Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลักฐานความเป็นมิตรน้ำหมึกที่ดีอย่างหนึ่งก่อนศรีบูรพาเดินทางไปจีนพร้อม สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือข้อเขียนของศรีบูรพาที่ได้เขียน "คำนิยม" ให้แก่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในหนังสือชื่อ "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ซึ่งนับเป็นผลงานเด่นเล่มหนึ่งของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

ศรีบูรพาได้กล่าวถึงผู้เขียนคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

"ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "อีสาน - ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ และได้ถูกจับกุมคุมขังในคดีที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลสงครามได้ถือเอาว่า การแสดงความรักสันติภาพและการดำเนินการเรียกร้องสันติภาพ และการสงเคราะห์ประชาชนอีสานเป็นการประกอบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง อันสมควรนำบุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้นไปคุมขังไว้ในคุกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และไม่ยอมให้มีประกันตัวในระหว่างการดำเนินคดี อันกินเวลายืดยาวแรมปีในระหว่างที่ต้องคุมขังเป็นเวลาราวสี่ปีครึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เผชิญกับความทุกข์ยากของชีวิตในคุกอย่างเห็นเป็นของธรรมดาและไม่เคยปริปากบ่นถึงความทุกข์ยาก แม้ว่าชีวิตในคุกตะรางจะมิใช่ชีวิตอันผาสุก แต่ก็มิใช่ชีวิตที่ปราศจากคุณค่าอันสูงหากว่ารู้จักใช้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หนึ่งที่ได้ใช้เวลาในคุกให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา สิ่งที่ควรศึกษาและได้รับเอาความทุกข์ยากมาเป็นบทเรียนแก้ไขทรรศนะที่มีต่อชีวิตให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมคุณค่าให้แก่ชีวิตยิ่งขึ้น ด้วยประการฉะนี้สี่ปีครึ่งในคุกตะรางของเขาจึงมิใช่ชีวิตที่ไร้ความหมาย หากเต็มไปด้วยความหมาย"

ศรีบูรพายังกล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นการปิดท้ายว่า

"ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอีสานโดยเลือดเนื้อเชื้อไข หลังจากได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ.2500 ด้วยจิตใจที่มุ่งจะทำงานรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขา และประชาชนไทยทั่วไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดชัยภูมิอันเป็นบ้านเกิดของเขา แม้ว่าเขาจะมิได้รับเลือกในสมัยการเลือกตั้งเดือนธันวาคม แต่จิตใจที่มุ่งรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขาก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หนังสือเรื่อง "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" เป็นพยานอันหนึ่งที่แสดงถึงความคิดคำนึงและความเห็นอกเห็นใจที่เขามีต่อพี่น้องชาวอีสานอยู่เป็นนิจ"

และยังมีหลักฐานเอกสารจากหนังสือพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งในเวลานั้นที่สะท้อนความเป็น "มิตร" ร่วมต่อสู้ในหนทางแห่งสันติภาพระหว่างศรีบูรพากับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือ กระแสข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉลับที่โหมประโคมข่าวช่วงที่ทั้งสองท่านและคณะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งได้ไปเยือนจีนในระหว่างนั้น

คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งประกอบด้วยนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางสังคม มีจำนวน 12 คน ดังนี้
 

1. นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ หัวหน้าคณะ

2. นายบรรจบ ชุวานนท์ อดีตบรรณาธิการ "สยามนิกร" รองหัวหน้าคณะ

3. นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการ "อิสรภาพ" เลขานุการคณะ

4. นายทองใบ ทองเปาด์ นักหนังสือพิมพ์และนักกฎหมาย สมาชิกคณะ

5. นางอำพัน ไชยวรศิลป์ (อ. ไชยวรศิลป์) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

6. นางถวัลย์ วรดิลก นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

7. นางเจือจันทร์ ฐาปโนสถ อาจารย์ศิลปากร สมาชิกคณะ

8. นายสมาน คำพิมาน นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

9. นายชวน รัตนวราหะ นักเคลื่อนไหว สมาชิกคณะ

10. นายประเวศ บูรณกิจ (เวศ บูรณะ) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

11. นายเฉลิม คล้ายนาก นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

12. นายสุธน ธีรพงศ์ นักแปลและนักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ผู้ไปในนามของเลขานุการของคณะดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นข่าวเกรียวกราวในประเทศไทยในเวลานั้นไม่น้อยทีเดียว ในฐานะที่เขาเพิ่งมีผลงาน "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา"

ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ "ต้องห้าม" เล่มหนึ่ง



สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร

นอกจากนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังเขียน "เกิดจากปัญญาของจีน" แปลจาก "THE WISDOM OF CHINA" ขณะอยู่ในคุกบางขวาง

โดยเฉพาะผลงานเล่มถัดมาของเขาคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" ซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างใช้ชีวิตในจีนนั้นยิ่งสร้างกระแสให้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นที่กล่าวถึงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยในช่วงนั้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดตั้งแต่ที่ไปเยือนประเทศจีนเป็นต้นมา
 


แถลงการณ์ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยมี นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมลงนาม
 

จากหนังสือพิมพ์เริงสาร ไม่ระบุนามผู้เขียน ฉบับปีที่ 9 ฉบับที่ 232 ประจำวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ว่า

"ไปติดค้างอยู่จีน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ปฏิวัติ ปี 2503 พร้อม "ศรีบูรพา" หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั่นคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นักหนังสือพิมพ์เก่า ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เปิดเผยว่า สุชาติได้ใช้เวลาศึกษาภาษาจีนและอังกฤษจนแตกฉาน โดยเฉพาะภาษาจีนนั้นทำให้เขาได้หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของคนไทยในเมืองจีนซึ่งคนไทยควรทราบกันอย่างยิ่งคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย "กระชุ" ฉบับที่ 1 ปีที่ยี่สิบเก้า วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2525 รายงานว่า

"เขาคือผู้ที่เราต้องการ" คือคำนำที่ "สุวัฒน์ วรดิลก" เขียนให้กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ผู้เขียนหนังสือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เดินทางไปประเทศจีนในยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจและก็เลยไม่กลับมา เพราะนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันครั้งนั้นที่กลับมาถูกย้ายบ้านเข้าไปอยู่ในคุก และผลงานการค้นคว้าก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น...

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การทำงานรับใช้ประชาจนจีน หากอยู่ที่การทุ่มเทเวลาศึกษาค้นหาความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยเพื่อแสดงออกซึ่งความรักชาติที่เขามีอยู่เปี่ยมล้น โดยไม่จำเป็นต้องยืนระวังตรงเคารพธงชาติกันกลางถนนหนทาง...


ครั้งพำนักอยู่กรุงปักกิ่ง ผู้ใกล้ชิดเล่าว่า"ศรีบูรพา"ทำงานเขียนตลอดเวลา
ขณะที่ในไทยกลับไร้ร่องรอยข่าวสารจากเขา

 

สุวัฒน์ วรดิลก หรือนักประพันธ์นาม "รพีพร" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเพิ่งล่วงลับเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2550 และเป็นหนึ่งในอดีตนักโทษการเมือง ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2501 เป็นเวลา 4 ปี ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ก่อนที่จะจบคำนำของเขาบทนั้นว่า "ผมคงคิดไม่ผิดที่จะกล่าวว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือคนที่เราต้องการ"

จากหนังสือ "บางกอกรายสัปดาห์" ฉบับปีที่ 25 ฉบับที่ 1261 ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้เกี่ยวกับผลงานที่เขาเขียนจากประเทศจีนแล้วส่งไปพิมพ์ในประเทศไทยจนก่อกระแสตอบรับและวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างเวลานั้นว่า

"สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" โดย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้เขียนเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวเห็ดที่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เขียนคำนำและแนะนำตัวเขาไว้อย่างแจ่มชัดในหนังสือเล่มนี้และสรุปว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือ "คนที่เราต้องการ"

เราเชื่อกันมานานเต็มทีแล้วว่า น่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยแต่โบราณ และ "เบ้งเฮ็ก" คือคนไทย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไปน่านเจ้ามาด้วยตนเอง สอบหลักฐานมาอย่างแน่แก่ใจ แล้วจึงนำมาเขียน ในเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่อง "น่านเจ้า : เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยเราหรือ" ไปตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ "น่านเจ้า", "เบ้งเฮ็กไม่ใช่คนไทย", จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)ไม่ใช่สกุล "จูกัด", ชนชาติไตเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน", "ประเพณีการตั้งชื่อของไตลื้อ" เป็นต้น...

ถ้าคุณจะถามว่าแล้วรู้อย่างไรว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ รู้เรื่องนี้ดี เขียนเรื่องนี้ได้ถูกต้อง

คำตอบมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้อีกเช่นกัน เพราะเขาไม่ได้ไปเมืองจีนมาเพียงไม่กี่วัน เขาอยู่เมืองจีนมาแล้วกว่า 20 ปี (นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปี -ผู้เขียน) และศึกษาประวัติศาสตร์ หาหลักฐานต่างๆ มายันข้อเขียนของเขาอย่างละเอียดยิบ...

เขาคือผู้ที่เราต้องการ

จากหลักฐานบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหนึ่งเวลานั้น คงพอแนะนำภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งในยุคนั้นคือ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ได้ว่า เหตุใดเขาจึงได้รับการคัดเลือกให้ร่วมคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไปศึกษางานในประเทศจีนภายใต้การนำของศรีบูรพา

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net