Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 56 ที่ผ่านมาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค จัดสัมมนาเรื่อง “ระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ : การใช้สิทธิฉุกเฉินตามนโยบายรัฐ” เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลได้ประกาศลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการรักษาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนคนไทย ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี แต่พบว่ายังมีประเด็นที่สังคมมีความกังวลอยู่หลายประเด็น ด้วยเหตุนี้คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ณ ห้องประชุม 8 ชั้น 2 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจทั้งนักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น
 
นพ.ปกรณ์ นาระคล  นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง นโยบายและทิศทางการปฏิรูปสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ว่า ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โดยสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน ทำหน้าที่ดูแลด้านการปฏิบัติการ ส่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นผู้ควบคุมให้นโยบาย กำกับดูแลและตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งตนอยากให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนร่วมทุกส่วน มาช่วยกันกำหนดตัวชี้วัด และกติกาต่างๆ เพราะบางครั้งถ้าเรากำหนดมาตรฐานที่สูงเกินไปแล้วไม่สามารถทำได้ อาจจะกลายเป็นโทษ ดังนั้น เราจึงต้องมีการกำหนดกติการ่วมกัน
 
ด้าน ดร.นพ.สัมฤทธิ์  ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง การพัฒนาเชิงโครงสร้างการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ว่า นโยบาย “ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน” ถือเป็นนโยบายที่ดีมากกับประชาชน ถ้าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองที่ดี แต่นโยบายนี้จะไม่สามารถไปต่อได้ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีแก้ปัญหา คือ ต้องมีกลไกบริหารระบบโดยรวม รวมทั้งกำหนดกฎระเบียบต่างๆที่จะมารองรับโครงการ การกำหนดขอบเขตของผู้มีสิทธิเข้ารับบริการให้ชัดเจน และต้องมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ เพื่อให้สามารถเดินต่อได้ โดยไม่เกิดปัญหาในระยะยาว
 
ด้าน พอ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน 2551 ว่า เนื่องจากการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันยังขาดระบบบริหารจัดการด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติการ ทำให้มีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเสียชีวิต อวัยวะ รวมทั้งทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นโดยไม่สมควร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิด พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินขึ้น โดยคาดหวังว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือ รักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์
 
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้กำหนดกลไกที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ คือ การพัฒนาศูนย์สั่งการในแต่ละจังหวัด เพื่อให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่ พัฒนาการคัดแยกให้มีการคัดแยกที่ถูกต้องมีคุณภาพ ทันต่อเวลา และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการสายด่วน 1169
 
ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม อุปนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึง การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในมุมมองโรงพยาบาลเอกชน ว่า ในปัจจุบันปัญหาที่พบในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน คือ ความไม่ชัดเจนของกฎเกณฑ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่ใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ตัดสินแต่กลับใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินว่า กรณีใดฉุกเฉินและกรณีใดไม่ฉุกเฉิน ซึ่งโดยปกติแล้วตามจรรยาบรรณของแพทย์และพยาบาล ถ้าผู้ป่วยฉุกเฉินจริงยังไงก็ต้องช่วย ไม่มีการปฏิเสธการรักษา ซึ่งภาคเอกชนยินดีร่วมมือและโดยส่วนตัวคิดว่า พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ดีมาก เพียงแต่ในทางปฏิบัติตนอยากเรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน แล้วชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 
 
ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย  กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึง โครงสร้างการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ว่า ความท้าทายเชิงนโยบายที่จะต้องทำให้ได้ในอนาคต คือ การเข้าถึงในการให้บริการทุกพื้นที่ การสร้างและพัฒนาบุคลากร คุณภาพการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และการประชาสัมพันธ์ 1169 ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
 
ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศาสตราจารย์ สำนักเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึง ข้อเสนอการปรับปรุงเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ว่า ข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ด้านการคลัง ควรทำให้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถมีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพ เพราะประเทศไทยต้องการระบบธรรมาภิบาล คือ มีความโปร่งใส พร้อมจะเปิดเผยความผิดพลาดของตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ด้านรูปแบบบริการ อยากให้มีการบูรณาการของศาสตร์ในการดูแลผู้ป่วย และต้องเป็นการบริการที่ไร้รอยต่อ ด้านการอภิบาลระบบ ต้องการการสนับสนุนระบบการพัฒนาบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม และการลงทุนในระบบสารสนเทศ
 
ด้าน นางสาวสุภัทรา นาคะผิว  ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ข้อเสนอทิศทางการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในมุมมองของผู้รับบริการ ว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” คือสโลแกนที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทำมาโดยตลอด ภาคสังคมได้เกาะติดเกี่ยวกับเรื่องระบบสุขภาพมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะในรัฐธรรมนูญพูดถึงสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพ ตนจึงอยากเรียกร้องให้ ภาครัฐมีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมให้มากกว่านี้ และรัฐควรเปิดเผยข้อมูลในที่สาธารณะให้มากกว่านี้ ไม่ควรเก็บงำไว้ แล้วนำไปพูดในมุมแคบๆ ควรให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถขึ้นตรงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะปัจจุบันการบริหารจัดการเหมือนถูกกินเปล่า การใช้สิทธิยุ่งยากและไม่เป็นจริง
 
ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net