแนะนำของศาลระบุชัดว่า ควรจะมีการลงประชามติก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
       
นายปริญญา อธิบายต่อว่า เรื่องการทำประชามติในระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ลงมติวาระ 3 ได้หรือไม่นั้น มีความเห็นในสองทางว่า ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงขัดต่อวิธีการทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ไม่สามารถจัดให้มีการออกเสียงในเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในอีกทางหนึ่งมองว่าสามารถกระทำได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญยังให้แนวทางการทำประชามติก่อนทำการยกร่าง และควรให้การทำประชามติเป็นข้อยุติ โดยให้สมาชิกรัฐสภายินยอมผูกพันตามมติของประชาชน
       
นายปริญญา ได้กล่าวสรุปด้วยว่า การดำเนินการใดๆ ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเกิดผลทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม ต้องอยู่บนกติกาที่มีอยู่ และไม่ควรมีการอ้างเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว ควรจะมีฉันทามติร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ ซึ่งสิ่งที่คณะทำงานด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษา ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่มุ่งเสนอแก่สังคมเพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง พร้อมเสนอคำถามที่สำคัญต่อสังคมเพิ่มเติมจากประเด็นคำถามของรัฐบาลให้ช่วย กันตอบในการทำประชามติว่า ประเทศไทยควรจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น
       
“ประเทศจำเป็นต้องมีกติกาสูงสุดที่จะยึดเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกัน ไม่ควรใช้เสียงข้างมาก แต่ควรจะมีฉันทามติร่วมกันก่อนที่จะดำเนินการในเรื่องใดๆ ก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาตามมาในภายหลัง” นายปริญญา กล่าว
       
ขณะที่ นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นในแง่มุมของรัฐศาสตร์ว่า การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงมิติทางการเมือง หากจะมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นสัญญาประชาคมระหว่างผู้มีอำนาจ กับประชาชน จึงควรมีการสร้างฉันทามติร่วมกัน มากกว่าการยึดเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะควรจะคำนึงถึงความเห็นของประชาชนที่เห็นต่างด้วย เพราะการทำประชามติทุกครั้ง มักมีนัยยะทางการเมืองควบคู่ด้วยเสมอ จากการอ้างเสียงข้างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำมาสู่ความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงอย่างแน่นอน
       
ทางด้าน นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กล่าวเสริมในส่วนความคืบหน้าการการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า การทำงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เชิญตัวแทนจากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มาหารือทางวิชาการในรูปแบบของคณะทำงาน เพื่อดำเนินการร่วมกัน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องดูมุมมองด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ไม่ใช่แค่กฎหมายอย่างเดียว โดยการทำงานได้จัดเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น 6 ครั้ง จากวิทยากร 30 คน จึงขอเวลารวบรวมผลการวิจัยให้แล้วเสร็จ ไม่เกิน 30 วัน ก่อนจะรายงานให้ทราบต่อไป

ขณะที่มติชนออนไลน์ นำเสนอความเห็นทางวิชาการของคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๘-๒๒/๒๕๕๕ ในฉบับเต็ม อ่านได้ ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net