Skip to main content
sharethis

จากกรณีสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดลงในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่ง กสทช. ไม่สามารถจัดการประมูลได้ทัน และมีการร่างประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เพื่อยืดอายุสัมปทานออกไป ด้วยเหตุผลว่าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้น วานนี้ (12 ก.ค.56) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการเสวนา “ทางออกผู้บริโภค: กรณีซิมดับจากการหมดอายุสัมปทาน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 กล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดของตนเองนั้น ถูกแต่งตั้งเมื่อ ส.ค.55 โดยได้จัดทำรายการข้อเสนอไปตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม ปีนี้ หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ไม่มีการเรียกประชุมอีก และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz โดยมี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. นั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการ

เดือนเด่น กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะของตนเองในขณะนั้น เสนอว่า ควรนำคลื่นความถี่มาประมูลอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เห็นว่า การพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ไม่สามารถกระทำได้ และให้ กทค. เร่งจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ เพื่อเตรียมการประมูล นอกจากนี้ ยังเสนอด้วยว่า หากประมูลไม่ทัน หรือประมูลทันแต่ไม่สามารถให้บริการได้ทัน ให้ กสท.พิจารณารับลูกค้าที่คงเหลือในระบบ โดยการใช้คลื่น 800 หรือคลื่น 1760.5-1785 MHz และ 1785.5-1880 MHz ที่ กสท. มอบให้ดีแทคสำรองใช้งานและยังว่างอยู่ อย่างไรก็ตาม จนตอนนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการประมูลเลย แม้ว่าจะเสนอมากว่า 7 เดือนแล้ว ขณะที่การจ้างประเมินคลื่นความถี่ ก็ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ถ้าทำจริง ไม่น่าจะใช้เวลานาน เพราะวิธีประมูลก็คล้ายกับเมื่อคราวประมูลคลื่น 2100 MHz

 

เดือนเด่นตั้งคำถามถึงการอ้างตัวเลขผู้ใช้บริการของทรูมูฟกว่า 17 ล้านเลขหมายที่อาจจะพบปัญหาซิมดับด้วยว่า เป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะไม่เคยได้รับตัวเลขจาก กสทช. เลย ไม่เคยทราบว่ามีการโอนย้ายไปแล้วเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาก็มีการโอนย้ายอยู่ตลอด ยิ่งระยะหลังมีการโอนย้ายได้วันละ 100,000 เลขหมาย เดือนหนึ่งก็สามล้าน ก็นับว่าเยอะ  ทั้งนี้ ลูกค้าที่เป็นพรีเพดนั้นมี 17.02 ล้านเลขหมาย บัตรหมดก็เปลี่ยนไปค่ายอื่น ขณะที่ส่วนที่มีปัญหาจริงๆ คือ โพสต์เพด ซึ่งมีเพียง 0.82 ล้านเลขหมาย ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้เยอะอย่างที่มีการสร้างให้เกิดขึ้น

 

ในส่วนความเห็นต่อร่างประกาศฯ นั้น เดือนเด่นยังคงมองว่า ไม่เห็นด้วยกับการต้องยืดระยะเวลา เพราะเป็นการเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน และปัญหานั้นเกิดจากที่ กสทช. ล่าช้าในการดำเนินการเตรียมการจัดประมูล ละเลยการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ เพื่อย้ายเลขหมายไปยังผู้ประกอบการรายอื่น

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศว่า ควรมีการระบุให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาจัดการประมูลที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะมีข้อครหาว่าจะยืดเวลาไปอีกหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้ กสทช. รับผิดชอบในความล่าช้าของตัวเองด้วย นอกจากนี้ เสนอว่า ควรมีการจัดทำกรอบแนวทางเยียวยาผู้ใช้บริการที่เป็นมาตรฐาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควรมีหน้าที่ต้องกำหนด ไม่ใช่ให้เอกชนเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอมา ที่สำคัญ มองว่า ประกาศดังกล่าวควรใช้เฉพาะกับกรณีคลื่น 1800 เท่านั้น ไม่ใช่ใช้กับทุกกรณีอย่างที่มีการให้สัมภาษณ์

"ไม่มีเหตุผลต้องทำอีกเป็นครั้งที่สอง ถ้าจะบอกว่าทำไม่ทัน ก็ไม่ต้องมาเป็นเรกูเลเตอร์" เดือนเด่นกล่าวทิ้งท้าย  

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค. และ กสทช.  กล่าวว่า ฝั่งเอกชนทุกเจ้าพยายามเสนอให้มีการประมูลคลื่น 1800 โดยเร็ว ตั้งแต่ก่อนการประมูลสามจีแล้ว เพราะเขาต้องการความชัดเจน อยากรู้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมเงินประมูลคลื่น และย้ายผู้บริโภค แต่ กทค.กลับบอกว่า ไม่เป็นไรจะประมูลหลังประมูลสามจี และสุดท้ายก็ทำไม่ทัน ที่น่าสงสัย คือ กรณีนี้ ถ้าบอกว่าทำไม่ทัน โดยอ้างว่ามีผู้บริโภคย้ายค่ายทำไม่ทัน ต้องดูแลผู้บริโภค ก็พอฟังได้ แต่ถามว่าคลื่น 900 ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในอีกสองปี ถ้าประมูลไม่ทัน กสทช.สมควรต้องถูกถอดถอนหรือไม่

ประวิทย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เคยเชิญนักกฎหมายจากอัยการสูงสุด กฤษฎีกา สำนักงานกฎหมาย มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงนายแก้วสรรมาประชุมกัน แต่นายแก้วสรรสุดท้ายไม่ได้เข้าประชุม ซึ่งได้ข้อสรุปของนักกฎหมายในที่ประชุมตรงกันว่า การให้เอกชนทำคลื่นต่อนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งตนก็ได้นำความเห็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กทค.แล้ว ดังนั้น กรณีที่มีกรรมการ กทค.และ กสทช.บางคนบอกว่า ตัวเองเอาแต่ค้านไม่เคยเสนอทางออกนั้นไม่จริงและขอให้กรรมการท่านนั้นกลับไปอ่านเอกสารบ้าง

ประวิทย์ เล่าว่า นายแก้วสรรเองก็เคยยอมรับว่าที่ตนเองตั้งคำถามเรื่องความชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นประเด็น แต่เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กทค.และที่ประชุม กสทช. กลับไม่มีการเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. พิจารณา โดยมีกรรมการ กสทช. คนหนึ่งหลุดปากว่าถ้ายื่นไปแล้วเขาบอกว่าทำไม่ได้จะทำอย่างไร

ต่อมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน โดย ชโลม เกตุจินดา แถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า การจะออกประกาศดังกล่าวเป็นการยืดอายุการให้บริการ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการ และเป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดจากการดำเนินการล่าช้าจนถึงการไม่ดำเนินการเพื่อให้เกิดประมูลคลื่นได้ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ กสทช. โดยใช้ผู้บริโภคจำนวนมากกว่า 17 ล้านเลขหมายเป็นตัวประกันจากปัญหาซิมดับ ทั้งที่การสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เป็นเหตุการณ์ที่ทราบล่วงหน้าและมีการให้ข้อมูลเตือนจากหลายฝ่าย โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมได้เชิญผู้ให้บริการทั้งสองรายเพื่อหารือปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่ 10 เม.ย.2555 แล้ว และตัวแทนจากทั้งสองบริษัทระบุว่ายังไม่ได้รับความชัดเจนจาก กสทช.ว่า จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานหรือไม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 ก็ได้จัดทำข้อเสนอตั้งแต่เดือนมกราคม ให้จัดประมูลคลื่นให้เร็วที่สุด รวมถึงมีการเสนอแผนเยียวยาต่างๆ ขณะที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เห็นว่า การพิจารณาขยายเวลาในการใช้คลื่นความถี่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกฎหมายของไทยกำหนดไว้ชัดเจนว่า การจะนำคลื่นไปใช้นั้นต้องด้วยการประมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรดำเนินการประมูลคลื่นอย่างเร่งด่วน แต่เสียงเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า เมื่อถึงวันนี้ที่การประมูลคลื่นไม่สามารถดำเนินการได้ คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอถึง กสทช. ขอให้มีการเร่งรัดการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มศักยภาพ คือ 3 แสนเลขหมายต่อวัน ขอให้จัดให้มีการเพิ่มประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการให้การคุ้มครองฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ค.ให้มากกว่าที่กำหนดและเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ และกำหนดวันจัดประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องต่อผู้ให้บริการ คือ บริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ว่าจะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ และกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาผู้ใช้บริการในระบบพรีเพด บริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อใช้ขอคืนได้ด้วยอย่างชัดเจน

ขณะที่มีข้อเรียกร้องไปยังซูเปอร์บอร์ด (คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.)  ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าของ กสทช. ในกรณีที่ไม่สามารถจัดการประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ก่ิอนสิ้นสุดสัมปทานด้วย

ด้านสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ตั้งคำถามต่อว่า กรณีที่มีการร่างประกาศ โดยจะเปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 25 ก.ค.นั้น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องมีกฎว่า ผู้ที่จะไปแสดงความเห็นต้องส่งความเห็นภายในวันที่ 17 ก.ค. ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิไปพูดในวันที่ 25 ก.ค. ด้วย ทั้งที่คนที่อยากแสดงความเห็นควรมีสิทธิอย่างเต็มที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net