Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มหาวิทยาลัยของรัฐอันถือเป็นองค์กรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นแหล่งรวมบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาที่ประกอบด้วยที่มาหลากหลายและแตกต่างกัน ซึ่งความหลายหลาย (diversity) ของบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาในด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ ย่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในหลากหลายกรณีที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การเลือกปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติระหว่างเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อนักศึกษา และการเลือกปฏิบัติของนักศึกษารุ่นพี่ที่มีอายุมากกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่สูงกว่าต่อรุ่นน้องที่มีอายุน้อยกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่ต่ำกว่า เป็นต้น

อนึ่ง การเลือกปฏิบัติจากบุคคลต่างๆ ในสังคมมหาวิทยาลัยย่อมอาจนำไปสู่การความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสต่างๆในสังคมได้  (inequality of opportunity) เพราะแม้ว่าสภาพร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สภาพจิตใจ สถานภาพทางเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ในแต่ละตัวบุคคลหรือปัจเจกชนย่อมไม่มีทางเหมือนกันได้ทุกประการได้ในสภาพความเป็นจริง หากแต่การสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ดีผ่านกลไกต่างๆ ของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยของรัฐ ย่อมสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลต่างๆ ในได้รับโอกาสที่ดีในสังคมได้

มหาวิทยาลัยของรัฐอันถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงที่นอกจากจะมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะด้านการให้การศึกษาแก่นักศึกษาระดับต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นแรงงานที่สำคัญของชาติในอนาคตแล้ว มหาวิทยาลัยของรัฐจึงควรมีหน้าที่กำหนดแนวทางในการจัดระเบียบให้ผู้คนที่มาจากหลากหลายความเป็นมาและผู้คนที่มีความแตกต่างกันสามารถอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุข โดยการจัดระเบียบดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งการเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมจากการทำงาน การเข้ารับบริการทางการศึกษาและการอยู่ร่วมสังคมมหาวิทยาลัย

การส่งเสริมความเท่าเทียม (equality)ในสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่สามารถทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ และประกอบกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย โดยมีหลักประกันว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่อาจเป็นหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ ดังนั้น การสร้างหลักเกณฑ์และการกำหนดวิธีการในการจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม จึงกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมมหาวิทยาลัย  

ในหลายประเทศที่ดำเนินบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงได้พัฒนาแนวทางและวิธีการในการจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียม (Managing Equality and Diversity) ขึ้น เพื่อจัดการผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสังคมอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐอันประกอบด้วยผู้คนที่มีอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป โดยการจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงองคาพยพหรือบริบทต่าง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายและความแตกต่างของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ เช่น นโยบายทางสังคมของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการอุดมศึกษา วัฒนธรรมองค์การนักศึกษา การบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัย การโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมืองเพื่อการศึกษาและเพศวิถีในสังคมมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น

การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐอาจจำแนกออกเป็นสองประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก แนวทางในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม  (equal opportunities approach) หรือแนวทางสนับสนุนให้บุคลากรประเภทต่างๆ และนักศึกษา รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยของรัฐได้รับการปฏิบัติหรือได้รับการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของการทำงาน โอกาสในเรื่องของงานกับการศึกษา การรับบริการด้านการศึกษาหรือบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกิจการของมหาวิทยาลัยและการรับบริการด้านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของทางมหาวิทยาลัย แนวทางในการสร้างโอกาสอาจเป็นแนวทางในรูปแบบต่างๆ อันสามารถลดหรือขจัดอุปสรรคต่างๆ (barriers) ที่กระทบต่อความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรงจากการปฏิบัติต่อผู้ที่มีความแตกต่างกันด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศในแบบมาตรฐานที่แตกต่างกันหรือการเลือกปฏิบัติโดยอ้อมจากขั้นตอน กระบวนการ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันอันไม่เป็นธรรม

ประการที่สอง แนวทางการจัดการความหลากหลาย (diversity management approach) หรือแนวทางการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงการบูรณาการความหลากหลายของบุคลากรและนักศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย การประกอบธุรกิจของมหาวิทยาลัย และการบริการสาธารณะด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย เช่น นโยบายการเปิดหลักสูตรนานาชาติที่ไม่เพียงดึงดูดนักศึกษานานาชาติให้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ยังสามารถทำให้นักศึกษาที่เป็นคนท้องถิ่นสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมจากนักศึกษานานาชาติ ผู้มีภูมิหลัง ภาษา วัฒนธรรมและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เป็นต้น

การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐโดยทั่วไปนั้น อาจกระทำได้โดยผ่านกลไกของการบริหารงานมหาวิทยาลัยและกลไกการตรวสอบความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยในหลายรูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรก การจัดการความเท่าเทียมผ่านหน่วยงานหรือคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ (equality governing bodies) ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม (Equality and Diversity Committee) ที่มหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจตามกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานภายใน ให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความหลากหลายและการส่งเสริมการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมโดยปราศจากการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติในมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยอาจกำหนดกลไกของมหาวิทยาลัย (university's mechanism) เป็นการเฉพาะเพื่อให้กำหนดหน้าที่หรือมอบอำนาจแก่คณะกรรมการชุดนี้ในการกำกับ ดูแล วินิจฉัยหรือปรึกษาหารือร่วมกัน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันการส่งเสริมความเท่าเทียม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอาจตั้งหน่วยงานสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมเป็นการเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะภารกิจ เช่น การตั้งหน่วยงานสำหรับส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย การตั้งหน่วยงานสำหรับให้คำแนะนำหรือสนับสนุนนักศึกษาที่มีกายพิการหรือทุพพลภาพ เป็นต้น

รูปแบบที่สอง การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียม (Equality impact assessment – EqIA) ได้แก่ กระบวนการประเมินนโยบาย โครงการและระเบียบต่างๆ ภายใต้หลักการสำคัญที่ว่านโยบาย โครงการและระเบียบเหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดหรือนำไปสู่การเลือกปฏิบัติจากการนำนโยบายไปปฏิบัติ การดำเนินโครงการและการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับ รวมไปถึงกระบวนการประเมินอื่นๆ ที่นำไปสู่การขจัดการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายหรือประชาคมมหาวิทยาลัยสามารถทราบถึงเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายหรือการออกระเบียบข้อบังคับภายในเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคอันอาจเกิดจากการเลือกปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัยของรัฐ

รูปแบบที่สาม การเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัย (Information on Equality and Diversity) กล่าวคือ มหาวิทยาลัยต้องมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติอันอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของตน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดําเนินงานของมหาวิทยาลัยหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมมหาวิทยาลัย รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของรัฐยังควรมีหน้าที่ในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายในมหาวิทยาลัย (equality and diversity report) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยและสังคมทั่วไปได้ทราบถึงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการจัดการความหลากหลายและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ

รูปแบบที่สี่ การปฏิบัติตามกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมของรัฐ (Equality legislation) หรือการที่มหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายพื้นฐานของรัฐและกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดแนวทางในการควบคุมไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในสังคมหรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตนที่แตกต่างกัน เช่น การดำเนินกิจกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัยและกิจกรรมของนักศึกษาต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายพื้นฐานแห่งรัฐที่ส่งเสริมสิทธิเบื้องต้นของประชาชน เป็นต้น

การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมรูปแบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของรัฐไม่เพียงส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคลากรประเภทต่างๆ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกัน หากแต่ยังส่งเสริมกิจกรรมหรือกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการมหาวิทยาลัยอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การจัดการความหลายหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐย่อมทำให้สามารถทราบทิศทางในการจัดการการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติหรือทิศทางในการรับนักศึกษานานาชาติเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงการรองรับบริการด้านการศึกษาต่อนักศึกษานานาชาติเท่านั้น หากแต่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของนักศึกษาอาเซียนจากประเทศต่างๆในภูมิภาค ที่จะก้าวเข้ามาสู่รั่วมหาวิทยาลัยของรัฐอีกด้วย

การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐก็ยังทำให้สามารถสนับสนุนกระบวนการอื่นๆหรือการประเมินอื่นๆในมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้เกิดความยุติธรรม (fair) มากขึ้น เช่น ในการต่อสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ นอกจากมหาวิทยาลัยจะพิจารณาเงื่อนไขการต่อสัญญาจ้างในระยะต่างๆ แล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องพิจารณาภาพรวมของกลไกการประเมินหรือพิจารณาเงื่อนไขในการต่อสัญญาจ้างว่ามีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติภายในองค์กรด้วยหรือไม่ รวมไปถึงการปรับตําแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนประจําปี ตลอดจนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องกระทำโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยของรัฐยังอาจสามารถชี้ช่องหรือชี้จุดบกพร่องว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เทียมเทียมในการปฏิบัติต่อบุคลากรประเภทต่างๆ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย เช่น พนักงานมหาวิทยาลัยหมวดเงินอุดหนุน ซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และพนักงานมหาวิทยาลัยหมวดเงินทุนคณะ ซึ่งจ้างจากเงินรายได้ อาจได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์เกื้อกูลจากการประกอบอาชีพที่ไม่เท่าเทียมกันหรือมีความเหลื่อมล้ำกัน

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมรูปแบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของรัฐจึงถือเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันการศึกษา ที่ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย บุคลากรมหาวิทยาลัยและนักศึกษา รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยได้ทราบทิศทางในการส่งเสริมความเท่าเทียมและทิศทางในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในอนาคต นอกจากนี้ การพัฒนากลไกที่ส่งเสริมความเท่าเทียมย่อมเป็นการสร้างสังคมมหาวิทยาลัยให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน การเรียนและการใช้บริการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเป็นสิ่งที่ไม่พึ่งประสงค์สังคมอุดมศึกษาของรัฐ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net