ธเนศวร์ เจริญเมือง: สภาวะอำนาจนิยมของสิ่งที่เรียกกันว่า 'การรับน้อง'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ

1. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เห็นความสำคัญของการอ่านมากๆ แต่เน้นให้จำ จำเพื่อจะได้ไปสอบ สอบให้ได้คะแนนดีๆ คะแนนดีๆ แล้วสมัครอะไร เขาก็จะรับ

2. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เน้นการคิด การวิเคราะห์ การตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย การฝึกค้นคว้า การออกไปค้นหาความจริงในที่ต่างๆ และที่ห้องสมุด แต่เป็นการเรียนให้จำ ให้จด ไม่ต้องถามมาก หรือไม่ถามเลยยิ่งดี

3. เพราะเรียนจบแล้ว ก็บอกว่าจบ จบหลักสูตรแล้ว ก็จึงไม่ต้องอ่านอะไรอีกแล้ว เพราะจบแล้ว ฉลาดแล้ว ได้ปริญญาแล้ว ได้ถ่ายรูปใบสำคัญเอาไว้อวดเพื่อนบ้านญาติมิตรแล้ว ได้กินเลี้ยงแล้ว ก็ไม่เห็นต้องอ่านอะไรอีกล่ะ

4. เพราะรอบๆ สถาบันการศึกษา มีร้านหนังสือน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านดนตรี กินดื่มเต้น และร้ายขายของสารพัด แทบไม่มีร้านหนังสือเลย หรือมีน้อยมากๆ มีหนังสือพิมพ์วางขายหน้าร้าน 3 -4 เล่ม มีนิยาย นิตยสารให้เช่าจำนวนหนึ่ง นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเลย นี่ไงครับ บัณฑิต ที่ครองตน ครองคน และครองงาน หนังสือไม่ต้องอ่าน เพราะจบแล้วหรือว่าใกล้จะจบแล้วนี่ครับ เวลาขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ ก็แทบไม่เห็นว่ามีใครอ่านหนังสือเลย

แล้วถ้าถามต่อไปว่า ก็ทำไมไม่ปฏิวัติการเรียนการสอน และการสอบ ตามข้อ 1-2-3 ที่ได้พูดไป ก็ต้องบอกว่าก็คนสอนเขาไม่ต้องการให้คนเรียนคิดเป็น ถามเป็น ตอบเป็น เถียงเป็น ค้นคว้าเป็น หรือตั้งคำถามเป็นนี่นา

ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปเป็นปี 1 ดูสิครับ กฎระเบียบทุกอย่างที่วางไว้โดยสถาบันและโดยรุ่นพี่ วางกรอบ วางกฎไว้หมดทุกอย่าง ถามได้ไหม เถียงได้ไหม แย้งได้ไหม เสนอได้ไหม สงสัยได้ไหม ขอให้ทบทวนได้ไหม ฯลฯ

ก็แทบไม่ได้สักอย่างเดียว แล้วจะคาดหวังอะไรจากระบบการศึกษาเช่นนี้ครับ

 

000

ใครเป็นคนทำ VDO นี้ ไม่ได้บอกชื่อไว้ แต่ขอได้รับคำขอบคุณจากคนดูครับ
เพราะให้ภาพชัดดี ข้อมูลมากมาย (ดูวิดีโอที่นี่)

"รับน้องขึ้นดอย 56" กิจกรรมสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือยังคงสะท้อนสภาวะสำคัญที่เราเรียกกันระบบรับน้อง และระบบว้ากน้อง ที่ร่วมมือกัน โดยคน 4-5 กลุ่ม ที่มีความคิดโดยหลักๆ เป็นเอกภาพ ตรงกัน คล้ายคลึงกัน คือเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์
กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักศึกษารุ่นปี 2-3-4-5-6
กลุ่มที่ 3 คือบรรดาศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว แต่คิดถึง เลยมาแวะดู ยืนดู เชียร์ หาน้ำหาขนม หาเงินมาให้ มาหนุน
กลุ่มที่ 4 บรรดาสื่อมวลชน ซึ่งก็คือพวกศิษย์เก่า มารายงานข่าว เก็บเก่า ยืนดูไป เชียร์ไปด้วย เพราะผ่านมาแล้ว เห็นด้วย ชื่นชม อาจจะควักเงินด้วย และอาจมีน้ำตาไหลด้วย แล้วก็กลับไปเขียนเชียร์

นี่คือ 4 กลุ่มหลักที่เป็น Actors และเป็น conductors ด้วย ส่วนบรรดาน้องใหม่ ก็เป็น Actors ที่แสดงบนท้องถนนที่ผู้คนเห็นหน้ามากที่สุด แต่พวกเขาก็เป็นเหมือนตัวละครแบบพวกจุฑาเทพ หรือละครไหน นั่นคือ กลุ่มทั้ง 4 โดยเฉพาะกลุ่ม 1-2-3 สั่งให้ทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น ตัวอย่าง

1. แต่งชุดเหมือนกันหมด โชว์ส่วนที่เป็นล้านนา เพราะมหาลัยเห็นแล้วว่าต้องทำให้โลกเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องสืบสาน ถามไม่ทำ เดียวโดนวิจารณ์ อีกอย่างมันขายได้ เอาไปขอเงินได้ นักท่องเที่ยวก็ชอบมาดู ไปของบจากรัฐบาล ก็จะดูดี

2. เน้นคณะนิยม แบบขุนศึกศักดินาเป็นก๊กๆ แต่ละก๊ก ธงไม่เหมือนกัน แต่งกายไม่เหมือนกัน เพื่อโชว์ก๊กใครก๊กมัน ก๊กของเราต้องสวยเลิศกว่าคนอื่น ระบอบอำมาตยาก็สร้างก๊กไว้แบบนี้

3. เน้นแต่งกายทะมัดทะแมง เพื่อสะดวกเวลาพี่สั่งให้น้องๆวิ่งขึ้นไป โชว์ความแข็งแกร่ง โชว์พลังของก๊ก น้องปี 1 หญิงต้องนุ่งกางเกง ล้านนา สตรีนุ่งซิ่นเอาเก็บไว้ ไม่ได้ เพราะต้องวิ่งขึ้นโชว์ความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน สปิริต พี่สั่งอะไร น้องต้องทำให้ได้ ทุกอย่างตามที่พี่อยากเห็น

4. สังเกตไหม น้องยืนตัวตรง หน้าบึ้ง ไม่ยิ้ม เหมือนทหารถูกบังคับ

5. ได้ยินไหมครับ พี่ตะโกนบอก เราจะเดินขึ้น สูงชัน โหด ทำภารกิจอันยิ่งใหญ่

6. แล้วก็ก้มๆเงยๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามก๊กให้ดังสุดเสียง ให้โลกรู้ว่ากูคือใคร คณะอะไร ได้ยินไหม ก็คือเพลงเชียร์คณะที่ซ้อมกันมาเป็นเดือนนั่นแหละ

7. แล้วพี่ก็สั่งให้เกาะบ่ากัน วิ่งๆๆๆๆ ขึ้นโค้งขุนกัณฑ์ หรือหากเิดินช้าไป เกิดช่องว่าง ก็ต้องเร่งให้วิ่ง ให้แถวกระชั้นเข้ามา

8. มีรุ่นพี่ตะโกน ว่าให้น้องๆดูแลกัน ช่วยกัน และพี่จะเข้าไปช่วย

9. เห็นชัดไหมครับ พี่ๆ ปี 2-3-4 แทบทุกคณะไม่แต่งกายล้านนา ไม่เข้าแถว กับน้อง แต่ส่วนหนึ่ง จะยืนหน้าสุด เหมือนทหาร ถือธงอันยิ่งใหญ่ของก๊ก เหมือนไปรบพุ่งกับศัตรู ใบหน้าเข้ม เอาจริง ยืนแบบนั้นหน้าขบวน ไม่่กี่คนครับ แต่ข้างๆทั้งชายหญิงคือรุ่นพี่ ที่ดูแลน้องๆ มักใส่เสื้อสีน้ำเงินหรือสีดำ พวกเขาไม่แต่งตัวแบบน้อง เพราะถือว่าผ่านมาแล้ว ปีก่อน ทำแล้วนี่ ปีนี้ก็ไม่ต้อง แต่เป็นผู้กำกับบท และคอยช่วยเหลือ คอยดูแล และแน่นอน คอยเชือด คอยบันทึก ถ้าใครไม่ให้ความร่วมมือ กลับลงมาจากดอย กลับไปที่ก๊ก มึงตายแน่ เจอโทษแน่ ฯลฯ

จาก 9 ข้อนี้ เราเห็นชัดเจนมากครับว่า นี่คือการเอาการขึ้นดอยไปไหว้พระธาตุมาทำให้ดูดี ด้วยการทำทุกปี แล้วบังคับให้ยึดกันเป็นประเพณี (จะได้ดูเป็นคนมีอารยธรรม มีศิวิไลซ์ ไม่ใช่คนล้าหลัง เพราะเป็นคนมีรากเหง้า มีแบบแผน) แต่ทั้งหมด ก็ให้ดูดี ดูล้านนา (แม้บางส่วน) ดูนำไปขายได้ อวดโลกได้ แต่ทั้งหมดก็คือ ส่วนหนึ่งของการสร้างก๊ก ให้น้องๆอยู่ในโอวาท สั่งอะไรให้ทำตาม ต้องทำตาม เพราะยังจะต้องมีกีฬาอีกหลายรายการ ที่น้องๆต้องไปเชียร์ ไปร้องเพลง ไปเป็นลีด ไปปรบมือ ไปตะโกน สู้ ๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามอันเกรียงไกรของก๊ก

น้องๆ ต้องทำสิ่งเหล่านี้ เพราะพี่ๆ ผ่านมาแล้ว เมื่อพี่ๆ ทำมาแล้ว น้องก็ต้องทำตาม ไม่ทำไม่ได้ ห้ามขัดประเพณี

ก็ถามสิครับ คนล้านนาเดินขึ้นดอย ไปทำไม ไปไหว้พระ ไปสงบจิตใจ ไปหาคำสอน บนนั้นไม่มีหิมะ ไม่ใช่ไปตาย เดินไปหยุดไป คุยไป ออกกำลังไป รู้จักกันไป ผูกมิตรกันไป ทำไมต้องเครียด ทำไมต้องแข่งกัน ใครถึงก่อน ใครตะโกนร้องเพลง เสียงดังกว่า

ถึงได้บอกว่า การขึ้นดอยเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงวิธีการที่นำไปรับใช้ระบบรับน้องและว้ากน้องเท่านั้น น้องคือเครื่องมือ น้องคือตัวแสดง ที่ผู้กำกับบท เจ้าของค่าย เจ้าของก๊ก อยากเห็นและอยากให้ทำ และรักษาระบบอำนาจนี้ รักษระบบการกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ถามว่า แล้วเราจะจัดประเพณีแบบประชาธิปไตย ที่สถาบันการศึกษาสูงส่งนี้ทำได้ และทำได้ดี มีคนรัก คนชื่นชม คนยกย่องได้ไหม ได้ครับ

เช่น เข้าแถวได้ ทำตัวให้สบาย ไม่ต้องยืนแบบทหาร ไม่ต้องตะคอก ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องยืนดุมรอบๆ เพื่อกดดันน้อง ไม่ต้องทำตัวเป็นเจ้าของก๊ก เจ้าของค่าย ปีที่แล้ว พวกคุณไปแล้ว ก็ไม่ต้องไป ถ้าไม่อยากไป และไม่ต้องมาคุม มาบงการ มาสั่งการ มาคอยดูแลพฤติกรรมเพื่อที่จะเล่นงานและลงโทษน้องเมื่อลงจากดอย

แต่งตัวตามคณะก็ได้ เหมือนก้ันก็ได้ ไม่เหมือนกันก็ยังได้ ด้วยการถาม ปรึกษาหารือกัน ให้น้องออกแบบก็ยังได้ เปิดประชาธิปไตย กันได้ เหนื่อยก็พัก ไปวัด ไปทำใจสงบ ไม่ต้องสำแดงเดช ไม่ต้องบูม ไม่ต้องแหกปาก แค่มีป้ายถือบอกคณะไหน ผู้คนก็รู้หมดแล้ว บางคณะทำแย่มาก สังเกตไหมครับ เอาป้ายชื่อน้องแขวนน้องทุกคนด้วย ก็คือบังคับในมหาลัยยังไม่พอ จะขึ้นดอย ยังตามมาบังคับกันอีก

ความจริง ถ้าเดินขึ้นจากถนนสุเทพ ไปทางกาแล เดินขึ้นไปบนเส้นทางนั้นแบบบรรพชนชาวล้านนาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนปี พ.ศ. 2477 เดินทั้งขึ้นและลง ทำทางให้ขยายกว้างกว่าเดิม ไม่ต้องมาใช้ถนนที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง ก็อาจจะเท่ไปอีกแบบด้วยซ้ำไป อาจจะดีกว่า ได้บุญมากกว่าด้วยซ้ำไป

สุดท้าย ถ้าทำแบบโอลิมปิค ก็ยังได้ ออกเช้า ค่อยๆ เดิน พักไปเรื่อยๆ ก็ไม่เครียด ขากลับแตกคณะเดินคละกัน เอาธงทุกคณะมารวมกันเดินเข้าสเตเดียมด้วยกันแบบพิธีปิดโอลิมปิคยังได้เลย แต่พวกเขาถูกบังคับแต่แรกให้ไป บีบกันมาก สั่งให้วิ่ง สั่งให้ไปถึงก่อนคณะคู่แข่ง แบบนี้ ใครจะมีความสุข ในใจมันมีแต่กิเลศ มันมีแต่การแข่งขัน ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไว้ แล้วใครจะเดินกลับมาเพราะมันหมดแรงหมดใจ ไม่ได้อิ่มเอิบอะไร เพราะไปวัดไปดอยมาหลายหนแล้ว ไปกันเอง ไปกับครอบครัว นี่ยังมาบังคับกะเกณฑ์ (กรู) อีก มันจะอะไรนักหนา จะแหกปากกันไปถึงไหน ทุกอย่างก็ให้มหาลัยได้หน้า ให้พวกรุ่นพี่มีความสุข สะใจได้บังคับรุ่นน้อง ได้ล้างแค้นสำเร็จแล้ว ก็เท่านั้น

นี่ไงครับ ปฏิบัติการแบบอำมาตยาธิปไตยในแวดวงการศึกษาระดับสูงของประเทศนี้

 

000

ปล.1 เราไปวัดเพื่ออะไรครับ ... ก็ไปทำบุญ ไปไหว้พระ ชมสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ซึ่งเป็นอารยธรรมที่บรรพชนเราท่านสร้างไว้ ไปสงบจิตใจ ไปเข้าใกล้ธรรมะ ไปหาพลังชีวิต ฯลฯ

หลายร้อยปีที่ผ่านมา คนล้านนาเดินขึ้นดอยสุเทพคืนก่อนวันวิสาขบูชา ก็ด้วยจิตใจมุ่งม้นต่อพระศาสนา ก่อนไปควรจะอวดใครในโลกนี้ไหมว่า นี่ๆ ฉันจะเดินไปวัดแล้วนะ รู้ไหม

ฉันจะเอาป้ายไปหลายใบ บอกให้ใครทั่วโลกรู้ว่าฉันเป็นใคร เรียนอะไร คณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร ฯลฯ

วันนี้ คนมีการศึกษาเอาการขี้นดอยเป็นเครื่องมือเพิ่ออวดสถาบันตัวเอง แข่งขันวิ่งขึ้นไป ใครจะถึงจุดหมายก่อน จะได้ร้องเพลงประกาศ นามสถาบันดังๆ ในวัดหรือหน้าวัด คิดไปคิดมา ก็ชวนสงสัยว่าการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้เราควรจะเปนชาวพุทธที่สุขุม อ่อนน้อมมากขึ้น หรืออหังการมากขึ้น โอ้อวดตัวเองมากขึ้น?

 

ปล. 2 เราจะทำอะไร รวมหมู่กัน ไม่ว่าในหน่วยงาน ไหน สถาบันไหน แบบประชาธิปไตยได้ไหมครับ ไม่ยากเลย

1. เคารพซึ่งกันและกัน เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน ปี 1 2 3 4 5 6 อาจารย์ใหม่ เก่า ทุกคนก็ค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร และไม่ควรมีใครบังคับใคร สั่งใคร เพราะเราทุกคนเท่ากัน ดังน้น ก็ถามความเห็นกัน ปรึกษากัน ชวนกัน ให้ทุกคนทำตามใจสมัคร

2 จะคิดทำอะไร ก็วางแผนร่วมกัน เช่น เพื่อนๆ ปี 1 ที่รักทั้งหลาย ทุกปี เราจะมีงานเดินขึ้นดอย ที่ผ่านมา เราทำแบบนี้ (ฉายวีดีโอให้ดูประกอบ) ดูร่วมกันเสร็จก็ถามปี 1 เลย เอ้า เพื่อนๆ ปี 1 เราจะทำต่อดีไหมครับ ถ้าจะทำ จะทำแบบไหน แต่งกายอย่างไร ใครจะออกเงิน ออกแบบ ใครจะแบ่งงานกันอย่างไร

แล้วก็แบ่งแผนงานไปคิด แยกกันไปทำ แล้วมานำเสนอ ให้ที่ประชุมรับรอง จากนั้น ก็เอ้า ใครจะไป ใครจะไม่ไป ใครจะออกเงินช่วย

อ้าว ปีนี้ เพื่อนๆ ปี 1 ไม่มีใครอยากไปเลย เพราะเดินขึ้นดอยมาหลายหนแล้ว ตอนอยู่สาธิต อยู่ยุพราช วัฒโน พ่อแม่พาไป ฯลฯ ไม่อยากไปตอนนี้ เอ้า ไม่ไปก็ไม่ไป พวกเรา ปี 2-3-4 -5 มานั่งคุยกันเอง เราก็ไปของเราเอง ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างครับ พี่น้อง ประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เคารพกัน ฟังกัน และทุกอย่างทำไปด้วยใจ ด้วยความรัก ด้วยศรัทธา ไม่มีบังคับกันเลย

ปุจฉา ชาตินี้ จะได้เห็นกิจกรรมแบบนี้ไหม ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศนี้

 

ปล. 3 มีคนเขียนมาแซวหลังไมค์มา สมัย ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน เป็นรองอธิการบดี ได้ให้นักศึกษาเดินขึ้นดอย วิ่งขึ้น เป็นการออกกำลังกายด้วย

ก็ดีนี่ครับ แต่ว่าเราจะต้องไม่บังคับกัน ไม่ใช่ให้ทุกคนในคณะวิ่งไปพร้อมกัน ยกเท้าพร้อมกัน ไปถึงจุดหมายพร้อมกัน ไม่ใช่ครับ คนเราเดินไม่เท่ากัน วิ่งไม่เท่ากัน เราไปวัด ไปขึ้นดอย ไปไหว้พระด้วยศรัทธา อย่าเอาฮิตเล่อร์ อย่าเอามุสโสลินีมายุ่งกับกิจกรรมพระพุทธศาสนาแบบนี้ เราเป็นสถาบันปัญญาชน ใช้ปัญญาไปวัด ไปหาพระ เราไม่ใช่สถาบันที่ใช้ตีน และใช้อาวุธ เราเป็นสถาบันที่ใช้สมองครับ โปรดทราบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท