สี่องค์กรสื่อรุมค้านร่างประกาศ กสทช. คุมเนื้อหา 'ทีวี-วิทยุ' ทำขัดรธน.

สี่องค์กรสื่อประสานเสียง ไม่เอาร่างกำกับดูแลเนื้อหาของ กสทช. ชี้เหมือนกฎหมายย้อนยุค ร่างโดยสายความมั่นคง นักวิชาการอึ้ง ออกมาขัดหลักการสื่อที่สอนนักศึกษานิเทศศาสตร์ ยันคัดค้านพร้อมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองหากประกาศบังคับใช้<--break->

สืบเนื่องจากกรณี กสทช. โดยอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ปัจจุบัน ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ

31 ก.ค. 56 สี่องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเสวนาเรื่อง "ชำแหละประกาศ กสทช. คุมสื่อ ละเมิดเสรีภาพประชาชน เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์"

 

นักวิชาการงง กสทช.ทำขัดหลักการสื่อ
ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของ กสทช.คือการไม่จัดลำดับงาน คณะกรรมการชุดที่ทำเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหา ควรจะรอคณะกรรมการชุดที่ทำเรื่องการกำกับดูแลกันเอง หากกลไกการกำกับดูแลกันเองยังไม่มีข้อสรุปก็จะทำเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะใช้วิธีการกำกับดูแลกันเอง (self regulation) หรือการกำกับดูแลร่วม (co-regulation)

ทั้งนี้ นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์เห็นว่า ร่างประกาศฉบับนี้ออกมาขัดกับหลักการหลายอย่างที่สอนนักศึกษา เช่น เราเคยพูดเรื่องการแยกระหว่างรายการข่าวกับรายการความเห็น และมีการพูดถึงรายการวิเคราะห์วิจารณ์ว่าผู้จัดต้องมีทักษะขั้นสูง และออกจะยกย่องการจัดรายการวิเคราะห์ด้วยซ้ำ แต่ในร่างนี้กลับมองรายการเชิงวิเคราะห์เป็นมุมมองแง่ลบ

ดร.สุภาพร กล่าวด้วยว่า หากร่างนี้ประกาศใช้จะส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้รับใบอนุญาต เพราะปลอดภัยที่สุด ซึ่งคนที่เสียประโยชน์คือประชาชนผู้รับข่าวสาร ละครทีวีก็คงไม่มีความหลากหลายแล้ว เพราะการทำสื่อมีต้นทุน หากถูกระงับอะไรนิดหน่อยก็กระทบธุรกิจมาก ดังนั้นการจะพูดเรื่องจิตวิญญาณแล้วอดข้าวก็คงเป็นไปไม่ได้

“ร่างนี้ทำให้คนประกอบวิชาชีพไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง หากเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อต้องการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ก็ต้องปัดร่างนี้ให้ตกไปก่อน” ดร.สุภาพรกล่าว

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวถึงปัญหาในร่างประกาศ กสทช.ข้อหนึ่งที่กำหนดบังคับให้สื่อเสนอข่าวให้รอบด้าน ห้ามแทรกความคิดเห็นว่า สมมติมีการนำเสนอเรื่องการรับประทานข้าวอาจเสี่ยงต่อมะเร็ง ก็มีข้อสงสัยว่าจะนำเสนอได้หรือไม่ และหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ให้ข้อมูลจะทำอย่างไร
 

ร่างประกาศ กสทช. เหมือนร่างโดยสายความมั่นคง
เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงร่างประกาศที่ระบุห้ามการคุยข่าว ซึ่งดูแล้ว รายการที่น่าเป็นห่วงรายการแรกๆ คือ รายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน

“ผมไม่ได้ดูร่างประกาศฯ แต่ดูหัวข้อแล้วก็คิดว่าเสียเวลาเปล่าๆ ที่จะมาชำแหละ ที่ดีที่สุดคือต้องโละประกาศนี้ทิ้งเลยแล้วมาคุยกันใหม่ เพราะสิ่งที่คุยกันอยู่ไม่ใช่การออกข้อระเบียบที่จะใช้อำนาจมาคุมสื่อมวลชน แต่ยังรวมถึงการจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นเสรีภาพอย่างเดียว” เทพชัยกล่าว

"อ่านแล้วผมว่ามันไม่น่าจะเป็นการร่างโดย กสทช. แต่มันน่าจะเป็นการร่างร่วมกันระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ สันติบาล และสำนักข่าวกรองมากกว่า มันชัดเจนว่าให้อำนาจ กสทช.อย่างล้นหลาม" เทพชัยกล่าว

เทพชัยกล่าวว่า ดูแล้วมันเหมือนมีอำนาจมืดอยู่เบื้องหลังให้ กสทช.ประกาศร่างนี้ออกมา ไม่เช่นนั้น กสทช.คงไม่มีความคิดลึกซึ้งขนาดนี้ ซึ่งเรื่องของเด็ก เยาวชน และพระมหากษัตริย์ เราไม่เถียงอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันมีอะไรแอบแฝง ภาษาที่ใช้เปิดช่องให้เกิดการตีความ ดังที่นักการเมืองมักเชื่อว่าใครที่คุมสื่อได้คือคุมอำนาจการเมืองได้ ถ้าปฏิเสธร่าง กสทช. แล้วจะมีทางออกอะไรแล้ว สื่อก็ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลกันเองให้ได้
 

อนุกำกับดูแลกันเองฯ ชี้ ใช้แค่มาตรา 37 ก็พอ ไม่จำเป็นต้องออกประกาศ
พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง อนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช. กล่าวว่า ในมุมมองของประชาชนส่วนหนึ่งอาจมองว่า สื่อคืออาวุธ ไม่ว่าสงครามใดๆ มีการใช้สื่อเป็นโฆษณาชวนเชื่อตลอด ปัญหาคือทคนยังเชื่อสื่อ เพราะการสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ยังมีน้อยเกินไป ดังนั้นไม่ว่าจะออกกฎระเบียบมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สื่อมาเป็นเครื่องมือไม่ได้

พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า สำหรับร่างประกาศการกำกับดูแลเนื้อหาของ กสทช.นั้น คงหาจุดร่วมที่จะแก้ไขไม่ได้แล้ว

“ถ้าให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างนี้ ผมไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะคิดว่ามันออกไม่ได้ และมันดูเหมือนมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง เรื่องร่างเราคงแก้ไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดกระบวนการที่จะทำให้ร่างนี้ตกไปและจะดำเนินการอย่างไรให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ” พล.ต.ต.สุรพลกล่าว

อนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช. เสนอความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีประกาศของ กสทช.เรื่องนี้ ให้ใช้เพียงมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ก็น่าจะเพียงพอ

“ถ้าเรามองเรื่องความผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ความมั่นคง เสรีภาพ มันมีประมวลกฎหมายอาญากำกับดูแลไว้หมดแล้ว แล้วหากมีการทำผิด มันก็ไปเข้ามาตรา 37 เอง โอเค อาจจะมีกรอบส่วนหนึ่งกำกับไว้ แต่ส่วนอื่นในร่างที่ดูแล้ว ผมไม่เห็นมันจะแก้อะไรได้เลย” พล.ต.ต.สุรพลกล่าว
 

สื่อวิทยุโทรทัศน์ มีกลไกกำกับดูแลร่วมระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและรัฐอยู่แล้ว
ชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า ระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อวิทยุโทรทัศน์จะมีความแตกต่างกับระบบของสื่อหนังสือพิมพ์ กล่าวคือ มีลักษณะกำกับดูแลร่วม คือ กสทช.มีอำนาจนั้นจริงแต่จะไม่ใช้อำนาจนั้นก่อน หากปรากฏกรณีการกระทำผิดของสื่อ ก็จะต้องมีการร้องเรียนไปที่สมาคมวิชาชีพสื่อก่อน และหากองค์กรวิชาชีพไม่สามารถกำกับดูแลได้ค่อยเป็นหน้าที่ของ กสทช. ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพ ก็ต้องมีความเสี่ยงที่จะถูกกำกับดูแลโดยตรงจาก กสทช.

“ผมเห็นว่าร่างประกาศฯ นี้อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 เพราะฐานะของมันเป็นเพียงประกาศ ซึ่งหากจะมีการออกกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องออกกฎหมายที่มีศักดิ์ใหญ่ระดับเป็นพระราชบัญญัติ” ชวรงค์กล่าว

ด้านปฏิวัติ วสิกชาติ กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกลไกกำกับดูแลกันเองของสื่อว่า ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพก็ได้ตรวจสอบ สอบสวน หลายกรณี และสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายก็ยินดีเข้ามาชี้แจง ตอบกลับ และเยียวยา
 

มองไปข้างหน้า ยันคัดค้านร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหาฯ
วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ในเฉพาะหน้านี้ สี่องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกหนังสือคัดค้าน หลังจากนี้ก็ต้องกลับไปคุยกับคนในวงการว่า ภัยใกล้เข้ามาแล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องเดินหน้า ไม่เฉพาะวงการสื่อ วงการวิชาการก็ต้องร่วมด้วย

จักรกฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ร่างนี้ คนที่เป็นต้นร่างไม่ได้คิดอะไรใหม่ คือ ไปลอกพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจครอบจักรวาล ไม่มีอะไรให้ต้องสงสัยแล้วว่ากฎหมายนี้มันขัดหรือแย้งต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสนอว่า ถ้าเราเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา เราจะเดินหน้าไปอย่างไร หากย้อนดูว่า ที่ผ่านมา กสทช.เคยทบทวนร่างหรือถอนร่างหรือไม่ น่าจะไม่มี เพราะมันจะเสียหน้า หนทางที่เหลือนอกจากการรณรงค์ระหว่างองค์กรวิชาชีพให้เข้มแข็ง ก็คือ ไปที่ศาล ใช้สิทธิทางศาลปกครอง
 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/2888

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท