จี้รัฐไทยลงนามอนุสัญญาป้องกันการทรมาน-ยูนิเซฟเรียกร้องทั่วโลกหยุดทารุณเด็ก

 31 ก.ค.56   ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ในวาระการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์กในเดือนกันยายนนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เชื้อเชิญให้รัฐสมาชิกร่วมการลงนามในอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ซึ่ง การประชุมนี้เรียกกันว่า UN Treat Event

สมาคมเพื่อการต่อต้านการทรมาน (The Association for the Prevention of Torture- APT) สนับสนุนให้ประเทศไทยใช้โอกาสดังกล่าวในการยืนยันคำมั่นว่าจะป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายโดยการลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาป้องกันการทรมาน (OPCAT) การลงนามในอนุสัญญาป้องกันการทรมานในงาน Treaty Event เป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายก่อนการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการทรมานในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 และการนำเสนอรายงานประเทศต่อคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานในปีพ.ศ. 2557 ที่จะถึงนี้

การลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหมายถึงรัฐสมาชิกเห็นด้วยที่จะให้มีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทั้งในเรือนจำและสถานีตำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งงจะเป็นกลไกในการป้องกันการทรมาน

ปัจจุบันพิธีสารเลือกรับฉบับนีมuรัฐสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 70 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มดำเนินการกลไกป้องกันการทรมานนี้ร่วมกัน

สมาคมเพื่อการต่อต้านการทรมานระบุว่า ขอแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้พัฒนาให้มีการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างแก้ไขกฎหมายอาญาที่จัดให้มีข้อหาการทรมาน และจะจัดให้มีการศึกษาหาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นรัฐภาคีในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการปรึกษาหารือกับตัวแทนของหน่วยงานรัฐภาคส่วนต่างๆ ไปแล้ว

สมาคมระบุว่า ในจดหมายที่ทางสมาคมส่งถึงผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กนั้นได้ขอให้ประเทศไทยใช้โอกาสในงาน UN Treaty Event ณ นครนิวยอร์กในระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน และวันที่ 30 กันยายนถึง1 ตุลาคม 2556 ลงนามในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน

ขณะที่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ยูนิเซฟก็เปิดตัวโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีอำนาจออกกฎหมาย และรัฐบาลออกมาพูดคุยและร่วมกันต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่มักมองไม่เห็น และไม่ถูกรายงาน

ยูนิเซฟระบุว่าโครงการนี้ริเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กๆ ทั่วโลกหลายครั้ง เช่น การยิงเด็กหญิงมาลาล่า ยูซาฟไซ ในปากีสถานเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุ 14 ปี และเหตุสังหารหมู่เด็กนักเรียนและครู 26 คนที่เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติกัตเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ตลอดจนเหตุการณ์รุมข่มขืนเด็กหญิงที่ประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ในปีนี้

นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ในทุกประเทศ ทุกวัฒนธรรม มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ไม่ว่าเมื่อใดหรือที่ใดในโลก พวกเราทุกคนต้องแสดงการต่อต้านและประณามอย่างรุนแรงออกมาให้เห็น เพื่อทำให้ปัญหาที่มักมองไม่เห็นนี้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม

โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็กต้องการผลักดันให้ทุกคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และร่วมกันเคลื่อนไหวทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกเพื่อยุติความรุนแรงนี้ ตลอดจนร่วมกันเสนอความคิดใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้

แม้ว่าข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กจะมีจำกัด แต่ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงรูปแบบและระดับความรุนแรง ซึ่งต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีเด็กหญิงประมาณ 150 ล้านคน และเด็กชาย  73 ล้านคน เคยถูกกระทำรุนแรงและถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ นอกจากนี้รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2548 ยังระบุว่าในแต่ละปีมีเด็กประมาณ 1.2 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

 

ดาวน์โหลดจากลิงค์:

http://weshare.unicef.org/C.aspx?VP3=SearchResult_VPage&ALID=2AM4080UHWER

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท