Skip to main content
sharethis
 
สพฉ. ห่วงคนไทยป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เหตุใช้ชีวิตสังคมเมือง ไม่ออกกำลังกาย-เครียด เผยปี 2556 มีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือแล้วกว่า 16,476 ครั้ง 
 
สพฉ. ห่วงคนไทยป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น  เหตุใช้ชีวิตสังคมเมือง ไม่ออกกำลังกาย เครียด  แนะวิธีสังเกตุอาการ หากเหนื่อยหอบจุกเสียดที่หน้าอก คลื่นไส้ รีบโทรแจ้ง 1669 ย้ำหากรักษาภายใน 3 ชั่วโมงโอกาสรอดชีวิตสูง เผยปี 2556 มีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือแล้วกว่า 16,476 ครั้ง
 
หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ก็คือโรคหัวใจ ที่เกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ซึ่งถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมาเป็นอันดับ 2  และเป็นหนึ่งใน 6 โรคฉุกเฉิน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำลังหาแนวทางป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิต 
 
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฉ.ได้เร่งจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมและทันกาลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน 6 โรคฉุกเฉิน ที่ปัจจุบันมีอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น อาทิ การบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุจราจร ภาวะวิกฤติในทารกแรกเกิด ทั้งนี้สำหรับสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นผลจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลกับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รสหวาน มัน เค็ม  รับประทานผักผลไม้น้อย  มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การทำงานนั่งโต๊ะ มีความเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้นและทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
 
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ภาวะหัวใจวายแบบเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว มีไขมัน หรือแคลเซียมไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย ซึ่งหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมาก หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตัน 100% ในทันทีตรงตำแหน่งที่มีไขมันเกาะเส้นเลือด จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดไหล่ซ้ายมากกว่าไหล่ขวา จุกแน่นที่ท้อง จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้อาจเจ็บ หลังจากออกกำลังกายหรือเครียด แต่เมื่อหยุดพักจะหาย  ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลง พักกายและใจทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบอมยาใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการ
 
“ปัจจุบันการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจได้ก้าวหน้ามาก และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและพิการลงได้ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับการรักษาที่ทันเวลาคือภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ “สวนเส้นหัวใจ” ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนและผู้ป่วยตระหนักรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือจึงเป็นสิ่งสำคัญและจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้มากขึ้น”
 
ทั้งนี้ สำหรับสถิติการปฏิบัติการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2556 พบว่ามีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือจากบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากปัญหาด้านหัวใจ 16,476 ครั้ง และมีการขอความช่วยเหลือเนื่องจากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น 637 ครั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net