Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายครั้งพอพูดถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หลายท่านมักจะชักสีหน้ากับระบอบนี้ โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยบานหุบบานโผล่ แต่แท้จริงแล้วระบบแบบนี้ มันไม่น่ากลัวเสมอไป แต่มันอยู่ที่คนใช้มันมากกว่า เหมือนในบทความ ชื่อ “Good Autocracy” เคยได้นั่งอ่านเมื่อนานมาแล้ว มีเนื้อหาใจความว่าระบบการปกครองไม่ว่าแบบใดมันขึ้นอยู่กับตัวของผู้ปกครองว่าเป็นอย่างไร มีทัศนะ มีบุคลิกภาพ มีแนวคิดอย่างไร ทำให้นึกถึงการเกิดขึ้นของระบบการปกครองในสิงค์โปรที่แยกออกมาจามาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มาเลเซียยอมให้แยกออกได้โดยง่ายเพราะกลัวการย้ายถิ่นของคนจีนที่จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ เข้าไปในมาเลเซียเพื่อรักษาความเป็นมลายูไว้

อย่างไรก็ตามเมื่อแยกตัวได้แล้ว สิงคโปร์ในขณะนั้นมีฐานะประเทศด้อยพัฒนาเป็นอย่างมาก  ลี กวน ยู ได้พยายามหาว่าระบอบการปกครองแบบใดที่จะสามารถนำมาพัฒนาประเทศของตนได้ดีที่สุดในสภาพเช่นนี้ จึงออกแบบการปกครองของตัวเองโดยการนำเอาแนวคิดของหลายๆ ประเทศมาออกแบบใหม่ โดยเน้นความเป็น “State Corporation” ซึ่งรัฐทำหน้าที่คล้ายเป็นบริษัทและมีบริษัทในเครือต่างๆ ทำงาน เช่น เทมาเส็ก ที่เรารู้จักกันดีเชื่อมโยงการลงทุนต่างในนามของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรณีดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าสภาพแบบนี้ก็เป็นการรวมศูนย์อำนาจ แต่แม้สภาพความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ จะมีน้อยมาก ค่าครองชีพที่สูง แต่ผู้คนจากหลายแห่ง แม้กระทั่งทั้งจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต่างก็ยังยอมอยู่ ไม่ว่าสภาพความเป็นอยู่จะอึดอัดพียงไหนพวกเขาก็ยังคงอยู่ ผู้คนมากมายส่งลูกหลานไปเรียนในประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างสิงคโปร์ เพราะเหตุใดผู้คนมากมายอยากไปเที่ยวที่นั้น จนดัชนีชี้วัดด้านการท่องเที่ยวสูงในระดับต้นๆ ของเอเชีย อะไร คือเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาทำเช่นนั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลสิงค์โปรไม่เคยมองข้ามเลย คือ  “ความพึงพอใจ” ของประชาชน จะทำอย่างไรให้คนมีความพึงพอใจ ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ต่อความคุ้มทุนต่อหน่วย น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบางรัฐไม่จำเป็นต้องใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ได้แต่ต้องอยู่บนฐานของคนเป็นศูนย์กลาง มันสะท้อนด้วยว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการปกครองทีคนที่มีเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนดนโยบายประเทศและในขณะเดียวกันก็รับฟังเสียงข้างน้อยด้วย (Majority Rule and Minority Right) ซึ่งนั้นคือ หลักปรัชญาสำคัญของ แต่ถ้าหากผู้นำมีลักษณะเป็นเผด็จการ หรือ อำนาจนิยมขึ้นมา โดยรู้ตัวเอง หรือ ไม่รู้ก็ตาม บนฐานคิดประชาธิปไตย แปลงโฉมทันทีเป็นประชาธิปไตยรวบอำนาจ ในเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยมีคำว่าเสียงข้างมากหนุนหลังทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งแบบชอบธรรมและไม่ชอบธรรม เหมือนที่ท่านอาจารย์ เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า Authoritarianism / Illiberalism การใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม/ไม่เสรี อันนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการเป็นประเทศที่มีลักษณะเผด็จการและอำนาจนิยมเต็มขั้นในคราบประชาธิปไตยเลยซึ่งอาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ

คราวนี้มาลองดูบรูไนฯ ประเทศซึ่งใช้ระบบสมบูรณายาสิทธิราช อย่างแท้จริง ประเทศบรูไนฯ เป็นประเทศที่เล็กมากและปกครองด้วยระบอบสมบูรณายาสิทธิราช แต่บรูไนฯ ไม่ได้มีสภาวะความกดดันทางทางการเมือง ความอึดอัดของสังคม หรือมีสภาพเศรษฐกิจแร้นแค้นเหมือนที่เราเห็นในบางประเทศ บรูไนฯ เป็น small state แต่มีลักษณะในทางตรงกันข้าม คือ strong state  เพราะความโชคดีที่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คือนำมันและก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกได้จำนวนมากและสร้างรายได้มหาศาลให้บรูไนฯ ประกอบกับการตัดสินใจที่จะไม่รวมประเทศกับมาเลเซียในอดีตทำให้ไม่ได้ต้องแชร์เรื่องผลประโยชน์ บวกกับมีจำนวนประชาการไม่ถึงสี่แสนคน ทำให้สถานะประเทศง่ายต่อการบริหาร และได้จึงได้นำรายได้มาพัฒนาดัชนีการพัฒนามนุษย์ จนติดอันดับที่ดีที่สุดในโลกร่วมกับประเทศในตะวันตก คือ อยู่ในอันดับที่ 30 จากทั่วโลก คุณภาพชีวิตของประชาชนที่นี้ค่อนข้างดีแม้ว่าจะไม่ได้มีการปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามการบริหารประเทศบรูไนฯ  มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ การสั่งการ และการตัดสินใจ ไว้ที่ส่วนกลาง ก่อนที่จะกระจายอำนาจ งบประมาณ การบริการ และทรัพยากร ลงสู่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะรัฐสวัสดิการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เห็นถึงระบบราชการที่เข้มแข็ง คือ มีการจัดสายบังคับบัญชาแบบบนลงล่างโดยสมบูรณ์แบบแต่อย่างไรก็ตามโจทย์สำคัญของรัฐบาลบรูไนฯ คือ “ประชาชน” บนหลักคิดของศาสนาอิสลามที่ทุกคนเท่าเทียมกัน รักกันฉันท์พี่น้อง แม้กระทั่งสุลต่านเองเมื่อเข้าสู่มัสยิดก็ยังต้องนั่งประกอบพิธีที่พื้นเช่นเดียวกับประชาชน 

การปกครองของบรูไนฯ จากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นระบบการปกครองที่เน้นศาสนาอิสลามเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการใช้พระราชอำนาจของพระราชาธิบดี หรือ สุลต่าน ผ่านระบบราชการที่เป็นตัวสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐ และ ประชาชน .ภายใต้ ”แนวคิดรัฐอิสลาม” คือรัฐที่ถูกปกครองตามบทบัญญัติของอิสลามโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่งคงของรัฐและความรุ่งเรื่องของประเทศ (state formation และ nation building) 

อย่างไรก็ตามความเข้มข้นตามหลักการดังกล่าวของบรูไนฯ จะไม่เข้มเหมือนกับหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ที่บรูไนฯ ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันสามารถเดินไปไหนมาไหนด้วยกันได้อย่างเปิดเผย หรือ การลงโทษที่เบากว่าในหลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ไม่ได้มีการเอาก้อนหินขว้างจนเสียชีวิตหากกระทำผิดขั้นร้ายแรง แต่ใช้วิธีอื่นที่ไม่ทรมานแต่มีการโบยหากมีการะทำผิด  

อย่างไรก็ตามบรูไนฯ ไม่ใช่รัฐอิสลามที่มีลักษณะแบบในตะวันออกกลาง แต่ผม เรียกว่า เป็น”รัฐอิสลามแบบเอเชียน” ที่แสดงออกมาในลักษณะพหุอัตลักษณ์ คือ มีความเป็นมุสลิมที่ไม่สุดขั้วยอมรับเรื่องบางเรื่องได้ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นข้อที่ชาวมุสลิมที่ดีไม่ควรทำแต่ที่นี้ก็มักพบเห็นได้โดยง่าย ทั้งที่ในบรูไนฯ ไม่มีร้านใดขายเพราะผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายว่าการนำบุหรี่เข้ามาในประเทศบรูไนฯ ผิดกฎหมาย หากพบก็จะมีโทษเพียงการปรับตัวละ 30 เซนต์ แต่เราก็ยังเห็นกัน แบบนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่ได้เป็นรัฐที่เข้มงวดมากนักในฐานะรัฐอิสลาม แต่หลายๆ เรื่องที่เป็นภัยต่อความมั่นคงก็ไม่สามารถละเว้นได้ เช่น เรื่องของการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือ เรื่องของการว่าร้ายให้กับสถาบันสูงสุดของประเทศก็มีโทษหนักเช่นกัน

ดังนั้น การปกครอง การเมือง สังคม และกฎหมาย ของบรูไนฯ มีความแนบแน่นกับหลักของศาสนาอิสลามอย่างมากเช่นกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของคนบรูไน ทั้งนี้ ชาวบรูไนจะให้ความสำคัญกับหลักศาสนาที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบประจำตัวที่สำคัญที่สุด ลองลงมา หรือไม่ห่างจากองค์ประกอบแรกมากนัก คือครอบครัว และงานตามลำดับ การใช้ชีวิตของชาวบรูไนมีความสอดคล้องกับหลักศาสนามาก

ดังนั้นเรื่องของศาสนา จึงมีความสำคัญกับรูปแบบการบริหารงานของรัฐด้วย โดยรัฐมีแนวคิดหลักสำคัญ คือ การสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งตามหลักศาสนาอิสลามในกรอบของกฎหมายและหลักปรัชญาของสุลต่านที่ทรงรื้อฟื้นปรัชญาเก่าของบรูไนฯ มาใช้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง คือ “วิถีชีวิตแบบมาเลย์ ศาสนาอิสลาม ยึดมั่นในระบบกษัตริย์”  หรือ “MIB : Malay Islam Beraja (Malay Islamic Monarchy)”  ซึ่งหมายถึงบรูไนฯ เป็นประเทศที่มีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมมาเลย์ ได้แก่ใช้ภาษา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีแบบมาเลย์  Islam หมายถึงเป็นรัฐอิสลาม ซึ่งกฎหมายและค่านิยมต่างๆ มาจากศาสนาอิสลาม  และ Beraja หมายถึงเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบหรือสถาบันกษัตริย์ โดยสุลต่านซึ่งมีฐานะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี ประชาชนจะต้องมีความจงรักภักดีในสถาบันดังกล่าว

 ปรัชญาของชาติดังกล่าว ถือ เป็นหลักการสำคัญในการบริหารประเทศในปัจจุบัน เช่น ข้าราชการที่ทำงานอยู่แล้วหรือที่ต้องการเป็นข้าราชการจะต้องแสดงตนบนพื้นฐานของหลัก MIB ให้ประจักษ์แจ้งแก่สังคม หากขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งแม้จะเป็นคนบรูไนก็ไม่สามารถรับราชการได้ เช่นเดียวกันที่เรื่องนี้ต้องได้รับการปลูกฝั่งจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา ในโรงเรียนทุกระดับหรือแม้กระทั่งในระดับอุดมศึกษา (ป. ตรี) ทุกคนจะต้องได้เรียนวิชา MIB เป็นวิชาแกนทุกปี เพื่อปลูกฝั่งค่านิยมดังกล่าวนี้

MIB ยังถูกแสดงออกบนตราสัญลักษณ์บนธงชาติของบรูไนฯ อีกด้วย ซึ่งเป็นการผสานกันของสัญลักษณ์ต่างๆ บนธงชาติ ประกอบด้วย ตราแผ่นดินที่มีสีแดง ประกอบด้วยราชธวัช (The flag) พระกรด (The Royal umbrella) ทั้งสองนี้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสสลาม ปีกนกที่มี 4 ขน (The wing of four feathers) หมายถึงการพิทักษ์ปกป้องความยุติธรรม ความสงบ ความเจริญ และสันติสุขของชาติ  วงเดือนหงาย (The Crescent) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม และมีอักษรอารบิกจารึกด้วยสีเหลือง ซึ่งเป็นคำขวัญของชาติว่า “Always in service with God's guidance” (น้อมรับใช้ตามแนวทางอัลเลาะห์เสมอ)  มือ 2 ข้าง (The hand) หมายถึงหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง สันติสุข และความเจริญรุ่งเรือง และแถบแพรอยู่ล่างสุด จารึกอักษรอารบิค สีเหลืองเป็นชื่อประเทศว่า “Brunei Darussalam” หมายถึง บรูไน: ดินแดนแห่งสันติ  รวมทั้งการเป็นรัฐสวัสดิการ คือประชาชนไม่ต้องเสียภาษีใดๆ และได้รับบริการสาธารณะอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ก็มาจากหลักปรัชญาผู้ปกครองที่ดีที่มาจากหลักศาสนาอิสลาม ส่วนธงชาติ ประกอบด้วยพื้นสีเหลือ หมายถึงสุลต่าน  มีแถบสีขาวดำพาดทแยงจากขอบบนด้านซ้าย ผ่านกลางผืนธงมายังขอบล่างด้านขวา หมายถึงรัฐมนตรีที่ถวายงานรับใช้องค์สุลต่าน และมีตราแผ่นดินอยู่กลางผืนธง

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net