Skip to main content
sharethis

 


เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 โรงเรียนวิชาการเมืองครั้งที่ 9 ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ “สื่อภาคประชาชน และสิทธิในการสื่อสาร บทเรียนจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” โดย รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน หรือ มีเดียสลาตัน
 

นิยามของ People's Media กับ Citizen’s Media
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ให้คำนิยามคำว่า “สื่อภาคประชาสังคม” ซึ่งมีชื่อเรียกที่หลากหลายด้วยกัน โดยเปรียบเทียบระหว่างคำว่า People's Media กับ Citizen’s Media ซึ่งคำว่า Citizen’s Media ที่แปลว่า สื่อของพลเมือง ซึ่งพลเมืองก็คือบุคคลที่มีสิทธิมีเสียง ได้รับการยอมรับ ดังนั้นสื่อประเภทนี้ก่อตั้งมาก็เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและเกิดพลเมืองที่ตระหนักรู้ หรือ Active Citizen

ต่างกับ People’s Media ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง แต่ถูกปิดมากกว่า เพราะไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองอันมีสิทธิทางการเมือง ดังนั้น ความหมายนี้จะหมายถึงคนนอกกรอบ หรือ คนชายขอบที่ต้องการเป็นพลเมืองแต่สังคมไม่ยอมรับ ดังนั้นคนเหล่านี้ก็ต้องพยายามแสวงหาพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และถูกครอบงำหรือต่อต้านจากภาครัฐ ทั้งที่เขาก็แค่อยากให้อำนาจรัฐได้ยินเสียงของพวกเขา

“ดังนั้นสื่ออิสระเหล่านี้จะเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งมีพื้นที่ได้แสดงออก หรือเผยแพร่ทัศนะความคิดให้คนได้ยิน ซึ่งย่อมดีกว่าเสียงกระสุน”


สื่อภาคประชาสังคมอินโดนีเซียทำงานจริงจังกัดไม่ปล่อย
สำหรับบทเรียนของประเทศอินโดนีเซีย มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมากว่า 30 ปี (ค.ศ. 1965-1998) ด้วยระบบเผด็จการ ประชาชนถูกกดขี่และหลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐรุนแรง

ประชาชนที่ต่อต้านรัฐต้องถูกจับกุมและคุมขังในคุกที่เกาะ เช่น เกาะบูรู ในขณะที่สื่อก็ถูกครอบงำจากภาครัฐและกลายเป็นสื่อที่เน้นการแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น ประสบการณ์ความเจ็บปวดเหล่านี้ทำให้ประชาชนอินโดนีเซียลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลซูฮาร์โตอย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด และส่งผลให้สื่อภาคประชาสังคมทำงานเคลื่อนไหวด้วยความจริงจัง กดดัน เพราะประชาชนเริ่มตระหนักที่ไม่อยากอยู่ภายใต้เผด็จการอีกต่อไป

“มีกลุ่มสื่อภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งก็เคยถูกข่มขู่จากภาครัฐ แต่พวกเขาบอกว่า แค่นี้ไม่เท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาโดนมากกว่านี้ เคยถูกทิ้งบนเกาะเป็นเวลาสิบกว่าปี เขาก็เลยพยายามกดดัน จริงจัง และกัดไม่ปล่อย เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินต่อไปได้”

ก่อนที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจะถูกประชาชนโค่นล้ม(ค.ศ.1994) นั้น มีการก่อตัวของเครือข่ายหนังสือพิมพ์อิสระ คือ AJI (Aliansi Jurnalis Independen) ที่ต้องการเขย่าอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยในช่วงเริ่มแรกมีคนเข้าร่วมไม่มาก แต่หลังจากที่ซูฮาร์โตถูกโค่นล้มแล้ว ก็มีสื่อทางเลือกที่ก่อตัวขึ้นมามากมาย
 

บทเรียนจากฟิลิปปินส์เสนอข่าวพื้นที่ขัดแย้งอย่างเป็นกลาง
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์เอง ประชาชนเริ่มตื่นรู้ภายหลังจากประธานาธิบดีมาร์กอส ปกครองแบบเผด็จการ โดยปี ค.ศ.1972 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนถูกปิดกั้นมาก และไม่กล้าที่จะส่งเสียงมีเพียงแต่เสียงกระซิบและเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านนิทานต่างๆ เท่านั้น

คนที่มีชื่อเสียงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนคือ โฮเช รีซอล (Jose Rizal) เป็นนักต่อสู้ชาตินิยมฟิลิปปินส์ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง “อันล่วงละเมิดมิได้” (ซึ่งช่วงนั้นเป็นหนังสือต้องห้าม) เขาพยายามสื่อถึงประชาชนให้ตระหนักในความเป็นชาติ หรือระเบิดความคิดให้ประชาชนรู้สึกว่า ประเทศนี้ต้องได้รับการปลดปล่อย และสามารถทำได้ และต้องมีความร่วมมือ (Solidarity)

นอกจากนั้น รศ.ดร.อุบลรัตน์ได้ยกตัวอย่างองค์กรสื่อในฟิลิปปินส์ เช่น PCIJ (Philippine Center for Investigative Journalism) เป็นองค์กรที่เก็บข้อมูลลับทางการเมือง ซึ่งเก็บอย่างรอบคอบและถูกต้อง กระทั่งสามารถถอดถอนนักการเมืองคนหนึ่งด้วยหลักฐานที่ถูกต้อง ชัดเจน

หรืออีกองค์กรหนึ่งคือ MindaNews ที่มีฐานอยู่ในมินดาเนา อันเป็นพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรงจากการเรียกร้องเอกราชของชนกลุ่มน้อยโมโร ซึ่งคนที่ก่อตั้งเคยทำงานในสื่อกระแสหลักมาก่อน แต่สิ่งที่เธอนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ขัดแย้ง กลับไม่ได้รับการตอบรับจากสื่อกระแสหลัก เธอจึงก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา และนำเสนอข่าวในพื้นที่ขัดแย้งอย่างเป็นกลาง เพราะสามารถเข้าถึงทั้งฝ่ายรัฐและกลุ่ม MILF ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐ

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อุบลรัตน์ สรุปว่า การเปิดพื้นที่สื่อของประชาชน ภาคประชาสังคมหรือสื่ออิสระ สื่อทางเลือกโดยกลุ่มคนที่ตระหนักรู้อย่างแท้จริง จะเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องอัตลักษณ์ของคนที่มีความต่างกัน และการปิดกั้นก็จะส่งผลในทางตรงข้าม
 

เล่าเรื่องเพื่อนำสู่ความเปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ทิ้งท้ายว่า การเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรม หรือเรื่องเล่าความเจ็บปวดต่างๆ ต้องไม่ใช่การเล่าเพื่อนำเสนอเพียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือเพราะความรู้สึกสงสาร แต่การเล่าเรื่องควรเล่าให้มีฐานข้อมูลและมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจน (Poverty) เรื่องเล่าควรมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การแก้ปัญหาความยากจน ผลกระทบต่ออาชีพ รายได้ ความเสียหายที่ทรัพยากร และยิ่งเมื่อเกิดสงคราม เรื่องเล่าควรเป็นเรื่องผลกระทบของสงครามที่มีต่อชีวิตประชาชน

ที่สำคัญการขับเคลื่อนอย่างมีพลังของสื่อภาคประชาสังคม สื่อพลเมืองอาจจะต้องรอจังหวะอย่างอดทน และต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดจุดเปลี่ยน เมื่อถึงเวลานั้น สื่อภาคประชาชนจะมีพลังอย่างเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 


หมายเหตุ : โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
โรงเรียนวิชาการเมือง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 มีเป้าหมายเพื่อให้คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และเครือข่ายมาร่วมแลกเปลี่ยนเสริมความรู้ เป็นการใช้โอกาสที่มีวิทยากรจากที่ต่างๆ ที่บังเอิญเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเชิญมาให้ความรู้ โดยครั้ง ทางโรงเรียนวิชาการเมืองมีโอกาสเชิญ รศ.ดร.อุบลรัตน์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มสื่อภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งนี้ รศ.ดร.อุบลรัตน์ มีประสบการณ์ภาคสนามเมื่อครั้งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (API) เมื่อปี 2546-2547 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net