Skip to main content
sharethis


 

ประเทศที่ได้ชื่อว่ามี “นักโทษทางความคิด” หรือ “นักโทษการเมือง” มากที่สุดในโลกอย่างพม่า กำลังจะลงจากตำแหน่งนั้นเมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ประกาศขณะเยือนกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า “ขอรับประกันว่าภายในสิ้นปีนี้ จะไม่มีนักโทษทางความคิดในพม่า” 

ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอยู่อีกหลายสิบราย และยังไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

จากจำนวนนักโทษทางการเมืองที่มีมากกว่า 2,000 คน นับตั้งแต่พม่าปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ปัจจุบันพวกเขาถูกทยอยปล่อยตัวหลายระลอกหลังพม่าเปิดประเทศ จนเหลือนักโทษการเมืองในเรือนจำอยู่อีกราว 161 คน



 

หลังสปีชของประธานาธิบดีพม่าไม่กี่วัน  เรามีโอกาสพูดคุยกับจ่อ ซอ (Kyaw Soe) อดีตนักโทษการเมืองที่เมืองย่างกุ้ง ปัจจุบันเขาเป็นอาสาสมัครให้กับสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPP-B)  ซึ่งเป็นองค์กรผลักดันเรื่องการปล่อยตัวและการให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองมาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2000

ปัจจุบันจ่อ ซอ เป็นอาสาสมัครในการกระจายเงินช่วยเหลือไปยังครอบครัวนักโทษการเมืองทั้งที่ยังอยู่ในคุกและรวมถึงให้ความช่วยเหลือคนที่ออกมาแล้วให้ “ไปต่อ” ได้

องค์กรนี้เป็นการรวมตัวของอดีตนักโทษการเมืองด้วยกันเอง และภารกิจในการสนับสนุนทางการเงินก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2002  โดยที่มาของเงินมาจากการบริจาคของต่างประเทศ ปัจจุบันมีองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า 2 องค์กร อีกองค์กรหนึ่งคือ FPPS (Former Political Prisoners Society) งานบางส่วนทั้งสององค์กรนี้ก็ทำร่วมกัน

จ่อ ซอ ตระเวนนำส่งเงิน  75,000 จ๊าด (2,250 บาท) ต่อเดือนให้กับญาตินักโทษ และช่วยเหลือนักโทษการเมืองตลอดในอดีตที่ผ่านมาราว 650 คน ปัจจุบันกลุ่มเขาดูแลนักโทษการเมืองที่มัณฑะเลย์ 30 คน เมาะละแหม่ง 6 คน มิงยาน 12 คน ตะเย็ก  9 คน ธาราวดี 12 คน พะสิม 2 คน หงสาวดี 1 คน มง-ยวะ1 คน

เขาบอกว่าปัจจุบันองค์กรให้เงินช่วยเหลือรวมแล้วประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน



จ่อ ซอ

นอกเหนือจากการช่วยเหลือญาติของคนที่ยังอยู่ในคุก องค์กรของเขายังดูแลครอบคลุมเมื่อนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ การศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ภาคเรียนละ 450,000 จ๊าด (13,500 บาท) และการฝึกอาชีพ เช่น การอบรมการขับรถ การอบรมทักษะคอมพิวเตอร์ เพราะนักโทษการเมืองในพม่านั้นถูกจำคุกกันนานตั้งแต่สามปีจนถึงหลายสิบปี

ปัจจุบัน จ่อ ซอ และเพื่อนนักโทษการเมืองในพม่า ได้ร่วมกันตั้งชมรม “พิณทอง” หรือ Golden Harp เพื่อประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่

สำหรับตัวเขาเองนั้นถูกจับกุมคุมขังสองครั้ง ในช่วงปี 1990-1992 สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาร่วมประท้วงในประท้วงใหญ่ปี 1988 อีกครั้งหนึ่งคือหลังการร่วมประท้วงที่นำโดยพระสงค์ในพม่าปี 2007 และถูกคุมขัง 3 ปี หลังจากออกจากเรือนจำเขาก็เข้ารับการอบรมการขับรถ และรวมกลุ่มกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจัดตั้งกลุ่มแท็กซี่ของอดีตนักโทษการเมือง

ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า ดำเนินงานโดยอดีตนักโทษด้วยกันเองอย่างเป็นระบบ ก่อนหน้านี้งานลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ต้องแอบทำ เพราะคนที่ไปช่วยก็อาจถูกจับเสียเอง นอกจากนี้ยังประสบปัญหาความยากลำบากในการติดต่อกับญาติผู้ต้องขังด้วยโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย

เมื่อเราถามจ่อ ซอ ว่า หากคำประกาศของประธานาธิบดีเป็นจริง นักโทษการเมืองก็จะหมดไปจากพม่า องค์กรของเขา ความช่วยเหลือของเขายังจะเป็นสิ่งจำเป็นอยู่หรือไม่ เขากล่าวว่า ตอนนี้องค์กรพุ่งเป้ามาช่วยเหลืออดีตนักโทษการเมืองที่เมื่อถูกปล่อยออกมาก็ไม่สามารถมีที่ทาง มีอาชีพ มีความมั่นคงในชีวิตได้ง่ายๆ เนื่องจากถูกคุมขังมานาน

จ่อ ซอ บอกด้วยว่า ถึงจะปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังแล้วทั้งหมด แต่ใช่ว่านักโทษการเมืองในพม่าจะเป็นศูนย์ เพราะรัฐบาลก็มีการจับกุมใหม่อยู่เรื่อยๆ ตอนนี้มีนักกิจกรรมอีกกว่า 100 คนที่ถูกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหาสร้างความวุ่นวาย และทำลายความสงบของรัฐ ซึ่งคดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

คงต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า คดีทางการเมืองนั้นเป็นเงื่อนไขในการยกเว้นประกัน และแม้พม่าจะเปิดประเทศอย่างมากแล้ว แต่กระบวนการพิจารณาของศาลพม่า ยังคงเป็นระบบปิดที่ไม่เปิดโอกาสให้มีใครได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบการทำหน้าที่ของตุลาการ(ในยุคเปิดประเทศ) ชะตากรรมของคนเหล่านี้จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด 





 

นอกจากนี้เรายังมีโอกาสพูดคุยกับ ซอ หม่อ (Zaw Moe) อดีตนักโทษการเมืองที่เพิ่งถูกปล่อยตัวใหม่หมาดเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ครอบครัวของเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจาก AAPP หลายครั้ง แต่ก่อนจะยอมรับความช่วยเหลือ ทางครอบครัวก็ปฏิเสธอยู่นาน เพราะถือว่าไม่ได้มีฐานลำบากยากแค้น และอยากให้นำเงินไปช่วยนักโทษคนอื่นที่ย่ำแย่กว่า

ซอ หม่อ ติดคุกอยู่ 4 ปี 7 เดือนและเพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อกลางปีนี้ เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหามากมายโดยเฉพาะภัยต่อความมั่นคง เมื่อเขาและกลุ่มนักกิจกรรมจากหลายประเทศพยายามตั้งกลุ่มต่อต้านขึ้นใหม่ หลังความรุนแรงจากการปฏิวัติชายจีวรเมื่อปี 2007 ซึ่งขณะนั้นเขายังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ กลุ่มของเขามีเป้าหมายที่จะปลุกระดมคนให้ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารอีกครั้งและเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้กลับ “ถ้าเขายิงเรา เราก็จะยิงกลับ” แต่เขาก็ถูกจับกุมเสียก่อนพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวัตถุระเบิด

“เรายังไม่ได้ทำอะไร แค่เตรียมพร้อมสำหรับการสู้กลับ” ซอ หม่อ บอก

เขาเล่าให้ฟังถึงสภาพภายในเรือนจำอิน เส่ง ที่เขาถูกคุมขังว่า นักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียงจะได้แยกไปอยู่ห้องขังเล็กคนเดียว แต่ถ้าเป็นคนเล็กคนน้อยทั่วไปจะถูกขังรวมกับนักโทษอื่นๆ ในลักษณะที่แออัดมาก มีพื้นที่ให้นอนกว้างราว 1 ฟุตครึ่ง แทบจะไม่สามารถพลิกตัวได้ ดูแล้วขนาดที่นอนก็ไม่ต่างจากคุกไทยมากนัก  

ตัวเขาเองถูกลงโทษด้วยการใส่ตรวนหลายวันถึง 3 ครั้ง เนื่องจากเขาโต้เถียงและประท้วงคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ เช่น การสั่งให้นักโทษขนย้ายสิ่งสกปรกด้วยมือเปล่า

เขาเล่าว่า ตรวนของที่นี่จะมีลักษณะพิเศษเนื่องจากระหว่างเหล็กที่คล้องข้อเท้าสองข้างนั้น จะมีแท่งเหล็กหนา หนัก ขนาดความยาวต่างๆ กัน ติดอยู่ด้วย มีตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว 12 นิ้ว 15 นิ้ว ซึ่งยิ่งเล็กก็ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวในการเดินยากลำบาก

“ถ้าโดนทำโทษแบบนี้ในหน้าหนาวก็จะยิ่งแย่มาก” เขากล่าว

การซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายในเรือนจำในกรณีที่นักโทษขัดขืนคำสั่งเจ้าหน้าที่นั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติ นักโทษการเมืองบางคนขอย้ายไปอยู่คุกเดียวกับพ่อ แต่เมื่อไม่ได้ย้ายก็ประท้วงด้วยการไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่ตื่นตามเวลา กลางดึกคืนนั้นเขาก็ถูกลากออกไปตีและขังในที่ที่คนคุกเรียกกันว่า “dog cell” มีนักโทษบางคนที่โดนแยกขังเดี่ยวใน dog cell อยู่นาน 8 เดือน 

นั่นคือเรื่องราวในอดีต ปัจจุบันอดีตนักโทษการเมืองวัย 37 ปีคนนี้กำลังเตรียมตัวสอบหลักสูตรคอมพิวเตอร์เพื่อสมัครงานกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และเขายังคงเป็นอาสาสมัครของ AAPP เพื่อช่วยงานด้านการช่วยเหลือเยียวยานักโทษการเมืองคนอื่นๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในพม่าต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net