Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสานเสวนาหรือสนทนา เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนทนา ที่มุ่งให้เกิดความเข้าใจ ทั้งมุมมองของตนและของผู้อื่นได้ กระบวนการทำให้เกิดความหมายที่ไหลลื่นผ่านไปในหมู่ผู้สนทนา ที่มุ่งสานความหมายและความเข้าใจ  โดยยอมรับความแตกต่างของจุดยืน ความคิด และอัตลักษณ์ของผู้สนทนา บรรยากาศทางวิชาการอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือสร้างองค์ความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกิดขึ้น การตัดสินคนรุ่นใหม่ว่าไม่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลจะตัดสินเช่นนั้นได้หรือไม่

การเสวนาหรือวงสนทนาบรรยากาศที่ค่อนข้างมีความเป็นวิชาการ การนำเสนอความคิดเห็นของตนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการถ่ายทอดคำพูดอย่างเป็นระบบ มีชุดข้อมูลอ้างอิงเพื่อให้เป็นน้ำหนักเหตุผลของตนเอง การตกผลึกทางความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งให้เกิดการถ่ายทอดความคิดนั้นเป็นไปได้ยาก

คนรุ่นใหม่ไม่ชอบบรรยากาศที่เป็นพิธีการหรือเป็นทางการมาก บรรยากาศที่สร้างความไม่มั่นใจนั้นทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ด้วยความกลัวว่าเมื่อนำเสนอความคิดห็นแล้วหากไม่มีความเป็นมืออาชีพในการนำเสนออาจทำให้ตนเองถูกมองว่าการถ่ายทอดข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ ไม่น่าเชื่อถือ คนรุ่นใหม่เมื่อตกอยู่ในสภาวะนี้จะเลือกนั่งฟังมากกว่านำเสนอความคิดของตนเอง แม้ต้องการนำเสนอความคิดของตนที่เห็นด้วยหรือขัดแย้งคนรุ่นใหม่จะเลือกที่จะเก็บเอาไว้ในใจ แล้วจะไประบายความคิด ความรู้สึกกับคนรุ่นเดียวกันนอกเวทีเสวนาหรือสนทนา

การมีผู้ร่วมสนทนาเป็นนักวิชาการ คนที่มีประสบการณ์ในประเด็นนั้นๆ เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้านำเสนอความคิดของตน เพราะการสนทนากับคนกลุ่มนี้เป็นพื้นที่ซึ่งต้องมีชุดข้อมูลเป็นฐานความคิดของตนให้หนักแน่น หากคนรุ่นใหม่นำเสนอออกไปโดยที่ไม่มีน้ำหนักจะถูกต้านด้วยความคิดของผู้ใหญ่เหล่านั้น บรรยากาศที่ให้คนซึ่งมีความห่างของอายุ ประสบการณ์ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพื้นที่ของความแตกต่างนี้ทำให้ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่จำกัดตัวเองให้เป็นผู้รับฟังมากกว่าผู้พูด

วงสนทนาในรูปแบบใดที่คนรุ่นใหม่มีความสนใจเป็นบรรยากาศที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างนิสัยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นสังคม การพูดคุยอย่างมีเหตุผลยอมรับในความคิดที่แตกต่างได้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศสังคมแห่งการเรียนรู้และการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่ผิดแปลกในสังคม

หากต้องการให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องเริ่งเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการสนทนาที่ผู้ใหญ่รับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่มากกว่าการโต้แย้งกลับทันทีที่คนรุ่นใหม่เสนอความคิดเห็น ให้โอกาสคนรุ่นใหม่พูดให้มากที่สุด ผู้ใหญ่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้เสนอแนะและชื่นชมในความคิดของเขาเหล่านั้น จะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญในวงสนทนา บรรยากาศการพูดคุยสนทนาแบบเป็นกันเองเป็นสิ่งที่ต้องเกิด ไม่ใช้กรอบข้อมูลแบบนักวิชาการมาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจัดการสนทนาให้เป็นลักษณะกึ่งทางการ

ถ้าบรรยากาศการพูดคุยแบบเป็นกันเองเกิดขึ้นในวงสนทนาประเด็น กระบวนการคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรับรู้ประเด็นสังคม อาทิ การเมืองการปกครอง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ฯลฯ จะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็น “พลเมืองรุ่นใหม่” ของสังคม เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอนาคตสังคมต่อไป การเริ่มต้นรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่จะทำให้โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมทุกระดับจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อใดที่เขาเห็นว่าคนที่ร่วมสนทนาให้ความสนใจและความสำคัญกับความคิดของเขา โดยที่ไม่ต้านหรือแย้งให้รู้สึกว่าพูดไปสุดท้ายผู้อื่นไม่ฟังเหมือเดิม เมื่อนั้นคนรุ่นใหม่จะไม่เบื่อหน่ายที่จะสนทนาร่วมกับเวทีที่มีผู้ใหญ่ด้วย

“สังคมที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิมนุษยชน  หน่ออ่อนของพลเมืองรุ่นใหม่ต้องได้รับการดูแลใส่ใจให้กลายเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความกล้าและมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น และสามารถแยกแยะได้ว่าสังคมควรเป็นอย่างไร”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net