Skip to main content
sharethis
ศอ.รส. แจงมาตรการดูแลการชุมนุมภายใต้ กม.ความมั่นคงฯ ออกประกาศ 3 ฉบับ ห้ามบุคคลเข้าออกพื้นที่โดยรอบทำเนียบ-สภา 'ประชา' ระบุประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อคุมเหตุรุนแรง กองทัพประชาชนฯ ยื่น กก.สิทธิฯ สอบมติ ครม.ชุดเล็กประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ด้านราชตฤณมัยประกาศห้ามใช้สนามม้าชุมนุม 
 
2 ส.ค. 56 - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศบังคับใช้ กม.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ในช่วง 1-10 ส.ค.นี้ หลังจากประเมินว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ ว่า ได้ชี้แจงคำสั่งปฏิบัติการ รายละเอียดการทำงาน และการจัดกำลังเพื่อดูแลการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งจะใช้แนวทางการดูแลตั้งแต่มาตรการเบาไปถึงหนักตามหลักสากล
 
"ได้กำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยยึดหลักความเป็นสากล กฎหมายนี้ออกมาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้สามารถชุมนุมได้โดยเรียบร้อย" ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศอ.รส.ระบุ
 
พร้อมประเมินว่าจากข้อมูลการข่าว คาดว่าจะมีผู้มาชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.56 อย่างต่ำ 4 พันคนไปจนถึงระดับหมื่นคน และมีโอกาสยกระดับการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย หรือบุกรุกสถานที่ราชการหรือเขตหวงห้าม ก็จะถูกดำเนินคดี โดยมีระวางโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพื่อดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นว่า หลักสำคัญของการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนนั้น จนท.จะต้องพึงระลึกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น จนท.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามกฎหมายที่กำหนด และหลักสิทธิมนุษยชน และหลักควบคุมฝูงชนที่เป็นหลักปฏิบัติสากล ซึ่งการใช้กำลังตามหลักการดังกล่าวจะหมายรวมถึงการใช้อุปกรณ์และอาวุธประกอบการใช้กำลังด้วยด้วย
 
ทั้งนี้ การจัดการกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายนั้น จนท.ที่รับผิดชอบจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องยึดถึงหลัก 4 ประการ คือ 1.หลักแห่งความจำเป็น คือให้จนท.ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น โดยต้องพยายามใช้วิธีการอื่นก่อนการใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม 2.หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ต้องเลือกวิธีจากเบาที่สุดและเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุดก่อน โดยต้องยึดหลักแห่งความได้สัดส่วน คือต้องใช้วิธีการและกำลังด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับพยันตรายที่คุกคาม เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองและของผู้อื่น
 
3.หลักความถูกต้องตามกฎหมาย คือการพิจารณาใช้กำลังเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามหลักสากลกำหนดไว้ 4.หลักความรับผิดชอบ ให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง โดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ หรือการปฏิบัติ และให้มีการจัดเตรียมบรรเทาผลร้ายหรือเยียวยาหลังใช้กำลังเสร็จสิ้นไว้ด้วย
 
สำหรับหลักการใช้กำลังสากลในการใช้กำลังปฏิบัติการควบคุมฝูงชน จะมีทั้งหมด 10 ขั้นจากเบาไปหาหนัก ประกอบด้วย 1.วางกำลังในเครื่องแบบปกติ 2.การจัดรูปขบวน 3.การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 4.เคลื่อนไหวกดดัน 5.ใช้คลื่นเสียง 6.แก๊สน้ำตา 7.บังคับร่างกาย 8.ฉีดน้ำ 9.กระสุนยางและอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และ 10.อาวุธปืนเฉพาะบุคคล(จะใช้เพียงกระสุนยางเท่านั้น) ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มขั้นตอนที่ 5 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประกาศแจ้งเตือนต่อผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง
 
"การใช้อุปกรณ์อาจไม่ได้เรียงลำดับตามนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ เช่น ทันทีที่เกิดการปะทะกันของฝูงชน เช่น กลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้ต่อต้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะต้องใช้โล่ กระบองก่อนใช้แก๊สน้ำตา เพื่อผลักดันมวลชนออก ทั้งหมดขึ้นกับเหตุการณ์ เราอาจใช้น้ำก่อนแก๊สก็ได้ การวินิจฉัยว่าจะใช้อะไรก่อนนั้นขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหตุการณ์" พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ ศอ.รส. ได้ออกประกาศคำสั่งปฏิบัติการ 3 ฉบับ ในการห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา และถนน 12 เส้นทางโดยรอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และ ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน พร้อมนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่จะใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม อาทิ ปืนยิงกระสุนยาง / แก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์ที่จะใช้เป็นไปตามหลักสากล
 
บรรยากาศการรักษาความปลอดภัย บริเวณโดยรอบรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงวันที่ 2 ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะที่รัฐสภา ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องรถและบุคคลที่จะผ่านเข้าออก เช่นเดียวกับที่ทำเนียบรัฐบาล ทุกประตูทางเข้าออก มีการวางกำลังตำรวจ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตียม รถคุมผู้ต้องขัง สายตรวจ รถยกเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน แต่บรรยากาศยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยตลอดพื้นที่ ยังไม่ปรากฏมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม
 
อย่างไรก็ตาม ตลอดถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ ได้ตั้งด่านความมั่นคง เพื่อป้องกันรถและบุคคลต้องสงสัย นำพาอาวุธ หรือสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาภายในพื้นที่ ส่วน ประชาชน ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ
 
 
“พล.ต.อ.ประชา” ระบุประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อคุมเหตุรุนแรง
 
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวลขึ้นได้ว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามหลักสากล ส่วนมาตรการในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.) จะเป็นผู้พิจารณา โดยมีลำดับการปฏิบัติเป็นขั้นตอนตามหลักสากล เริ่มตั้งแต่มาตรการเบาที่สุด เช่น ปิดกั้นการจราจร กำหนดเขตห้ามเข้า มีการใช้โล่และกระบอง ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาเป็นขั้นตอนที่แรงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำแนวทางการปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติว่าต้องไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ รัฐบาลมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ สำหรับควบคุมสถานการณ์ ส่วนจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเฝ้าระวังอย่างไรหากผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ  พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ฝ่ายข่าวของ กอ.รมน. สมช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเหล่าทัพต่างๆ มีข่าวตรงกันว่าจะมีการรวมพลังกันเพื่อต่อต้านไม่ให้มีการประชุมสภาฯ ล้มรัฐบาล ซึ่งเป้าหมายของผู้ชุมนุมชัดเจน จึงต้องป้องกันพื้นที่ 2 จุดคือ ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาไว้ให้ได้
 
“หากเราทำไม่ได้ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณากฎหมายไม่ได้ จึงไม่สามารถให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวบริเวณที่ประกาศพื้นที่ควบคุม 3 เขตคือ ดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่ายได้ ทั้งนี้ ที่เรากำหนดเขตพื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อยให้ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ฉบับนี้ไม่เหมือนกับกฎหมายฉบับอื่น เพราะจุดประสงค์คือการป้องกันภัยหรือภัยที่อาจจะเกิดขึ้นและกระทบกับความมั่นคง ดังนั้น เราใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและคลี่คลายเหตุ และการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะในอดีตก็มีการประกาศเพื่อป้องกันเหตุ ซึ่งมีพื้นที่ควบคุมมากกว่านี้มาแล้ว ส่วนผู้ชุมนุมจะกลัวหรือไม่เป็นเรื่องของความรู้สึก ซึ่งเราไม่ได้ต้องการให้เกิดความกลัว แต่ต้องการให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่า” พล.ต.อ.ประชา กล่าว
 
ส่วนที่มีข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นฟ้องศาลยุติธรรมว่ารัฐบาลพิจารณาการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ โดยไม่ชอบ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อถามว่ารัฐบาลจะพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อขอร่วมมือเฝ้าระวังกลุ่มมือที่สามเข้ามาปั่นป่วนหรือไม่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า การประสานงานภายในส่วนลึกของเรามีอยู่แล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางการข่าวได้รายงานให้ทราบถึงการเตรียมขนประชาชนจากพื้นที่ภาคใต้ทยอยมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การข่าวประเมินต่อเนื่อง เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายกระแส เรามีหน้าที่ประมวลและรวบรวมไว้ ซึ่งเราติดตามสถานการณ์โดยตลอด แม้การชุมนุมจะทำได้ตามกฎหมายแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย โดยชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ และต้องไม่กระทบกับความมั่นคงภายในของประเทศ
 
 
กอ.รมน.แจงเหตุผลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่าพ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 3 เขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค. เพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่า กอ.รมน.จะเน้นประเมินสถานการณ์รายวัน เบื้องต้นยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ ซึ่งการชุมนุมของทุกกลุ่มมีรัฐธรรมนูญรองรับ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องจำกัดเส้นทาง เพื่อป้องกันกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน พร้อมกับอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งหากสถานการณ์ไม่มีความรุนแรง สามารถประกาศยกเลิกการ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ก่อนวันที่ 10 ส.ค.
 
ส่วนกรณี นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีแผนจับตัวนายกรัฐมนตรีและประธานสภา เพื่อไม่ให้พิจารณาร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรม ได้สำเร็จ พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ แต่เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว
 
 
ราชตฤณมัยฯประกาศ ห้ามใช้สนามม้าชุมนุมการเมือง
 
ด้าน พล.อ.จำลอง บุญกระพือ ผู้ช่วยเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคม ได้ออกหนังสือด่วน ถึงเลขาธิการกิตติมศักดิ์ ราชตฤณมัยสมาคม  ระบุว่า เนื่องจากจะมีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 4 ถึง 7 สิงหาคม ศกนี้ และเป็นเหตุให้รัฐบาล โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ออกประกาศพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2556 บังคับใช้ในเขตดุสิต เขตพระนครและเขตป้อมปราบฯ ซึ่งราชตฤณมัยสมาคมอยู่ในพื้นที่บังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเห็นควรว่า ให้ห้ามการใช้ประโยชน์ใด ๆ ของราชตฤณมัยสมาคม อาทิ บริเวณอาคารต่าง ๆ ของกลุ่มบุคคลใดที่จะพบปะรวมตัว ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อการรักษาความปลอดภัย
 
 
กองทัพประชาชนฯ ยื่น กก.สิทธิฯ สอบมติ ครม.ชุดเล็กประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ นำโดยนายพิเชษฐ พัฒนโชติ เข้ายื่นหนังสือต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ เนื่องจากเห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเจตนาข่มขู่ มุ่งสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเดินทางมาร่วมชุมนุมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้
 
นายพิเชษฐกล่าวว่า การชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ซึ่งการจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กฎหมายได้กำหนดถึงความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวว่าต้องเห็นว่าการชุมนุมนั้นจะมีเหตุชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการชุมชุมเกิดขึ้น เป็นเพียงการนัดหมาย และการชุมนุมยังไม่ได้สร้างความเสียหายกับใครเลย จึงไม่น่าจะเข้าข่ายให้ออกประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว
 
“ตามปกติทุกวันพุธ รัฐบาลไม่ประชุมคณะรัฐมนตรี การอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ซึ่งตามกฎหมายแล้วคณะรัฐมนตรีมีเพียงชุดเดียวที่ประกอบด้วยรัฐมนตรี 35 คน ไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดเล็กตามที่อ้าง จึงเป็นไปได้ว่าการออกประกาศดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมุษยชนแห่งชาติตรวจสอบว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ข่มขู่ประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมชุมนุมให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม และเพื่อสกัดกั้นประชาชนที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือไม่” นายพิเชษฐ กล่าว
 
ด้านนางอมรากล่าวว่าถ้าตรวจสอบแล้วเข้าประเด็นละเมิดสิทธิจะส่งให้อนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบ ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ การชุมนุมที่จะมีขึ้นก็ขึ้นอยู่กับกรรมการสิทธิฯ แต่ละคนว่าจะลงพื้นที่สังเกตการณ์หรือไม่
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐได้เข้ายื่นคำร้องเดียวกันนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายกีรป กฤตธีรานนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งนายกีรป กล่าวว่า จะเร่งเสนอต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าจำเป็นต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือหรือไม่
 
 
เปิดชื่อ 12 ถนน ห้ามเข้าออก เว้นแต่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. มั่นคงฯ
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่า วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้มีการเผยแพร่  ประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ เรื่อง ห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
 
ประกาศระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖  ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการ กำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร นั้น
 
เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้ สถานการณ์ขยายลุกลามจนเกิดความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมทั้ง การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ และวรรคสาม ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงออกประกาศกำหนดดังนี้
 
ข้อ ๑ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
ข้อ ๒ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(๑) ถนนราชสีมา ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกประชาเกษม
(๒) ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
(๓) ถนนอู่ทองใน ตั้งแต่แยกอู่ทองในถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า
(๔) ถนนลิขิต
(๕) ถนนพระราม ๕ ตั้งแต่ สะพานอรทัย ถึง แยกสุโขทัย
(๖) ถนนสุโขทัย ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกสุโขทัย
(๗) ถนนราชวิถี ตั้งแต่ แยกการเรือน ถึง แยกราชวิถี
(๘) ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกพระรูป ถึง แยก จปร.
(๙) ถนนลูกหลวง ตั้งแต่ สะพานวิศุกรรมนฤมาณ (ถนนลูกหลวงตัดถนนราชสีมา) ถึงสะพานเทวกรรม (ถนนลูกหลวงตัดถนนนครสวรรค์)
(๑๐) ถนนพิชัย ตั้งแต่ แยกขัตติยานี ถึง ถนนราชวิถี
(๑๑) ถนนนครปฐม
(๑๒) ถนนกรุงเกษม แยกประชาเกษม ถึง แยกเทวกรรม
ทั้งนี้ ให้รวมถึงพื้นที่บริเวณถนน ทางเท้า คูคลอง และพื้นที่สาธารณะ ต่อเนื่องไปอีกในรัศมี๕๐ เมตร
 
ข้อ ๓ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ
รักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่า
เป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้
 
ข้อ ๔ ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net