Skip to main content
sharethis

กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch"  เปิดแคมเปญล่ารายชื่อ เสนอตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วของ ปตท. ในอ่าวระยอง ล่าสุดได้กว่าพันรายชื่อแล้ว 

ในเว็บไซต์ change.org กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch" หรือ "กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว" ได้มีการตั้ง แคมเปญรณรงค์ออนไลน์เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริหารบริษัท ปตท. ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลลงสู่อ่าวไทย โดยระบุให้มีองค์ประกอบในคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกกฎหมาย และภาคประชาชน โดยชี้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบที่พีทีทีจีซีตั้งขึ้นมาเองนั้น อาจไม่สามารถสร้างความกระจ่างในกรณีนี้ได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง  (อ่านต่อ)

ล่าสุด เวลา 13.50 น. วันนี้ (7 ส.ค.) การรณรงค์ดังกล่าว มีคนร่วมลงชื่อกว่า 1,440 รายชื่อแล้ว

000

ตั้งกรรมการอิสระตรวจน้ำมันรั่ว ปตท.

ถึง: 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายกรัฐมนตรี 
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 
นายวิชิต ชาตไพสิฐ, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง 
นายวิชัย พรกีรติวัฒน์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น และก๊าซธรรมชาติ 
นายชาครีย์ บูรณกานนท์, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ 
นายณัฐชาติ จารุจินดา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 
นายสุรงค์ บูลกุล, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน 
นายสรัญ รังคสิริ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน 
นายสรากร กุลธรรม, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

 

น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) จำนวนมหาศาลที่รั่วไหลสู่อ่าวไทย  ได้ทิ้งคราบปนเปื้อนบนเกาะเสม็ดโดยเฉพาะอ่าวพร้าว รวมถึงชายฝั่งของระยองมานานกว่า 1สัปดาห์ กำลังค่อยๆ จางหายไปพร้อมไปกับความจริงและสาเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

หายนะครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น  แต่ยังก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร ทรัพยากร และระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทย ไปอีกอย่างน้อยหลายสิบปี

พีทีทีจีซี และ ปตท. ยืนยันจะรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ความเสียหายทั้งหมดที่แท้จริงซึ่งผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบคือเท่าไหร่กันแน่

การนำเสนอข่าวสารจากพีทีทีจีซี และ ปตท. สร้างความสับสน  ข้อมูลจำนวนมากยังคงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย  อาทิ ปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหลสู่ทะเล ชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน ผลกระทบและอันตรายทั้งจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลและสารเคมีที่นำมาใช้ ขั้นตอนในการป้องกันและระงับเหตุเพื่อลดผลกระทบ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง” อย่างเร่งด่วน

คณะกรรมการตรวจสอบที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม โดย พีทีทีจีซี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อเหตุเองและมีส่วนได้เสียโดยตรง จะไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับเรื่องนี้ได้ พวกเราจึงเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีการดำเนินงานที่เปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง องค์กระกอบของคณะกรรมการจะต้องมีตัวแทนจากอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน

เมื่อปี 2552 ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำมันรั่วจากหลุมขุดเจาะที่แหล่งมอนทารา นานกว่า 74วัน เป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะกลางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้ศาลของออสเตรเลียสั่งปรับไปกว่า 8,946ล้าน บาท รวมทั้งเซ็นสัญญาให้เงินสนับสนุนการวิจัยเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังจากเกิดเหตุแก่คณะนักวิทยาศาตร์อิสระที่มอบหมายโดยรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องอีก 2 – 5 ปี

ในครั้งนั้น ปตท. ประเมินว่ามีการรั่วไหลเพียง 4.5ล้านลิตร แต่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งคณะกรรมอิสระขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง และประเมินว่าอาจมีน้ำมันรั่วถึง 34ล้านลิตร คณะกรรมการอิสระชุดนี้มีส่วนทำให้ ปตท. ต้องเสียค่าปรับ และจ่ายค่าทำความสะอาดเหมาะสมตามความเป็นจริง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งเดียวกันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเลและชาวประมงในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน 75,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่มีกลไกอิสระในการสืบสวน ทำให้ ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในน่านน้ำอินโดนีเซีย และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ  

เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง

มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในประเทศไทยที่ประชาชนไม่ทราบ หรือไม่ได้เป็นข่าวนับครั้งไม่ถ้วน ขอให้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ปลอดพ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการหาความจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net