TDRI เสนอพัฒนารูปแบบเตือนภัยหนีน้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยผลการสำรวจรูปแบบการเตือนภัยและพฤติกรรมของผู้ได้รับการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พบว่า การได้รับการเตือนภัยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพหนีภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญประกอบด้วย ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย สถานที่รองรับผู้อพยพในชุมชน ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพศ รายได้ ในขณะที่วิทยุสื่อสารเป็นสื่อเตือนภัยที่มีอิทธิพลต่อการอพยพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดเหตุการณ์กระชั้นชิด ในส่วนของการตัดสินใจอพยพ ผู้หญิงมีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน
 
ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรและการที่มนุษย์ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยกระทันหันและรวดเร็ว การเตือนภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ แต่ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ประสบภัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การอพยพออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย

ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ 

ทีดีอาร์ไอโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) ทำการศึกษาปัจจัยและรูปแบบการเตือนภัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพของประชาชนในพื้นที่น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยเลือกพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพื้นที่กรณีศึกษา ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยและเก็บแบบสอบถามจากประชาชนในพื้นที่

การสำรวจข้อมูลจากแบบสอบถามแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก ถามเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพ  และส่วนที่สอง ถามเกี่ยวกับรูปแบบสื่อเตือนภัยที่ทำให้ตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย มีจำนวนตัวอย่างที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 332 คน จาก 166 ครัวเรือน แยกเป็นผู้ประสบภัยในอำเภอท่าศาลา 120 คน อำเภอสิชล 122 คน และ อำเภอนบพิตำ 90 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 43 (144 คน) ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจอพยพ โดยเหตุผลของการตัดสินใจไม่อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยได้แก่ เชื่อว่าอาศัยอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินว่าจะถูกโจรกรรม ถนนถูกตัดขาด ไม่มีพาหนะในการอพยพ มีเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องดูแล อยู่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพประกอบด้วย การได้รับการเตือนภัย การมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ  เพศ และ รายได้  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเตือนภัย  กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับทราบข้อมูลของตำแหน่งและเส้นทางในการอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง  มีโอกาสที่จะตัดสินใจอพยพมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ เนื่องจากการเตือนภัยจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้น และการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ปลอดภัยทำให้กลุ่มตัวอย่างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการอพยพ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง มีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าเพศชายเนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้สูง มีโอกาสตัดสินใจที่จะไม่อพยพออกจากพื้นที่มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าบ้านและทรัพย์สินจะถูกโจรกรรมในระหว่างที่อพยพ

การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า การได้รับการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่างๆ มีความสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่นๆ  โดยในระยะเวลากระชั้นชิดที่มีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นนั้น สื่อเตือนภัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดคือ วิทยุสื่อสาร เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมีฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย  ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่ม ติดต่อไม่ได้ และไม่สามารถชาร์ตแบตเตอรี่ได้  ดังนั้น สื่อเตือนภัยที่ดีที่สุด  ณ ขณะนั้น คือ วิทยุสื่อสาร ซึ่งการชาร์ตแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถใช้ได้หลายวัน  อย่างไรก็ตาม ในยามฉุกเฉิน “เพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว” เป็นสื่อกระจายข่าวที่สำคัญเนื่องจากสามารถเข้าถึงตัวผู้รับการเตือนภัยได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับการเตือนภัยผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น พบว่ามีความเหมาะสมในกรณีที่เหตุการณ์ไม่กระชั้นชิด เป็นการเตือนภัยเพื่อให้ผู้ได้รับการเตือนภัยสามารถเตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันต้องการในการอพยพประกอบด้วย เชือก เสื้อชูชีพ และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องข้ามลำคลองขณะที่อพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่ถนนหรือเส้นทางถูกตัดขาดซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอพยพออกจากที่อยู่อาศัยได้ การเตรียมความพร้อมทางด้านเสบียงอาหารมีความสำคัญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีบางหมู่บ้านเริ่มมีการจัดตั้งธนาคารอาหารประจำหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ ภาครัฐต้องมีช่องทางการในการให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และควรมีบทบาทในการจัดหาสถานที่รองรับผู้อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย และเพียงพอเพื่อรองรับผู้อพยพในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่รู้จัก อาทิ โรงเรียน วัด ศาลาชุมชน ฯลฯ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกัน และควรคำนึงถึงความสะอาดและความเพียงพอของเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ชุมชนต้องเผชิญ ถ้าเป็นไปได้ควรสนับสนุนและจัดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนการอพยพของชุมชน เตรียมแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชุมชน มีการซักซ้อมแผนอพยพเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่  นอกจากนี้ ควรมีทางออกเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ฝากสัตว์เลี้ยง และการจัดตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมั่นใจและยอมอพยพออกจากที่อยู่อาศัย   ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อเตือนภัย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุสื่อสาร  โดยเฉพาะบทบาทการให้ข้อมูลที่สร้างองค์ความรู้ให้ผู้รับสารสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน  สำหรับวิทยุสื่อสารซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการกำกับดูแลให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ  ซึ่งผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต

น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่หากมีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายลงได้  แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากภัยนั้นผ่านไปแล้ว  ควรมีแผนฟื้นฟูและเตรียมพร้อมหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท