Skip to main content
sharethis

“ร.ต.อ.เฉลิม” ย้ำกรมการจัดหางานเร่งหางานให้ผู้มาใช้บริการภายใน 30 วัน

24 ก.ค. 56 - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการจ้างงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และป้องกันการค้ามนุษย์ บริเวณใต้อาคารกระทรวงแรงงาน พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยไม่นิยมทำงานในประเทศ ส่วนแรงงานต่างด้าวเริ่มเลือกงานมากขึ้น กรมการจัดหางานต้องสร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการนำเข้าหรือเปิดขึ้นทะเบียนใหม่แรง งานต่างด้าวกว่าแสนคน แต่ความจริงคือการเร่งออกเอกสารให้กับแรงงานเดิมที่คงค้าง ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายต้องมีการหารืออีกครั้งว่าจะดำเนินการเช่นไร เพราะไทยยังมีความต้องการแรงงาน

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานต้องก้าวไปข้างหน้า คิดแต่สิ่งดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติ ส่วนการจัดหางานต้องดำเนินการให้ได้ภายใน 30 วัน ไม่ควรให้เกิดการรอนานจนไม่เชื่อมั่นในกระทรวงแรงงาน จากนั้นได้ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย พร้อมปล่อยคาราวานรถโมบาย 13 คัน ลงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ความรู้แก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศ พร้อมให้เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดไปเคาะประตูบ้านเพื่อรับฟังปัญหาและให้ ความรู้แก่ชาวบ้าน

(สำนักข่าวไทย, 24-7-2556)

 

เล็งยื่น กก.สิทธิ-ผู้ตรวจ ล้มร่างแก้ไข กม.ประกันสังคม

24 ก.ค. 56 - น.ส.วิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ระบุว่าไม่มีความคิดที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) และให้ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ... ให้ปลัดกระทรวงแรงงาน กลับมาเป็นประธานบอร์ดสปส.เช่นเดิม ว่า ในฐานะผู้ประกันตนไม่ยอมรับร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะให้อำนาจฝ่ายการเมืองเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งไม่ได้มีการวางระบบการตรวจสอบการใช้เงินกองทุน และใช้เสียงส่วนใหญ่ของฝ่ายการเมืองพิจารณาร่างเนื้อหาของกฎหมายโดยขาดการมี ส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น  หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะส่งผลเสียต่อผู้ประกันตนมากกว่าผลดี  ทำให้กองทุนประกันสังคมเกิดความหายนะขึ้นได้ในอนาคต   

น.ส.วิไลวรรณ  กล่าวอีกว่า วันที่ 30 ก.ค. เวลา 09.00 น.  คสรท. จะร่วมกับเครือข่ายแรงงาน หารือกันเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.และจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ด้วย ทั้งนี้มีแนวคิดที่จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เป็นผู้แทนผู้ประกันตน ไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายโดยละเมิดสิทธิของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมออก กฎหมาย นอกจากนี้อยากเรียกร้องไปยังวุฒิสภาว่า หากมีการตั้งคณะ กมธ.เพื่อกลั่นกรองเนื้อหาร่างกฎหมาย ก็ขอให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน และตีกลับมายังสภาฯ เพื่อให้สภาฯตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ โดยให้ผู้ประกันตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

(เดลินิวส์, 24-7-2556)

 

สิงห์รถบรรทุก ขาดแคลนหนัก 1.4 แสนคน

25 ก.ค. 56 - นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรถบรรทุกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถอย่างหนักกว่า 1.4 แสนคน เนื่องจากขณะนี้คนขับรถหันไปประกอบอาชีพอื่นที่งานเบากว่าแทน และอนาคตหากรัฐบาลไม่มีการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา  เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 คาดว่าปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจะรุนแรงขึ้นเพิ่มถึง 2 แสนราย

ทั้งนี้สาเหตุของการขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุก ส่วนหนึ่งมาจากคนขับหันไปขับรถตู้ รถวินมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่ เพราะเป็นงานเบากว่า และมีรายได้ใกล้เคียงกับค่าตอบแทนของพนักงานขับรถบรรทุก และมีบางส่วนกลับไปทำการเกษตรที่บ้าน หลังจากช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น  เมื่อรัฐบาลมีการเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 15,000 บาท ทำให้คนขับรถเลือกกลับไปประกอบอาชีพของตัวเอง จึงต้องการให้รัฐบาลหันมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนขับรถบรรทุก เพราะที่ผ่านมาคนขับมองว่าเป็นงานหนัก และไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคม จึงทำให้ไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำจนเกิดปัญหาขึ้น ทั้งที่จริงรายได้ของคนขับรถบรรทุกสูงถึงเดือนละประมาณ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน แต่งานหนัก ความรับผิดชอบสูง และต้องอยู่คนคนเดียวไม่ค่อยมีสังคมนัก เพราะหากไปทำอาชีพอื่น แม้รายได้น้อยกว่า แต่มีเพื่อนมีสังคม และอยู่ใกล้ครอบครัวได้มากกว่า

นายยู กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการได้เสนอรัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บรรจุปัญหาการขาดแคลนและพัฒนาคุณภาพบุคลาการอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ขณะเดียวกันควรเร่งยกระดับพนักงานขับรถบรรทุกให้เข้าสู่การรวมตัวเป็นสภา วิชาชีพ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและจิตสำนึกความรับผิดชอบของอาชีพเหมือนอาชีพ ทนายความ แพทย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาบุคลากรระบบขนส่งให้มี มาตรฐาน ผ่านการจัดทำหลักสูตรการศึกษา จัดอบรม และแนวทางอื่นๆ เพื่อช่วยยกระดับพนักงานขับรถ เพราอนาคตหากเปิดเออีซีไทยยังไม่มีการปรับตัวยอมรับจะอยู่ได้ลำบาก และถ้าบุคลากร คนขับรถของไทยไม่พร้อม อาจกระทบต่อแผนการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคอาเซียนได้ใน อนาคต
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การแก้ปัญหาคนขับรถบรรทุกขาดแคลน นั้น กรมการขนส่งทางบกจะประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงแรงงาน ให้ร่วมมือกันพัฒนาบุคคลกรขับรถบรรทุกคุณภาพป้อนให้กับผู้ประกอบการรถบรรทุก ขนส่งให้เพียงพอ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาขับรถเกินเวลาโดยไม่หยุดพัก จนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะตามกฎหมายกำหนดให้คนขับรถบรรทุกขับได้ไม่เกิน 4 ชม. และหยุดพักได้ 30 นาที

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกกลับไปศึกษาแนวทางการติดตั้งระบบตรวจจับความ เร็วในรถบรรทุก รวมทั้งกระทรวงจะช่วยผลักดันการจัดตั้งสภาการขนส่งผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งเอกชนเข้ามาเป็นสมาชิกและใช้เป็นกลไกลภายในช่วย กำกับดูแลกันเอง เหมือนสภาวิชาชีพสาขาอื่นในปัจจุบัน.

(สำนักข่าวไทย, 25-7-2556)

 

เปิดตัว "ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์" เครื่องมือหางานสำหรับนายจ้าง-ลูกจ้าง

จากผลสำรวจของจ็อบสตรีทดอทคอมเรื่องเว็บหางานจะอยู่หรือจะไปในยุคทองของ โซเชียลเน็ตเวิร์ก พบข้อมูลว่านายจ้างส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้บริการจากเว็บไซต์หางานเป็นช่องทาง หลักในการลงโฆษณาตำแหน่งงานว่าง คิดเป็นร้อยละ 91

นอกจากนี้ยังพบว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กและช่องทางโฆษณาอื่น ๆ ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างได้ ล่าสุดจ็อบสตรีทดอทคอมเปิดตัว "ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์" (Richer Job Ads) เพื่อช่วยให้นายจ้างพบผู้สมัครที่มีคุณภาพบนโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น

โดยเรื่องนี้ "อีริค ซีโต" ผู้จัดการทั่วไป จ็อบสตรีทดอทคอม ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ความท้าทายหนึ่งขององค์กรส่วนใหญ่ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือการแข่งขัน ช่วงชิงคนเก่งในตลาดแรงงานเข้ามาอยู่ในองค์กร หลายองค์กรจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ หรือการสร้างแบรนด์ เพื่อให้คนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร และอยากร่วมงานในที่สุด ขณะเดียวกันผู้หางานเองก็ต้องการข้อมูลที่มากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจสมัครงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

จ็อบสตรีทดอทคอมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวทั้งในแง่มุมของผู้หางานและนาย จ้าง จึงได้เปิดตัว "ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์" (Richer Job Ads) ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์" เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้หางานสามารถเลือกงานจากบริษัทต่าง ๆ ในอัตราเงินเดือนที่ตนพอใจได้ทันที และสามารถดูรีวิวพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับงาน, ที่ตั้งบริษัท, และข้อมูลเชิงลึกของบริษัทก่อนตัดสินใจยื่นใบสมัคร

"เราได้สอบถามจากผู้หางานจำนวนมากว่าข้อมูลใดสำคัญที่สุดในการตัดสินใจ เลือกสมัครงาน ซึ่งพบว่านอกจากเงินเดือนและตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ทำงานแล้ว พวกเขายังอยากรู้ข้อมูลเชิงลึกของบริษัทด้วย"

"ทั้งนี้ ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์ จะทำให้ผู้หางานเสมือนได้เห็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่แท้จริงผ่านรูปถ่ายและ วิดีโอ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรต่าง ๆ อาทิ ระเบียบการแต่งกาย เวลาทำงาน และภาษาที่ใช้ ความสามารถเหล่านี้อำนวยประโยชน์แก่ผู้หางานในการทำความเข้าใจงานที่ตนสนใจ ได้ดียิ่งขึ้น ในคราวเดียวกันยังช่วยให้นายจ้างคัดกรองผู้สมัครที่จริงจังและมีคุณสมบัติ ตรงตามที่ต้องการได้มากขึ้นด้วย"

ขณะที่ส่วนของนายจ้าง จ็อบสตรีท ดอทคอมเก็บผลสำรวจความคิดเห็นจากองค์กรจำนวน 227 บริษัท พบว่า 43% ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามเคยใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กในการสรรหาบุคลากร

โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกาศตำแหน่งงานว่างและสร้างแบรนด์องค์กรไป พร้อม ๆ กัน และเมื่อสอบถามถึงการเลือกใช้ช่องทางในการสรรหาบุคลากร ร้อยละ 91 ของบริษัทที่ร่วมทำแบบสอบถามยังคงใช้และมีแนวโน้มที่จะใช้เว็บหางานในการลง โฆษณาตำแหน่งงานว่าง ในขณะที่ร้อยละ 49 จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กและองค์กรที่มีแผนจะลงโฆษณา ตำแหน่งงานว่างในสื่อสิ่งพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 21

เรื่องนี้ "ฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา" ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลส่วนแบ่งทางการตลาดการลงโฆษณาประกาศตำแหน่งงานว่า จากการเก็บข้อมูลจำนวนตำแหน่งงานที่ลงโฆษณาบนเว็บไซต์สมัครงานและสื่อดั้ง เดิมอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าแนวโน้มการลงโฆษณาตำแหน่งงานว่างบนเว็บไซต์หางานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่อง

"ขณะที่การลงประกาศในสื่อสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ในปี 2010 ระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีส่วนแบ่งทางการตลาด สื่อออนไลน์:สื่อสิ่งพิมพ์ คิดเป็น 70:30 ปัจจุบันอัตราส่วนเปลี่ยนไปเป็น 91:9 ตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างช่องทางลงประกาศตำแหน่งงานบนเว็บไซต์สมัคร งานออนไลน์กับสื่อสิ่งพิมพ์มีตัวเลขที่ห่างกันมาก ซึ่งในจุดนี้สื่อดั้งเดิมอย่างสิ่งพิมพ์คงไม่ใช่คู่แข่งที่ท้าทายสำหรับ ธุรกิจเว็บไซต์หางานอีกต่อไป"

นอกจากนั้น "ฐนาภรณ์" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้โซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง และเป็นช่องทางที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่าง สะดวกง่ายดายขึ้น แต่ยังคงไม่ใช่กระแสหลักของกิจกรรมการหางาน และการสรรหาบุคลากรในองค์กรในขณะนี้

"เพราะจากผลสำรวจของบริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับพฤติกรรมการหางานของคนทำงานช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าช่องทางที่คนทำงานใช้ในการหางานปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงเข้าเว็บไซต์หางาน คิดเป็นร้อยละ 85 รองลงมาคือร้อยละ 38 บอกต่อเพื่อนหรือคนรู้จัก อีกร้อยละ 36 เข้าเว็บไซต์บริษัทที่ต้องการสมัครงาน มีเพียงร้อยละ 16 ที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก"

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-7-2556)

 

ระวังหลงกลนายหน้าจัดหางานเถื่อน อ้างงานก่อสร้างรายได้ดีในมาเลเซีย

กรมการจัดหางานเตือนคนหางาน หลงเชื่อนายหน้าจัดหางานเถื่อนชาวมาเลเซีย ที่มีพฤติกรรมเข้ามาตีสนิทกับผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้ชักชวนลูกบ้านไปทำงานก่อสร้างในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย โดยอ้างค่าจ้างที่สูงเกินจริงแล้วเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อคนหางานไปทำงานกลับไม่ได้รับค่าจ้างตามที่กล่าวอ้าง

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางานได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับนายหน้าจัดหางานเถื่อนชาวไทยและชาวมาเลเซีย ชื่อนาย Liew Chong Hin ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าไปตีสนิทกับผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้บุคคลดังกล่าว แนะนำลูกบ้านให้มาทำงานกับตน โดยให้เงินเป็นค่าตอบแทนในการแนะนำ โดยนายหน้าดังกล่าวได้อ้างว่า จะได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูง ซึ่งตนสามารถนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของมาเลย์ ได้หลายคนแล้ว เมื่อคนหางานหลงเชื่อ ก็จะเรียกรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เมื่อได้ส่งไปทำงานในมาเลย์ฯ กลับไม่ได้รับค่าจ้างตามที่นายหน้าฯ อ้าง คนหางานหลายรายจึงร้องขอให้สำนักงานแรงงานไทยช่วยเหลือกลับประเทศไทย เบื้องต้นสำนักงานแรงงานฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยดังกล่าว ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างบริษัท Musyati เมืองซีบู รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือส่งกลับประเทศ พร้อมทั้งได้แนะนำนายจ้างดังกล่าวให้จ้างแรงงานไทยโดยผ่านกรมการจัดหางานของ ไทย ซึ่งนายจ้างฯ ก็ยินดีดำเนินการตามข้อเสนอฯ ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการแจ้งความต่อสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับนายหน้าจัดหางานเถื่อนชาวไทย ในมาตรา 30 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528

อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการหลอกลวงคนหางาน กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งเตือนคนหางานมิให้หลงเชื่อนายหน้าหรือบริษัทจัดหา งานเถื่อนรายใด ที่ชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย เพื่อมิให้ต้องเสียทรัพย์สิน หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยขอรับคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูก กฎหมาย หรือร้องทุกข์และแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศได้ ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2245-6763 หรือ สายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694

(บ้านเมือง, 26-7-2556)

 

จัดหางานนครปฐมรับสมัครคัดเลือกคนงานไปภาคเกษตรในอิสราเอล-ญี่ปุ่น

จัดหางานนครปฐม ประกาศเปิดรับสมัครคัดเลือกคนงานเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล และอบรมการทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น
      
นางศุภนา คุ้มวงศ์ดี จัดหางานจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสุ่มคัดเลือกให้ไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ครั้งที่ 4” โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม 2556 รายละเอียด และคุณสมบัติของผู้สมัคร ดังนี้...
      
       1.สัญชาติไทย กรณีผู้สมัครเป็นผู้ชายต้องพ้นภาระการรับราชการทหาร
       2.อายุระหว่าง 23-39 ปี (ผู้สมัครที่โครงการได้รับลงทะเบียน และบันทึกไว้ในฐานข้อมูลแล้ว จะมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของโครงการจนอายุครบ 41 ปีบริบูรณ์)
       3.ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล
       4.คู่สมรส บุตร บิดา หรือมารดา ไม่พำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล
       5.สุขภาพแข็งแรงพร้อมต่อการทำงานภาคเกษตร ไม่มีอาการตาบอดสี และไม่เป็นโรคติดต่อ ได้แก่ วัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี โรคเอดส์ กามโรค ซิฟิสิส และโรคเบาหวาน
      
       หลักฐานการสมัคร   
       1.บัตรประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนา จำนวน 2 ฉบับ
       2.สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ฉบับ
       3.สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี)
       4. รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
       5.สำเนาหลักฐานยกเว้นการเกณฑ์ทหาร จำนวน 2 ฉบับ
       6. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล และสำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ (ถ้ามี) ผู้สนใจสามารถขอรับใบสมัคร และยื่นใบสมัครได้ ระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม
      
นางศุภนา คุ้มวงศ์ดี จัดหางานจังหวัดนครปฐม เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกงาน เทคนิคในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านองค์การพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติประเทศญี่ปุ่น (Public Interest Foundation, International Manpower Development Organization, Japan) หรือ IM ประเทศญี่ปุ่น ปี 2556 ครั้งที่ 4 กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม 2556 รายละเอียดดังนี้
      
ผู้สมัครต้องเป็นเพศชายอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปี สูง 160 ซม. สุขภาพแข็งแรง พ้นภาระการรับราชการทหาร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.-ปวส.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรมสาขาเครื่องยนต์ สาขาเครื่องมือกลและซ่อมบำรุง สาขาวิชาโลหการ (ช่างเชื่อม) สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาช่างก่อสร้าง **ยกเว้นสาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิชาเคหภัณฑ์ สาขาวิชาช่างโยธา สาขาวิชางานสำรวจ** และไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายระหว่างการฝึกอบรมในประเทศ และระหว่างการฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นได้
      
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท หากฝึกงานครบ 1 ปี จะได้รับเงินโบนัส 84,000 บาท ฝึกงานครบ 3 ปี จะได้รับเงินโบนัส 252,000 บาท เอกสารประกอบการสมัคร 1.รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 ใบ 2.บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน วุฒิการศึกษา และหลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร พร้อมสำเนา อย่างละ 1 ฉบับ 3.ประวัติส่วนตัว 4.ใบรับรองแพทย์ 5.ใบผ่านงาน (ถ้ามี) ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการสมัคร
      
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติม และสมัครด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 3 ชั้น 10 กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพฯ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม เลขที่ 898/7-9 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โทร.0-3425-0861 ต่อ 23 ในวันและเวลาราชการ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-7-2556)

 

สั่งประเมินลูกจ้างชั่วคราวเป็น พนักงาน สธ.ลั่นไม่ผ่านอาจเลิกจ้าง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจระเบียบ หลักเกณฑ์การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หลังออกระเบียบและประกาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2556 ว่า ส่วนราชการต้องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประเมินฯ ลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงตามหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 27 ส.ค.นี้ และให้สัญญาจ้างมีผลวันที่ 1 ต.ค. 2556 โดยขณะนี้ สธ.มีลูกจ้างชั่วคราว ประมาณ 117,000 ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตนได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ประกอบด้วย 1.หลักเกณฑ์ว่าด้วยการประเมินลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวง สาธารณสุข 2. การกำหนดประเภทตำแหน่ง ลักษณะงาน และคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่ม และการจัดกรอบอัตรากำลัง 3.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข การสรรหาและการเลือกสรร รวมทั้งแบบสัญญาจ้าง 4.ค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 5.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม สำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ 6.สิทธิประโยชน์ของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไป และ 7.หลักเกณฑ์การลาออกจากการปฏิบัติงานในระหว่างสัญญาจ้างของพนักงานกระทรวง สาธารณสุข เพื่อให้การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐาน เดียวกัน
      
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า พนักงานกระทรวงสาธารณสุข มี 2 ประเภท คือพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไป ได้แก่ พนักงานซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะเป็นงานประจำซึ่งเป็นภารกิจหลักและภารกิจสนับ สนุนทั่วไปของหน่วยบริการในด้านงานเทคนิค งานบริการ งานบริหารทั่วไป งานวิชาชีพเฉพาะ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขพิเศษ ได้แก่ พนักงานซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยว ชาญสูงมากเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของหน่วยบริการ หรือมีความจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว และไม่สามารถหาผู้ปฏิบัติที่เหมาะสมในหน่วยบริการได้ โดย สธ.ได้ทำบัญชีตำแหน่งไว้ 128 สายงาน แยกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะงาน ดังนี้ 1.กลุ่มเทคนิค บริการ และบริหารทั่วไป เช่น นิติกร นักทรัพยากรบุคคล นักวิชาการเงินและบัญชี นักจัดการงานทั่วไป พนักงานประจำตึก พนักงานพิมพ์ เป็นต้น 2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะหรือกลุ่มที่ต้องปฏิบัติงาน ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น และ 3.กลุ่มเชี่ยวชาญ
      
“สำหรับการจ้างได้ให้จ้างตามกรอบอัตรากำลัง โดยต้องคำนึงถึงภารกิจ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิบัติราชการของหน่วยบริการ ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อการให้บริการสุขภาพของประชาชน ภายใต้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (กพส.) ทั้งนี้ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขสามารถย้ายสถานที่ปฏิบัติงานภายในกรมเดียวกันได้ โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ” ปลัด สธ. กล่าว
      
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.กล่าวว่า ลูกจ้างชั่วคราวที่จะเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงฯ หรือเงินรายได้การศึกษา ที่จ้างไว้เป็นรายเดือน และต้องมีชื่อตำแหน่งตามที่ กพส.ได้จัดระบบตำแหน่งไว้ 128 สายงาน โดย กพส.มีวิธีดำเนินการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ประเมินโดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้รับการประเมิน คะแนนเต็ม 50 คะแนน และ 2.ประเมินในรูปคณะกรรมการของส่วนราชการ โดยวิธีสัมภาษณ์ คะแนนเต็ม 50 คะแนน ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีคะแนนการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินหน่วยบริการอาจเลิกจ้างหรือกำหนดวิธีการ จ้างด้วยวิธีอื่นแทน
      
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค สธ.ได้มอบอำนาจการประเมินลูกจ้างชั่วคราว ให้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป ส่วนราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค มอบให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯและผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขเป็น ผู้ประเมิน โดยการนับค่าประสบการณ์ หน่วยบริการที่มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่มีลักษณะงาน/หน้าที่ความรับผิด ชอบตรงกับตำแหน่งพนักงานกระทรวง จะได้รับการปรับเงินค่าประสบการณ์ ร้อยละ 5 ต่อทุกประสบการณ์ 2 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-7-2556)

 

เตือนแก๊งนายหน้าเถื่อนต้มคนไทยทำงานญี่ปุ่น

กรมจัดหางานเตือนคนไทยระวัง “แก๊งนายหน้าเถื่อน” หลอกลวงพาลักลอบทำงานญี่ปุ่น หลังแดนอาทิตย์อุทัยไขก๊อกวีซ่าเข้าประเทศได้ไม่เกิน 15 วัน ชี้มีปัญหามากอาจกระทบการผ่อนปรน ย้ำญี่ปุ่นเปิดแรงงานต่างชาติแค่ 14 สายงานเท่านั้น
  
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า หลังจากญี่ปุ่นยกเลิกการออกวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเดินทางไป ท่องเที่ยวญี่ปุ่น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 15 วัน โดยใช้เพียงหนังสือเดินทางเท่านั้น ทางกรมฯ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น เกรงว่า อาจมีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างเป็นนายหน้า หรือบริษัทจัดหางานเถื่อน ใช้เป็นช่องว่างในการหลอกลวงชักชวนคนไทยลักลอบเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณายกเลิกมาตรการผ่อนปรนนี้ รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศ ที่สำคัญผู้ลักลอบเข้าไปทำงานยังเสี่ยงต่อการถูกหลอกเสียทรัพย์สิน หรือถูกปล่อยลอยแพในต่างแดน ถูกเอารัดเอาเปรียบ เเละไม่กล้าไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเป็นการลักลอบเข้าทำงาน
      
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติเฉพาะผู้ประกอบงานวิชาชีพและแรงงาน ฝีมือ ทั้งสิ้น 14 สายงานเท่านั้น ส่วนแรงงานไร้ทักษะฝีมือและกึ่งฝีมือจะเข้าไปทำงานภายใต้เงื่อนไขต้องเป็น แรงงานต่างชาติที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นเท่านั้น โดยเปิดรับในรูปแบบการเข้าไปฝึกงานของคนงานจากบริษัทสาขาของบริษัทญี่ปุ่นใน ต่างประเทศที่ส่งเข้ามาฝึกงานกับ บริษัทแม่ในญี่ปุ่น หรือเป็นแรงงานต่างชาติประเภทไร้ฝีมือภายใต้การควบคุมของ Japan International Training Cooperation Organization (JITCO) โดยเข้าไปในรูปการฝึกงานด้านเทคนิคในญี่ปุ่นเป็นเวลา 1-3 ปี แต่ต้องมีอายุระหว่าง 25-30 ปี และต้องผ่านการสอบคัดเลือกจากองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติประเทศญี่ปุ่น (IM) มาก่อนเท่านั้น
      
"ผู้ที่ต้องการสมัครเข้ารับการสอบคัดเลือกเพื่อจัดส่งไปฝึกงานด้าน เทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่น กับ IM สามารถสมัครได้ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักงานบริหารแรงงาน ไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ในระหว่างวันที่ 15 ก.ค. - 6 ส.ค.นี้” อธิบดี กกจ.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-7-2556)

 

บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เตรียมบุก สปสช. ถกเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่  28 กรกฎาคม  ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ(สปสช.)  ในเร็วๆนี้ เพื่อแจ้งและปรึกษาข้อมูลความเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพที่เกิดขึ้นในสถาบัน อุดมศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่าหนึ่งแสนคน

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ กำลังเตรียมเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ในเร็วๆนี้  โดยมีเนื้อหาการปรึกษาหารือการคาดหวังให้กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ลงเอ็มโอยูร่วมมือกับ อปท. กระทรวงมหาดไทย ตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวนกว่า 5.3 แสนคนทั่วประเทศ โดยได้สิทธิทัดเทียมกับข้าราชการพลเรือนรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ไปแล้วและดำเนินเรื่องส่งเข้า ครม. อนุมัติรับรองในปีงบประมาณ 2557 ไปแล้วนั้น อยากให้ สปสช โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้นเรื่องนำกลุ่มบุคลากรทางการศึกษากลุ่มใหญ่กว่าแสนคนที่ขณะนี้มี สถานภาพเป็น พนักงานมหาวิทยาลัยเข้าระบบเดียวกันด้วย
 
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนใน มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยพนักงานมหาวิทยาลัย โดยถูกตัดขาดจากการใช้สิทธิราชการเดิม และยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยได้เข้าไปใช้สิทธิประกันสังคม (ปกส) ไปก่อนล่วงหน้า ซึ่งงบประมาณ ปกส. รายหัวต่อรายเดือนตกประมาณ 750-1,400 บาทโดยรัฐสนับสนุนในหมวดงบแผ่นดินไปที่ทุกๆมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้ในกองทุนสุขภาพข้าราชการ ซึ่งเป็นสถานะเดิมก่อนมีระบบพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น รัฐต้องจ่ายปีละประมาณ 6 หทื่นล้านบาท ต่อข้าราชการ 5 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งค่าเฉลี่ยต่อหัวก็ประมาณ เดือนละ 1,200 บาท ดังนั้นหากโยก ปกส. ของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาใช้กองทุนเหมือน อปท. ก็คิดว่ามีช่องทางทำได้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่มี deadlock ในเรื่องนี้
 
ด้าน อ. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าว่า ขณะนี้บ้านสมเด็จโพลล์โดยความร่วมมือกับ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  กำลังออกแบบสำรวจสอบถามประเด็นนี้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรของ รัฐกลุ่มนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้สุ่มตัวอย่างจาก บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  ทั่วประเทศแล้ว โดยจะแถลงผลโพลล์ในเร็วๆนี้เช่นกัน


(มติชนออนไลน์, 28-7-2556)

 

แรงงานนอกระบบพึ่งศาลปกครองฟ้อง“นายกฯปู-กิตติรัตน์-ผอ.สศค.”ละเลยหน้าที่

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ  น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา  และ นางอรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับพวกรวม 27 คน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานภาคประชาชนและสมาชิกศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่ง ชาติ ร่วมกันยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3  กรณี ละเลยต่อหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ชอบ โดยไม่ดำเนินการเปิดให้รับสมัครสมาชิก เมื่อได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) พ.ศ.2554 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12พ.ค. 54 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้กองทุนการออมแห่งชาติ ( กอช.) เปิดรับสมาชิกหลังจาก 360 วันที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว คือวันที่ 8 พ.ค.55 แต่มาถึงวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา สั่งผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ร่วมกันให้มีการออกกฎกระทรวง และประกาศต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการรับสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติโดยด่วน และให้ร่วมกันดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการคืนสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิก กอช.ให้กับผู้ใช้แรงงานนอกระบบด้วย  ทั้งนี้ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณาต่อไปว่า จะประทับรับฟ้องคดีไว้เพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่

โดยนางอรุณี กล่าวว่า ที่ยื่นฟ้องครั้งนี้ เนื่องจากกรณีที่รัฐบาลไม่เปิดรับสมาชิกตาม พ.ร.บ.กองทุนการออม ฯ ถือว่าเป็นความเสียหายต่อประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในวงกว้าง เนื่องจากมี กฎหมายตั้งแต่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. พ.ศ. 2554  ซึ่งมีผลบังคับใช้โดยประชาชนสามารถสมัครสมาชิกได้ตั้งแต่ เดือน พ.ค. 2555 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว ทำให้บุคคลที่ควรจะมีสิทธิก็เสียสิทธิ เช่น กลุ่มผู้มีอายุใกล้ 60 ปี ก็เสียโอกาสในการได้รับหลักประกัน รวมถึงกลุ่มประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่กว่า 12 ล้านคนซึ่งต้องเสียโอกาสในการสะสมเงินเข้ากองทุนเนื่องจากนายกิตติรัตน์ ไม่ดำเนินการ เพราะจากที่มีการประชุมพิจารณางบประมาณประจำปี 2557 นายกิตติรัตน์ ได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการตัดเรื่องการจัดสรรงบ ประมาณปี 2557 ให้กองทุนการออมแห่งชาติ

ทั้งนี้จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปรวมทั้งหมด 7.79 ล้านคน หรือ 12.38% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็น 17.5% ในปี 2563และ 25.1% ในปี 2573 เพราะประชากรเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 31% ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุ 42% มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต แม้ว่ารัฐจะจัดสรรให้ 500 บาทต่อเดือนก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาผู้สูงอายุจะพึ่งพิงลูกหลาน แต่อนาคตข้างหน้าจะเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ยังพบว่ามีกลุ่มแรงงานนอกระบบระหว่างอายุ 15– 50 ปีอีกว่า 18 ล้านคนจะได้ประโยชน์จากกองทุนนี้ และจะเสียประโยชน์หากรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการ ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องพึ่งพาระบบบำนาญ

“รัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ เพราะเห็นว่าปัจจุบันมี พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในมาตรา 40 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบของภาครัฐและเอกชน สามารถส่งเงินสมทบร่วมกับภาครัฐได้ ทำให้ กระทรวงการคลังออกมาปฏิเสธกองทุนเงินออม และที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ ประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ให้ครบ 2.6 ล้านคนในปี 2556 แต่ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเพียง 1.2 ล้านคน เท่านั้น ส่วนอีก 50 % จ่ายเงินไม่สม่ำเสมอ จึงถือเป็นความล้มเหลวในการทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสวัสดิการต่างตามสิทธิ ที่ควรได้รับ” นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนกล่าวและว่า ที่ผ่านมาเคยเดินทางไปเรียนร้องต่อรัฐบาลหลายครั้งแล้ว และไปพบนายกิตติรัตน์  2 ครั้งแล้ว จนต้องมาพึ่งศาลปกครองและพึ่งตุลาการฯให้ช่วยดำเนินการ ขณะที่อนาคตอาจจะมีการฟ้องร้อง ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมฯให้ได้ภายในปี 2556

(เดลินิวส์, 29-7-2556)

 

กสร.จวก นายจ้าง ไม่แจ้งเหตุระเบิดทำลูกจ้างดับ

(29 ก.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุระเบิดในบริษัท สยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด ตั้งอยู่ถนนไอ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ถูกนำส่ง รพ.กรุงเทพระยอง โดยเหตุเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีการแจ้งให้ทางสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ภาคตะวันออก สำนักงานความปลอดภัย ของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแต่อย่างใด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ สันนิษฐานว่าเป็นการระเบิดของฝาถังบรรจุโซเดียมไฮดรอกไซด์ เนื่องจากวันเกิดเหตุบริษัทได้จ้างผู้รับเหมา บริษัท สินทวี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดเข้ามาปรับปรุงระบบท่อ บริเวณถังบรรจุสารดังกล่าว และขณะทำการเชื่อมทำให้เกิดประกายไฟและเกิดปฏิกิริยากับไอระเหยจากสารเคมีใน ถัง ส่งผลให้มีลูกจ้างของบริษัทรับเหมาเสียชีวิต 1 ราย คือ นายประนัย อินพะเนา อายุ 48 ปี และมีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งลูกจ้างที่เสียชีวิตนั้นจะได้รับสิทธิเงินชดเชยตามประกันสังคม
      
นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย พ.ศ.2554 มาตรา 34(1) กรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต นายจ้างต้องแจ้งรายละเอียดต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่คือ บริษัท สยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รวมไปถึงหัวหน้าผู้ควบคุมงานดังกล่าวด้วย โดยจะดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทเจ้าของพื้นที่ต่อไปเพื่อให้ผู้ประกอบการ ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างและเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้ เกิดเหตุดังกล่าวซ้ำอีก
      
“การระเบิดของถังบรรจุสารเคมีหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นความประมาท การเชื่อมถังบรรจุสารเคมีเหล่านี้ต้องตรวจดูให้ดีว่ามีสารเคมีหลงเหลืออยู่ ในถังหรือไม่ ซึ่งหัวหน้างานต้องควบคุมดูแล ตามคู่มือการทำงานที่มีระบุไว้เป็นขั้นตอน” นายอาทิตย์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-7-2556)

 

สปส.ตั้งคณะทำงานศึกษาให้สิทธิรักษา

สปส.ตั้งคณะทำงานศึกษาให้สิทธิ-ย่นเวลาเกิดสิทธิประโยชน์ ชี้แนวโน้มอยู่ระหว่าง 1 เดือน หรือสั้นสุด 7 วัน จัดโครงการรถเคลื่อนที่ลงหมู่บ้าน เชิญชวนเข้าประกันสังคมม.40 เปิดตัว 7 ส.ค.นี้

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน (รง.) ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันสังคมและส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ ประกันสังคมมาตรา 40 รวมทั้งจัดระบบเพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวรองรับประชาคมอาเซียน (เออีซี) โดยขณะนี้ สปส.ได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งมี นางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการ สปส.เป็นประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนและ ระยะเวลาการเกิดสิทธิหลังจากเข้าเป็นผู้ประกันตน ให้เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว

ทั้งนี้ เบื้องต้นเท่าที่ดูความเป็นไปได้ อาจจะย่นระยะเวลาจากเดิมเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง 3 เดือนแล้ว จึงเกิดสิทธิกรณีรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นจะต้องเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องอย่าง น้อย 1 เดือนหรือหากจะให้เร็วที่สุดก็ต้องเป็นเวลา 7 วันแล้วจึงเกิดสิทธิ คงไม่สามารถให้เกิดสิทธิได้ทันทีหลังสมัครเป็นผู้ประกันตน เนื่องจาก สปส.ต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งส่งต่อข้อมูลผู้ประกันตนไปยังโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและออกบัตร รับรองสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน
      
“ส่วนเรื่องของสิทธิประโยชน์นั้น เบื้องต้นเท่าที่พิจารณาโดยส่วนตัวผมเห็นว่าน่าจะให้ใช้สิทธิได้ทันที เมื่อผู้ประกันตนเกิดสิทธิก็คือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาล ประสบอุบัติเหตุแล้วเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ เนื่องจากทั้งสองกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการดูแล อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ต่อความมั่นคงด้านการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว” เลขาธิการ สปส.กล่าว
      
นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดระบบประกันสังคมเพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวนั้น สปส.ได้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิ์ครบ 7 กรณี โดยตัดสิทธิ์กรณีว่างงาน คลอดบุตร และสงเคราะห์บุตรออกไป แต่แรงงานต่างด้าวยังคงได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพซึ่งเงินชราภาพนั้นจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จเมื่อเดินทางกลับประเทศ ต้นทาง ตอนนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระที่ 2
      
นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ทางสปส.จะจัดรถเคลื่อนที่ออกให้บริการและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้และชักชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ตามหมู่บ้านของแต่ละตำบลในจังหวัดต่างๆโดยจะจัดงานเปิดตัวโครงการในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่กระทรวงแรงงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-7-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net