Skip to main content
sharethis
เสวนาวิชาการทำความเข้าใจผลกระทบสารรมควันเมทิลโบรไมด์ กลุ่มเอ็นจีโอแจงผลการทดลองขจัดสารตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงที่แตกต่างกับหน่วยงานรัฐ ทั้งแนะไทยควรกำหนดค่าสารพิษตกค้าง MRLให้ต่ำกว่า 50 ppm พร้อมขอมีส่วนร่วมกำหนดค่ากับหน่วยงานรัฐ
 
 
วันนี้ (8 ส.ค.56) โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไกเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรง และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี (Biothai) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” ณ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค เผยแพร่ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการควบคุมและการกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) ของสารดังกล่าวในอาหารและผลผลิตทางการเกษตร
 
จากกรณีมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจพบข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อโคโค่ มีการตกค้างของสารรมควันเมทิลโบรไมด์ ในรูปของโบรไมด์อิออน เกินค่ามาตรฐาน จนนำมาสู่การตรวจสอบโกดังบรรจุข้าวยี่ห้อนี้ และดำเนินการเรียกเก็บจากชั้นวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วประเทศ ทำให้เกิดการตื่นตัวของสังคม และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อมูลการตกค้างและพิษภัยของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออน แต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิษภัยและการจัดการสารดังกล่าวที่ตกค้างในอาหารของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน
 
วอยซ์ทีวีรายงานว่า นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้แจงว่า ทางมูลนิธิฯ ใช้ค่ามาตรฐานในการตรวจสอบสารตกค้างในข้าว แบบเดียวกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งไม่ได้เข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการตรวจวัดค่าเมทิลโบรไมด์ และโบรไมด์อิออน พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ตรวจสอบการตกค้างของการรมควันเมทิลโบรไมด์ โดยตรวจวัดเป็นค่าโบรไมด์อิออน ตามค่ามาตรฐานของ CODEX (โคเด็กซ์) ซึ่งกำหนดค่าการตกค้างของโบรไมด์อิออนในข้าวสารไม่เกิน 50 ppm 
 
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า สารรมควันเมทิลโบรไมด์ มีความสำคัญด้านการฆ่าแมลงในเมล็ดธัญพืชทั่วโลก สิ่งสำคัญคือการใช้อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดสารพิษตกค้างไปถึงผู้บริโภค แต่ก็ยอมรับว่าในอนาคตกำลังจะนำวิธีอื่นมาทดแทนสารนี้ 
 
นอกจากนี้ เว็บไซต์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เผยแพร่สรุปประเด็นเสวนาวิชาการใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1.การหาปริมาณสารรมควันพิษเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงของทุกหน่วยงาน คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี วัดค่าการตกค้างของสารโบรไมด์อิออนเหมือนกัน และแปลผลโดยเปรียบเทียบกับค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดของโบรไมด์อิออนของโคเด็กซ์ (Codex MRL) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 50 ppm เช่นเดียวกัน
 
ผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างสอดคล้องกันในข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อโคโค่ ดังนั้นทุกฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันว่า วิธีการตรวจวัด ผลการตรวจ และการแปลผลของมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมิได้ผิดพลาด สับสน หรือแปลผลไม่ถูกต้องแต่ประการใด

2.ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง
 
ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล เช่น บางมณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ สาธารณรัฐเช็ก และประชากรในพื้นที่ภาคอีสาน หรือภาคเหนือของไทยที่ยังพบว่ามีบางส่วนขาดไอโอดีน

3.ข้อมูลการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี เทียบกับหน่วยงานราชการมีส่วนที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบงานวิจัยของ Nakamura และคณะ (1993) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ และการทดลองเบื้องต้นโดยกรมวิชาการเกษตร
 
พบว่ามีผลการวิจัยบางส่วนใกล้เคียงกัน คือ การซาวน้ำสามารถลดการตกค้างได้บางส่วน กล่าวคือ Nakamura นำข้าวมาซาวน้ำ 3 ครั้งๆละ 5 นาที จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 51% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่า เมื่อซาวน้ำ 1 ครั้ง จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 60.6% และเมื่อซาวน้ำ 2 ครั้งจะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 46.2%
 
แต่มีความแตกต่างกันของปริมาณการตกค้างหลังหุง ซึ่ง Nakamura พบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4% จากความแตกต่างของผลการทดลองดังกล่าว จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

4.การกำหนดค่าสารพิษตกค้าง หรือ MRL ในข้าวสาร ยังจำเป็นต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

- การกำหนดค่า MRL โบรไมด์อิออนของประเทศจีน โดยมูลนิธิฯ อ้างอิงจากฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA International Maximum Residue Level Database) ที่ระบุค่าเพียง 5 ppm แต่กรมวิชาการเกษตรแจ้งว่าได้ถามไปยังหน่วยงานของจีนแล้วได้รับคำตอบว่าตัวเลข 5 ppm เป็นการกำหนดค่าเมทิลโบรไมด์มิใช่โบรไมด์อิออน
 
ที่ประชุมเห็นว่าควรนำหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่านี้เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายในเรื่องดังกล่าว

- สำหรับค่าค่าของระดับที่ยอมรับได้ต่อวัน หรือ ADI ของโบรไมด์อิออนที่ Codex กำหนดไว้ 1 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อวัน นั้นมีงานวิชาการของ Van Leeuwen และคณะ (1983) ได้ทำการวิจัยและเสนอให้มีการปรับค่า ADI ว่าควรจะอยู่ที่ 0.1 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อวัน เท่านั้น (ค่า ADI มีความสำคัญต่อการกำหนดค่า MRL ต่อไป)
 
ในกรณีนี้มูลนิธิฯ เห็นว่าประเทศไทยควรกำหนดค่า MRL ของโบรไมด์อิออนให้ต่ำกว่าค่าของ Codex และประสงค์จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าดังกล่าวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ทั้งนี้ นักวิชาการที่ร่วมการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร นางประภัสสรา พิมพ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และนางกนกพร อธิสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา สมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค และตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net