Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: นิตยสาร POSITIONING

 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 56 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ (SIGA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถา เรื่อง สู่ทศวรรษแห่งความท้าทายใหม่: บาทบาทด้านรุกและรับของรัฐสภาไทย ภายในงานสัมมนาลำดับที่ 10 ของสถาบันพระปกเกล้า

เขากล่าวว่า  ประเทศไทย รัฐสภาไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในเชิงบริหารการจัดการ เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบสังคมรวมทั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญด้วย ที่ผ่านมา

เขาอธิบายว่าโครงสร้างสังคมการเมืองไทยอยู่ในสังคมเกษตรพึ่งพาตนเอง และอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 8 ทศวรรษที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันสังคมไทยก็ยังเป็นประชาธิปไตยเทียม เป็นแต่เพียงการปะทะกันระหว่างอำมาตยาธิปไตย กับ คณาธิปไตย  เรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งคือจะปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ให้เรามีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงได้อย่างไร 

นอกจากนี้เมื่อมองบริบทรอบประเทศไทยจะพบว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาไปมาก แต่ประเทศไทยยังอยู่ติดกับที่ไม่ไปไหน และตอนนี้อยู่ในสถานะที่อันตรายที่เรียกว่า falling state คือเป็นรัฐที่ใกล้จะล้มเหลว ถ้าเลยเถิดไปกว่านี้เราก็จะเป็นรัฐที่ล้มเหลว หรือ failing state ไป

เขากล่าวถึงการปกครองที่ผ่านมาว่า วิวัฒน์ของการเมืองไทยในช่วง 80 ปี มี 3 ระบอบที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยอย่างเห็นเป็นรูปธรรมคือ ระบอบสฤษดิ์  ระบอบเปรม ระบอบทักษิณ ต้องถือว่าทั้ง 3 ระบอบนั้นมีคุณานุปการต่อการเมืองการปกครองไทยในระดับหนึ่ง มีคุณานุปการในทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง 3 ระบอบนี้ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ แต่ยังไม่มีระบอบไหนเลยที่ตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราต้องการ นี่เป็นแรงปะทุของการเปลี่ยนแปลง และอย่าไปตกใจกับเรื่องความขัดแย้งที่รุนแรง หรือ hyper conflict โดยเฉพาะระหว่างคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“เราเห็นการต่อสู้ทางความคิด ต้องมองในเชิงบวกว่าเป็น political learning curve เป็นการเรียนรู้ทางการเมืองระหว่างคนชนชั้นกลางกับคนชนชั้นล่าง ต่างฝ่ายต่างเรียกหาอะไรบางสิ่ง เรากำลังหาจุดลงตัวนี้ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคมที่จะจับเอาความแตกต่างหลากหลายมาอยู่ด้วยกัน”

“เราอาจตกใจในช่วงที่ผ่านมาของการเรียนรู้ทางการเมืองดังกล่าวนั้นทำให้สังคมเกิดอคติขึ้น ทุกคนเลือกข้าง ไม่เสื้อเหลืองก็ต้องเป็นเสื้อแดง ขณะเดียวกันก็บิดเบือนข้อเท็จจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่เลือกข้าง ทั้งจากปัจจัยภายในตัวเองคือความมีอคติที่มากขึ้น กับปัจจัยภายนอกที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สังคมไทยถูกเปลี่ยนกลายเป็นสังคมสองขั้ว หรือ bipolar world อย่างที่เราเห็นกันอยู่”

อย่างไรก็ตาม เขาระบุถึงปัญหาว่า ขณะที่เราตบตีกัน เราก็ไม่ได้ลงทุนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลที่ตามมาคือ ประเทศอื่นติดลมบนไปเกือบหมด หลายประเทศที่ล้าหลังเราก็ได้ไต่มาใกล้เคียงกับเรา และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปี 2050 ถ้ามองในแง่ของ GDP สะท้อนว่าที่ผ่านมาเรามองเห็นแค่ปัญญาระยะสั้น ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญสามารถทำให้เราอยู่กันได้ในลักษณะที่ตอบโจทย์ระยะยาว เพราะเรากำลังเผชิญกับปัญหาขีดความสามารถของการแข่งขันระยะยาวที่เสื่อมถอยลง เนื่องจากสองปัจจัยที่เกิดพร้อมๆ กัน คือ

1. โครงสร้างของสังคมสูงวัย แต่ในสังคมสูงวัยที่เกิดนั้นเป็นคนที่มีคุณภาพแย่ลง เคยมีงานวิจัยที่ระบุว่า ประเทศเราเป็นประเทศที่เฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยถูกกดดันอย่างเป็นระบบรวมทั้งมี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความคิดที่ ไม่ได้ตามการพัฒนาเหล่านั้น นิสัยคนไทยไม่เคยเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน และเป็นลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างจะ negative ไม่สามารถตอบโจทย์โลกปัจจุบันและในอนาคตได้

2.ความเหลื่อมของวัฒนธรรมกับการพัฒนา ความเหลื่อมของการพัฒนาชาติกับการพัฒนารัฐ งานวิจัยของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ระบุชัดว่าที่ผ่านมาเราพัฒนารัฐก่อนแล้วค่อยพัฒนาชาติ พัฒนารัฐผ่าน bureaucratization พัฒนาชาติผ่าน democratization เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายทศวรรษ ประชาชนไม่ได้มีความตื่นตัวในขณะนั้นที่จะเรียกหาประชาธิปไตยแท้จริงเหมือนในตะวันตก และยังมีความเหลื่อมระหว่างระบอบทุนนิยมกับระบอบประชาธิปไตย เพราะเราไปเอาของชาวบ้านมาโดยไม่รู้รากเหง้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายมากกว่าคือ ขณะนี้ 4 เสาหลักที่ค้ำจุนโลกในทศวรรษที่ 20 ของประเทศตะวันตก และเป็นต้นแบบของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย ทุนนิยม ประชาธิปไตย ประชาสังคม (civil society) ความเป็นนิติรัฐ (legal state) กำลังถูกสั่นคลอน ตอนนี้เริ่มมีปัญหาอย่าง อาหรับสปริง Occupy Wall  Street  

สำหรับประเทศไทยนอกจากมีความเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีกับดักในเกือบทุกด้าน ในเรื่องภาคประชาชน มีความเหลื่อมล้ำซึ่งสูงมากในการเข้าถึงทรัพยากร ส่วนภาครัฐก็ขาดความน่าเชื่อถือ ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนที่ตอบโจทย์ได้ครบ คือ รัฐบาลที่ชอบธรรม รัฐบาลที่มีคุณธรรม และรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อจะบอกว่านี่คือรัฐบาลที่น่าเชื่อถือและสร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ถูกต้อง และประชาชนก็ขาด dignity of the nation หรือความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเราซึ่งหายไป ในช่วงที่พัฒนาที่ผ่านมา

เขากล่าวด้วยว่า ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหารากฐานได้ แก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้งก็ไม่จบ โดยปัญหารากฐานดังกล่าวคือความมั่งคั่งที่กระจุก คุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมทราม ทุนสังคมที่อ่อนแอ ทุนมนุษย์ที่อ่อนด้อย และทุนธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เพื่อจะตอบโจทย์เหล่านี้ ต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันและต้องตอบประเด็นเชิงยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1. เรามีประสิทธิภาพในการตอบสนองพลวัตรโลกอย่างไร global responsiveness โลกมีชุดของโอกาสและภัยคุกคามที่ต่างออกไปแล้ว เราจะรับมืออย่างไร 2.เรามีขีดความสามารถหรือภูมิคุ้มกันที่เพียงพอหรือไม่ National competitiveness 3. ความสามารถในการแข่งขันอย่างกระจาย local inclusiveness รวมถึงการมีส่วนร่วมทั่วถึงของผู้คนในสังคม

“ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญไทยเปิดรับและรับมือกับโลกภายนอก สร้างความเข้มแข็งภายในที่ถ้วนทั่วและมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งและโอกาสที่เกิดขึ้น นี่คือสัญญาประชาคมใหม่” เขากล่าวและว่า เราต้องเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาใหม่ให้เติบโตอย่างทั่วถึงและสมดุล เป็นโมเดลที่การเมืองประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  เป็นโมเดลที่ผนึกกำลังทุกภาคส่วนภาครัฐ เอกชนและประชาชน  พร้อมๆ ไปกับการสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง หมายความว่า เราต้องมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรม รัฐที่น่าเชื่อถือ และพลเมืองที่ตื่นตัว

“ทุกวันนี้เรามีอย่างน้อย 1 ใน 3 factor นี้คือ เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรม เราจะทำอย่างไรจะทำให้ได้รัฐที่หน้าเชื่อถือและประชาชนที่ตื่นตัว กลไกของรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งนี้”

สำหรับทิศทางของรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการแก้ไขเขาเสนอว่า ต้องคิดเพื่อเตรียมรับมือว่ารัฐชาติในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่รัฐชาติเชิงวัฒนธรรม ที่คนไทยหรือเชื้อชาติไทยเป็นใหญ่ แต่เป็นรัฐชาติเชิงประชาสังคม หลากหลายเผ่าพันธุ์มาอยู่ แต่อยู่ด้วยจิตสำนึกของความเป็นไทย ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากที่เน้นในเชิงชาติพันธุ์เป็นใหญ่มาเป็นรัฐชาติเชิงประชาสังคม รองรับเบ้าหลอมใหม่ที่เป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น

2.ต้องเปลี่ยนผ่านรัฐ ซึ่งเป็นกลไกในปัจจุบันที่สำคัญจนเกินไป การพัฒนารัฐผ่านระบบราชการทำอย่างไรจะให้มีสมดุลกับการพัฒนาชาติผ่านระบอบประชาธิปไตยและไม่ใช่ประชาธิปไตยตัวแทนที่เป็นอยู่ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบผสมผสาน ซึ่งจะกล่าวต่อไป

3. ระบบทุนนิยมที่เรายืมของชาวบ้านมาแบบไม่ดูตาม้าตาเรือว่าเข้ากับเราหรือไม่จนเกิดความมั่งคั่งที่กระจุกก็จะต้องเปลี่ยนเป็นระบอบทุนนิยมแบบผสมผสาน

พร้อมกันนี้เขาเสนอว่า กลไกสำคัญ 7 ฟันเฟืองสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทย คือ 1.ซ่อมวัฒนธรรมเดิม สร้างวัฒนธรรมใหม่ 2.สร้างสังคมที่เป็นธรรม 3.เปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.การมีจิตสำนึกพอเพียง รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน 5.สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ 6.ปูฐานราก ปักเสาหลักประชาธิปไตย 7.การเตรียมคนไทยสู่โลกที่หนึ่ง

ในมิติเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญไทยเอื้อกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจที่เพิ่มแค่มูลค่า added economy ไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่า value creation ใช้ปัญญา ภูมิปัญญาชาวบ้าน รากฐานวัฒนธรรมสร้างมูลค่าให้มากขึ้น  รวมทั้งต้องการสร้างประชาธิปไตยในเศรษฐกิจเพื่อให้ความมั่งคั่งกระจาย เกิดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในและนอกประเทศ

“ถ้ายุทธศาสตร์ศก.ยังเป็นแบบเดิม ปัญหาก็ยังเกิด แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนดียังไงก็ตาม ...จากโจทย์ที่ชัดเจนที่ถูกต้อง จึงมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง เราจำเป็นต้องปรับอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ สังคม ในเวลาเดียวกัน”

สำหรับมิติวัฒนธรรม พลวัตรใหม่ของโลกทำให้คนไทยทุกคน เผชิญแรงกดดันทางวัฒนธรรม เราต้องมีภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม.ที่แข็งแรงพอและรู้จักเลือกใช้สิ่งดีๆ จากวัฒนธรรมภายนอกอย่างสร้างสรรค์

“วัฒนธรรม.เดิมของเราอาจสอดรับกับอดีต แต่บางเรื่องไม่สอดรับกับปัจจุบันและอนาคตแล้ว เราต้องทบทวน อย่างวัฒนธรรม.อุปถัมภ์ ศักดินา อภิสิทธินิยม อำนาจนิยม เป็นวัฒนธรรม.เก่าเรามีมาตั้งแต่สังคมเกษตร แต่เราไม่ได้เปลี่ยนมัน ก็ซ่อนตัวอยู่จนเปลี่ยนมาสู่สังคมอุตฯ สังคมองค์ความรู้แล้ว สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ รวมถึงการยึดเอาแต่รูปแบบ ไม่เอาเนื้อหา ยึดแต่ form ไม่เอา substance ฉาบฉวย สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยน”

“ระบอบอุปถัมภ์อาจทำลายยากมาก แต่เราสามารถทำให้ระบบอุปถัมภ์เพื่อเกื้อกูลคนดีมันก็อีกแบบ  แทนที่จะเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เกื้อกูลกันเองในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง”

“แต่โลกในศตวรรษที่ 21 ทุกคนจะเป็นอิสระมากขึ้น เราจำเป็นต้องสร้างให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งทำให้เกิด productive culture ที่ทำให้ทุกคนเป็นปัจเจกนิทัศน์หรือ self expression สามารถแสดงออกซึ่งความคิดตัวเอง แชร์ไอเดียกับคนอื่นได้ ยอมรับความคิดของคนอื่น มีจิตสาธารณะ กล้าวิจารณ์ตนเอง เน้นการปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย นี่คือสิ่งที่ต้องเตรียมคนไทยไปสู่โลกที่หนึ่ง ถ้าจะเปลี่ยนผ่านแต่ไม่เตรียมคนไทยไปสู่สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดการเหลื่อมและการเฉื่อย อย่างที่เคยเป็นมา ทำยังไงที่จะทำให้สังคมยอมรับความแตกต่าง”

เขากล่าวว่า การเตรียมคนให้สามารถอยู่ในการแข่งขันของโลกอย่างมีความสุขในสังคมที่เกื้อกูล สองสิ่งดูเหมือขัดแย้งกัน แต่ไปด้วยกัน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า วัตถุนิยมยั่งยืน และนี่คือ philosophy ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของความพอดี ความลงตัว ดูเหมือนขัดแย้งแต่ไปด้วยกัน เป็น art and science ในการออกแบบระบอบทุนนิยม และออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะตอบโจทย์ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ

ทั้งนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีหลักอยู่ว่า เมื่อคนที่ยังขาดก็ต้องรู้จักเติม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องรู้จักหยุด รู้จักพอ แต่เมื่อเขามีเยอะเพราะปัญหาเขาดี มีจนเกินพอ เขาต้องรู้จักปัน สังคมก็จะอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล ลงตัว เกินความพอดีแล้วไปข้างหน้าได้โดยพร้อมๆ กัน

สิ่งที่เกิดขึ้นและต้องเปลี่ยนแปลงไปคือ วันนี้เราจำเป็นสังคมที่พึ่งพิงภาครัฐ และผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มไม่ตอบโจทย์แล้วคือประชาธิปไตยแบบตัวแทน  ถ้าเราไปดูตัวเลขการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว อย่างในอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อเมริกา จะเห็นว่าคนเลือกตั้งเริ่มใช้สิทธิน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มไม่เชื่อในระบอบนี้เท่าไร ฉะนั้น ปัญหาที่จะตอบโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ลดการพึ่งพิงภาครัฐ โดยการทำให้มีความเข้มแข็งของภาคประชาชน ประชาธิปไตยแบบตัวแทนอาจต้องมีอยู่ แต่ไม่ใช่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกอย่างอยู่ที่เรื่องนี้เรื่องเดียวแล้ว แต่จะเป็นประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม direct democracy ของภาคประชาชนที่มีการปรึกษาหารือในหลากภาคส่วนมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบรอบด้าน

รากฐานของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราต้องการ 3 เสาหลักคือ การมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรม รัฐที่น่าเชื่อถือ ประชาชนที่ตื่นตัว ผ่านระบอบประชาธิปไตยที่มี 4 มิติ คือ ประชาธิปไตยตัวแทน  ประชาธิปไตยปรึกษาหารือ ทางตรง ตรวจสอบรอบด้าน แล้วค่อยมาพูดเรื่องความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม การคานอำนาจ อันนี้เป็นเรื่องปลีกย่อย

เขากล่าวอีกว่า สังคมไทยวันนี้เป็นสังคมมักง่าย การที่ทุกอย่างของเอาเร่งๆ เร็วๆ เป็นที่มาของประชานิยม หลายๆ เรื่องของประชานิยมก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะตอบโจทย์หลายๆ เรื่องของภาคส่วนนั้น แต่ในหลายๆ เรื่อง ประชานิยมนั้นอาจเป็นยาพิษก็ได้ เพราะหลายเรื่องเป็น short term game, long term lost โดยเฉพาะเมื่อผสมกับเรื่องคอรัปชั่นยิ่งไปกันใหญ่ รัฐธรรมนูญจะจับเอาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาจัดการอย่างไร ระบบการเมืองไทยไม่แข็งแรงพอที่จะอยู่ยาว ฉะนั้น ก็จะตีหัวเข้าบ้านไว้ก่อน เอาเสียงไว้ก่อน การมองอะไรไม่ยาว พฤติกรรมจึงออกมาเป็นประชานิยมไม่ลืมหูลืมตา ตรงนี้เราจะแก้ยังไง ในทิศทางที่ทำให้การเมืองนั้นอยู่ยาวขึ้น บนความชอบธรรม ถูกต้องตามครรลองด้วย

เขากล่าวว่า เพื่อจะไปถึงสิ่งนั้นเราต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นในเสื้อเหลืองเสื้อแดงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาทัศนคติระหว่างคนชนชันกลางกับชนชั้นล่าง เรายังติดนิสัยแบบศักดินาอยู่หรือเปล่า ตามภาษาคนเสื้อแดงที่บอกว่ายังมองคนรากหญ้าเป็นไพร่

“เราต้องปรับสังคมใหม่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครในสังคมก็ตาม มันต้องคุยกันแบบ mutual respect และ recognize ซึ่งกันและกัน พลเมืองที่ตื่นตัวจะเกิดขึ้นเมื่อมีเสาหลัก ตัวค้ำจุนที่ชัดเจน คือ กรอบของธรรมาภิบาล กรอบของความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย  กรอบของระบบคุณค่า จิตสำนึกร่วมว่ายังไงก็เป็นคนไทย มีความภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมๆ กับการต้องลดความเหลื่อมล้ำลงทั้งที่เกิดจากการกระทำและความรู้สึก”  

“รัฐธรรมนูญจะไปได้โลดเลยถ้าปลดล็อค 4 คำนี้ ทำอย่างไรให้สังคมไทย clear care fair share”

เขากล่าวว่า ความยุติธรรมจะเกิดจากไหน มันต้องมีกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่เอื้อใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องมีเยอะ  ไม่ต้องมีอะไรอุ้ยอ้าย หากทุกคนในชาติมีจิตสำนึกของคุณธรรมจริยธรรม หาก social norm แข็งแรงพอ ทุกคนมี integrity (การยึดถือหลักคุณธรรม) มากพอ ความยุติธรรมจะเกิดเองโดยไม่ต้องมีกฎหมายมากมาย ปฐมบทคือจิตสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม กฎหมายจะเป็นตัวเติมเต็มในการสร้างความสงบเรียบร้อยและความยุติธรรมในสังคม

“การมีความเป็นธรรมในสังคมดีไหม ดี แต่สังคมเมื่อเป็นธรรมแล้ว คนก็อาจจะเอารัดเอาเปรียบจากการที่ตัวเองมีความรู้ความสามารถมากกว่า มีเงินมากกว่า เพราะสังคมเป็นธรรมแล้วนี้ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างให้คนมีจิตสำนึกพอเพียงด้วยในขณะเดียวกัน แต่มีแต่จิตสำนึกพอเพียงแต่สังคมไม่เป็นธรรมก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งคู่ต้องไปด้วยกัน เมื่อทั้งคู่ไม่มีสังคมไทยถึงไม่มี clear care fair share หากมี 4 อันนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องมีถึงฉบับที่เท่าไรๆ แล้ว เพราะมีแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว มันเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมรับรู้และพยายามไปสู่จุดเดียวกันอยู่แล้ว”  

เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคม จากสังคมอุปถัมภ์ อำนาจนิยม อภิสิทธินิยม ศักดินานิยม มาเป็นสังคมที่ clear care fair share สร้างพลเมืองที่ตื่นตัว ทุกคนมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม เน้นการมีส่วนร่วม ให้เป็นสังคมควบคุมสังคม และสังคมควบคุมรัฐในเวลาเดียวกัน ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไทยจะต้องมีบริบททั้งภายใน ภายนอก เราจะต้องสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการประเทศในเวทีโลกได้ พร้อมๆ กับความแนบแน่นของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นได้ในเวลาเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net