Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปื้น ปื้น ปื้น ....รถสี่ล้อแดงกำลังเร่งตัวเองตามคันเร่งที่คนขับบังคับอย่างขะมักเขม้นซึ่งรองรับน้ำหนักของนักศึกษาชมรมชาติพันธุ์จำนวนสิบกว่าคนมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านม้ง หลังภารกิจในหมู่บ้านปกาเกอะญอผ่านพ้นไป คนขับพยายามบังคับรถอย่างระมัดระวังตามเส้นทางที่ลัดเลี้ยวป่าดงพงไพร ถนนที่ยังไม่ได้เทคอนกรีตแต่ฉาบด้วยเนื้อดินสีแดงดำ ขรุขระ หลุมเล็กใหญ่ที่ประทับรอยรถคันแล้วคันเล่ากลายเป็นสัญญาณ แสดงให้เห็นถึงการสัญจรของยานพาหนะที่บรรทุกของหนักผ่านไปมาตลอดช่วงอายุคน บวกกับเม็ดฝนที่กัดเซาะดินบริเวณสองข้างทางให้ค่อยๆเลื่อนไหลมากองอยู่ริมเส้นทางสัญจร ......สักพักเมื่อรถเคลื่อนตัวสู่ปากทางเข้าหมู่บ้านม้ง ข้าพเจ้าและเพื่อนนักศึกษาก็สัมผัสกลิ่นอายแห่งขุนเขาอันเขียวขจี อากาศบริสุทธิ์ซึ่งน้อยนักที่จะได้สัมผัสในตัวเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากคละคลุ้งไปด้วยควันรถจากท่อไอเสียของคารวานรถยี่ห้อต่างๆ ทัศนียภาพหรืออาณาบริเวณก่อนถึงชุมชนม้ง จัดว่าเป็นที่ราบสลับหุบเขา ที่ยังคงสังเกตเห็นถึงความเขียวชอุ่มของแมกไม้น้อยใหญ่นานาพรรณกระจายตัวระหว่างทาง สลับกับการปลูกพืชเพื่อการค้าขายอย่างกะหล่ำปลีระหว่างทางจึงเหลือบเห็นชาวม้งกำลังตัดกะหล่ำ แบกและขนกะหล่ำขึ้นรถยนต์ โฟว์วิวสีบรอนซ์ถูกนำมาใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกกะหล่ำเต็มคันและคาดว่าโฟว์วิวคันหรูดังกล่าวคงมุ่งหน้าไปยังตลาดสักแห่งเพื่อถ่ายเทสินค้า

การทำสวนกะหล่ำปลีกลายเป็นอาชีพที่คนม้งยึดเป็นพิเศษ เนื่องจากนำรายได้มาสู่ครอบครัว แต่พืชเศรษฐกิจดังกล่าวก็กลายเป็นพืชสัญลักษณ์หนึ่งที่เกาะติดความเป็นคนม้ง ด้านหนึ่งสะท้อนลักษณะของการเป็นผู้ที่พัฒนา(การหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ) แต่อีกด้านหนึ่งม้งถูกมองว่าเป็นผู้ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติม้งถูกมองว่าเป็นผู้ที่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ซึ่งต่างจากคนปกาเกอะญอที่รักษาป่า แล้วแท้จริงคนม้งคิดอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร และการพัฒนานั้นทำลายความเป็นม้งลงหรือไม่ คำถามดังกล่าวกำลังสารวนกวนใจ และรบเร้าให้หาคำตอบ ซึ่งข้าพเจ้าก็คงต้องอดทนรอว่าคำตอบจากคำถามทางความคิดดังกล่าวจะสะท้อนกลับอย่างไร

ทางเลียบขึ้นหมู่บ้านเป็นคอนกรีตลาดยาง แต่คลุกเคล้าด้วยเศษดิน มูลสัตว์ ตัวบ้านม้งสร้างติดพื้นดิน แต่กว้างขว้างแบ่งเป็นสัดส่วน ตัวเรือนเป็นไม้แผ่นซึ่งคงทนพอสมควร ห้องนอน ห้องครัวที่มีเตาหุงข้าวตรงกลางห้อง ห้องรับแขกและพื้นที่ทานข้าวจัดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มุมทานข้าวเป็นตั่งนั่งคล้ายกับบ้านของคนจีน ในแถบทางตอนใต้ ผู้คนมีน้ำใจดีดั่งคนเมือง ที่แขกมาถึงเรือนก็ต้อนรับขับสู้ ข้าวสวยใส่ถุง แกงจืดฝักทองใส่เนื้อหมู แกงอ่อมเนื้อวัวชั่งอร่อยพรั่งพรู ผัดพริกสดเนื้อ และขนมจีนเส้นใหญ่ ถูกวางเรียงรายบนโต๊ะอาหารเพื่อต้อนรับอาจารย์ นักศึกษา อย่างอุ่นหนาฝาครั่ง ประเภทของอาหารบ่งบอกถึงความพิเศษของงานเลี้ยง หรืองานมงคลประจำหมู่บ้านที่มีเนื้อเป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับงานมงคลของคนเมือง ที่ส่วนใหญ่จะใช้หมูในการประกอบอาหารเลี้ยงในงาน ทั้งลาบหมูดิบ ลาบคั่ว แกงฮังเล ต้มจืด ขนมจีน ฯลฯ มีบ้างที่เป็นเนื้อควาย แต่น้อยนักที่จะใช้เนื้อวัวเพราะกลิ่นของเนื้อวัวจะฉุนแตะจมูก และด้วยราคาที่ไม่ใคร่สมน้ำสมเนื้อนัก แต่สำหรับม้งแล้วหมูถือเป็นสัตว์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ทว่าเมื่อมีงานมงคลก็จะใช้เนื้อวัว

คนม้งจะยังคงรักษาบ้านเรือน ให้เป็นบ้านไม้ แต่ใช้รถโฟว์วีล ซึ่งในหมู่บ้านเกือบทุกหลังคามีรถคันใหญ่ ไว้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน บรรทุกของ สินค้า คน เพื่อติดต่อสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ สมาชิกในหมู่บ้านอื่นๆบนพื้นที่ราบ คนม้งอาจจะมีรถยนต์ราคางาม เพื่อเป็นเครื่องแสดงสถานะจนทำให้ม้งได้ชื่อว่า เป็นคนที่พัฒนาแล้ว เป็นผู้ที่ร่ำรวย และนัยยะตามคำกล่าวที่ว่า “เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว”ซึ่งต่างจากคนเมืองที่รถไม่ได้เป็นเครื่องหมายที่สลักสำคัญอะไรนัก รถยี่ห้อวีโก น้อยนักที่จะพบในหมู่คนเมือง เฉพาะเจ้าเรือนที่มีฐานะค่อนข้างดีหรือร่ำรวยก็ซื้อวีโกมาขับ ทว่าชาวนาระดับกลางก็จะใช้รถยี่ห้ออีซูซู มาสด้า ที่บรรทุกของ สินค้า และคนเพื่อทำมาหากิน และเวลาไปทางการ เพราะคนเมืองถือว่า จะขับรถอะไรก็ได้ ขอให้มีขับ และส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประโยชน์ในการขนถ่ายสินค้า ฉะนั้นรถยนต์จึงไม่จำเป็นต้องมียี่ห้อหรู หรือราคาแพงนัก แต่สิ่งที่คนเมืองให้ความสำคัญยิ่งกว่าก็คือ บ้านเรือน ซึ่งถือเป็นจุดขาย หรือหน้าตาของเจ้าของบ้าน ที่ต้องมีการพัฒนา บ้านถือเป็นเครื่องแสดงสถานะอย่างใหญ่หลวง

บ้านเก่าที่โยกเยกสึกกร่อนจะต้องถูกปรับเปลี่ยน แม้จะไม่มี เงินตรา แต่จำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อซ่อมและรื้อสร้างใหม่เพราะหากไม่รื้อสร้าง ชาวบ้านในละแวกจะคิดว่าคนผู้นั้นไม่มีความคิดที่จะพัฒนา ฉะนั้นบ้านของคนเมืองจึงถูกปรับเปลี่ยนส่วนหนึ่งก็เพื่อลบคำสบประมาท และต้องกลายเป็นผู้ที่พัฒนาตามสายตาของหมู่คนเมือง

สัญลักษณ์ของการพัฒนาไม่ได้มีเพียงเปลือกกะเทาะภายนอกหรือตัวเรือนที่ออกแบบอย่างสวยสดงดงาม ลำต้นเสาเรือนขนาดใหญ่และความวิจิตรศิลป์ที่ถูกตบแต่งด้วยฝีมือของสล่า ที่ถูกจ้างวานมาเป็นตัวแสดงหลักในการออกแบบบ้านเรือนให้มีความวิจิตรพิสดารสมกับฐานะเท่านั้น ทว่าการพัฒนาให้ทันสมัยมันบังคับให้คนเมืองต้องใช้สิ่งของอย่างที่ชนชั้นกลางมีใช้ ข้าวของเครื่องใช้ ภายในบ้านจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือเครื่องเคียงในการยกระดับสถานะให้สมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น คนเมืองจึงตกอยู่ในภาวะ การเสพวัตถุทางความคิดดั่งคนชั้นกลาง โดยตัวเรือนต้องมีการจัดสัดส่วนให้เหมาะสมกับกิจกรรมเฉพาะ ทั้งห้องรับแขก ที่ต้องมีองค์ประกอบอย่างโซฟา เครื่องเสียง เครื่องเล่น อันแสดงถึงความมีระดับ โก้หรู ห้องครัวเป็นห้องเฉพาะกิจในการประกอบอาหาร ที่คนนอกเข้าไปยาก หรือไม่ควรเข้าไปสัมผัสกอปรกับห้องนอนถูกแยกให้เป็นห้องส่วนตัวที่ไม่ควรก้าวล้ำ สำหรับห้องน้ำแล้วเดิมคนเมืองจะเรียก ส้วม หรือห้องส้วม ซึ่งที่ขับถ่ายและที่อาบน้ำไม่ได้แยกส่วนแต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน หากศึกษาย้อนไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการก่อสร้างส้วมของคนเมืองแล้วจะพบว่าคนเมือง มักจะสร้าง “ส้วม” ให้อยู่ห่างจากตัวเรือน เพราะถือว่าเป็นส่วนลับที่ไม่ควรเปิดเผย และเป็นสถานที่อุดจาด แต่ปัจจุบัน ห้องส้วมมีคำเรียกใหม่ให้แลดูถึงการพัฒนา “ห้องน้ำ” จึงกลายมาเป็นส่วนประกอบสร้างหนึ่งของตัวเรือน ที่ต้องสร้างให้ติดกับห้องนอน หรือห้องครัว ห้องน้ำแบบทันสมัยถูกนำมาจัดวางให้กลายเป็นห้องน้ำในตัว หรือของส่วนตัว (ตายายห้องหนึ่ง ลูกสาวลูกชายห้องหนึ่ง) ส่วนหนึ่งอาจเพราะความสะดวกในตอนกลางคืน ที่ไม่ต้องวิ่งกรูลงเรือนเพื่อขับถ่าย หรือเพื่อความสะดวกของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ต้องเดินทางไปห้องน้ำอย่างยากลำบาก

แต่ข้าพเจ้าก็สงสัยว่านั่น คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนทว่าวิธีคิดดังกล่าวมีนัยหมายถึงการยกระดับทางความคิดหรือไม่ซึ่งไม่อาจทราบได้ แต่แนวคิดการพัฒนายังถูกต่อยอดให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จากเดิมที่ห้องส้วมจะประกอบด้วยโถส้วมแบบยกพื้นสูงไม่เกิน 50 เซ็น และใช้ขันราด ถูกรื้อถอนเปลี่ยนเป็นชักโครก ที่นั่งแล้วแลดูดี ชาวบ้านมักจะบอกว่า “การเปลี่ยนมาใช้ชักโครก เพราะสะดวก เด็กใช้ก็ได้ ผู้ใหญ่ใช้ก็ดี นั่งสบาย” จะเห็นว่าวิธีคิดของคนเมืองเปลี่ยนแปลงไป แม้ผู้ที่ฐานะไม่ร่ำรวยก็ต้องพยายามวิ่งเต้น กู้ยืมเงิน เพื่อพัฒนาบ้านเรือนดังกล่าวอย่างปฏิเสธไม่ได้ การแข่งขันกันสร้างความทันสมัย ไม่ได้มีอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเพียงประการเดียว แต่ปัจจัยภายในสังคมไทย และสังคมคนเมืองเองก็มีส่วนในการปรับตัวมิใช่น้อย

นอกเหนือจากเรื่อง รถของคนม้ง และบ้านของคนเมืองที่แสดงถึงวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของผู้คนต่อความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมไทยแล้ว จะพบว่าประเด็นเรื่องการศึกษาคงจะเป็นประเด็นที่ทั้งสองให้ความสำคัญเช่นกัน แต่มน้อย เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องของการยกระดับฐานะ

ในห้องทึบ แสงสลัวๆ ที่ผู้คนต่างทยอยกันเข้าออก เสียงพูดคุยกันด้วยภาษาม้งคละเคล้ากับรสเสียงของแอลกอฮอล์ดังสนั่นจนข้าพเจ้าต้องแอบมุดไปดูบรรยากาศภายในที่ดูจะคึกคัก ครื้นเคลง ลูกชายเจ้าของบ้านกำลังนั่งอยู่บนตั่งเพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ ลุงป้าน้าอา เพื่อนบ้านผูกข้อมือด้วยเส้นด้ายสีขาวที่ติดกันเป็นกลุ่มก้อน แสดงถึงเกลียวของจำนวนที่ผู้คนที่ต่างมาอวยพร ข้าพเจ้ามีโอกาสไปงานผูกข้อมือ เพื่อรับขวัญให้กับลูกชายคนม้งซึ่งกลับมาจากบังคลาเทศและตวัดเส้นด้ายพร้อมกล่าวอวยพรด้วยภาษาคำเมืองขณะที่พันเส้นด้ายลงบนข้อมือของเด็กหนุ่มม้งนี่อาจจะเป็นครั้งแรกของการแสดงความยินดีแก่เด็กม้ง อาจไม่ใช่เพียงแค่การเป็นนักศึกษาที่เข้าไปสังเกตการณ์พิธีกรรมดังกล่าว หรือแขกที่ไม่ได้มีความเป็นม้งโดยชาติกำเนิด ทว่าก็เป็นกาลเวลาเหมาะทีเดียว ที่คำอวยพรภาษาคำเมือง ที่แสดงถึงความหวงหาอาทรเด็กม้งและเด็กชาติพันธุ์ในโลกว่า เด็กก็คือผลผลิตของสังคม หากขาดการดูแลเอาใจใส่แบ่งแยกทางชาติพันธุ์ สังคมก็ไม่เกิดการพัฒนาไปได้ดอก ด้ายเส้นนั้นจึงเป็นตัวแทนส่งผ่านความรู้สึกนึกคิดของข้าพเจ้า ว่าจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน จะทำให้เราในฐานะชาติพันธุ์พร้อมจะหยิบยื่นสิ่งดีๆ คำพูดและความยินดี ให้แก่กันและกัน โดยคิดเสมอว่าเด็กเหล่านี้ก็คือสมาชิกของมนุษยชาติ ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคม

การกลับมาของลูกชายคนม้งหลังจากเรียนจบคงเป็นนิมิตหมายอันดีควรค่าแก่การที่ชุมชนม้งจะต้องจัดงานเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ เพราะการได้ออกไปศึกษาเล่าเรียนในต่างแดน คนม้งถือว่าเป็นโอกาสของลูกชายม้งที่จะรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ การได้เห็นโลกอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากภายในหมู่บ้านตนเองแล้วกลับมาเล่าสู่ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่พี่น้องและลูกหลานม้ง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลานม้งสนใจและใฝ่ใจในการศึกษา และใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหรือติดอาวุธทางปัญญา เพื่อให้ม้งได้รับการพัฒนา ฉะนั้นลูกชายม้งดังกล่าวจะต้องถูกยกย่องชื่นชมในฐานะเป็นลูกหลานคนม้งไม่ใช่แค่เพียงลูกชายของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ซึ่งต่างกับคนเมือง ที่ความเป็นลูกหลานของคนเมืองมิได้อยู่ในสำนึกของผู้คน ทั้งหมู่บ้าน เมื่อความทันสมัยเข้าสู่หมู่บ้าน ผู้คนต่างแข่งขันกัน ชาวนาที่ไร้ที่ดิน ชาวนามีที่ดินแต่ยากจน ชาวนาระดับกลางและชาวนารวย การแบ่งระดับนำไปสู่ การอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ลูกใครลูกมัน ญาติใครญาติมัน งานผูกข้อมือที่คนทั้งหมู่บ้านชื่นชมยินดีเพื่อเปิดโลกทัศน์ทางด้านศึกษา หรือการให้ความสำคัญกับการศึกษา ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าเป็นลูกหลานของคนทั้งหมู่บ้าน ฉะนั้นการที่จะคิดว่า ความสำเร็จของลูกหลานครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งคือความสำเร็จของคนทั้งหมู่บ้านเป็นไปไม่ได้ ลูกหลานของคนเมืองจึงต้องแข่งขันกันเพื่อสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้กับวงศ์ตระกูลของตัวเอง ความสำเร็จของลูกก็ถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่ไม่ได้ถือเป็นหน้าตาของชุมชน

ด้วยเหตุนี้ เด็กหรือเยาวชนคนเมืองจึงไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนบ้านเกิดของตนนัก เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะด้วยเหตุผลสองประการ ได้แก่ หนึ่ง ความกลัวที่จะกลับบ้าน ที่ผู้คนไม่ได้ต้อนรับอย่างเป็นมิตร เมื่อประสบความล้มเหลวในการเรียน เมื่อชุมชนไม่สนใจไยดี พวกเขาจึงระหกระเหินขอส่วนแบ่งพื้นที่ในเมืองในการสร้างคุณค่า บ้างคนต่อสู้เพื่อหาเลี้ยงตัวเองโดยการเปิดธุรกิจเล็กๆ บ้างคนไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน ร้านอาหาร แต่เด็ก

บางคนที่ไม่มีทุนก็อาจทำตัวสาแหรก เป็นวัยรุ่นกวนเมืองบ้าง ใครจะคิดว่าพวกเขามีอนาคตเช่นไรผิดกับม้งที่ความคาดหวังที่จะให้ลูกหลานรับการศึกษาที่ดี ไม่ได้บ่อนทำลายสายใยพันผูกระหว่างชุมชนม้งกับเด็กเยาวชนม้งลงอย่างสะบั้นหั่นแหลก เหมือนอย่างเด็กและเยาวชนคนเมือง เพราะโลกทัศน์ของพ่อแม่คนเมืองเปลี่ยนไป การเชื่อมประสานรอยร้าว ความเห็นอกเห็นใจกันลดน้อยลง กระนั้นก็ดีข้าพเจ้าก็ไตร่ตรองเสมอมาว่า หากจะต้องมีการพัฒนาแล้ว การพัฒนานั้นไม่ควรจะแยกระหว่างการพัฒนาวัตถุทางกายกับจิตวิญญาณความเป็นคน หรือจิตใจของมนุษย์ออกจากกัน เนื่องจากกายและใจสัมพันธ์ต่อการดำรงอยู่ของชีวิตยิ่งนัก หากเมื่อการพัฒนาดังกล่าวทำให้คนสามารถยอมรับซึ่งกันและกัน เข้าใจกันและให้โอกาสกันมากเท่าไรนั่นแหละจะถือว่าเป็นการพัฒนาที่แท้จริง

 

พิธีผูกข้อมือเยาวชนม้งที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ

รอยยิ้ม แรกแย้มของเด็กชายม้งที่ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอมใจทุกชั่วยาม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net