Skip to main content
sharethis

คดียิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมเมื่อมี.ค. 53 ที่ศาลชั้นต้นจำคุก 38 ปีนั้น ล่าสุดศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพยานโจกท์ 4 ปากเบิกความไม่มีน้ำหนักพอว่าจะจำหน้าจำเลยได้เพราะเป็นช่วงกลางคืน จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ก่อน รอชั้นศาลฎีกา

ตามที่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 มีผู้ยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมแต่พลาดเป้าถูกสายไฟและไปตกบริเวณถนนอัษฎางค์ และต่อมา ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. 54 ศาลมีคำพิพากษาอาญาหมายเลขดำที่ อ.2317/2553 ตามที่อัยการเป็นโจกท์ ลงโทษ ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม จำเลย ฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม) จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1(1) จำคุก 20 ปี, ฐานร่วมกันใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด จำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนกลมือ จำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 จำคุก 1 ปี แต่ยกฟ้องความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และสนับสนุน นปช. ในการก่อการร้าย รวมจำคุก 38 ปี ส่วนความผิดฐานปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์มีเพียงพยานที่มาเบิกความว่ามีชายไม่ทราบชื่อมาว่าจ้างให้ทำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดในวันนี้ (9 ส.ค.) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานพบเห็นคนร้ายขับรถยนต์ โตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน ตศ 9818 กทม. เข้ามาจอดภายในซอยบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานระบุว่าเห็นจำเลยอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็ได้ยินเสียระเบิดดังขึ้น ซึ่งภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบรถยนต์ดังกล่าวจอดอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ สภาพกระจกแตกทั้งคัน ประตูรถเสียหายทั้งบาน และตัวรถได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และภายในรถยังพบเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีจำนวน 1 กระบอก และระเบิดเอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก และเสื้อแจ็คเก็ต 1 ตัว  แสดงว่าคนร้ายใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการก่อเหตุจริง

ประเด็นมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวนหลายปาก แต่คำเบิกความของพยานถึงสาระสำคัญตำแหน่งที่นั่งภายในรถยนต์ของคนร้ายไม่ตรงกัน โดยพยานบางรายระบุเห็นจำเลยเป็นคนขับ แต่พยานบางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับ พยานบางคนระบุว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป ขณะที่พยานบางคนบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก  ซึ่งพยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญแห่งคดี พยานต้องเบิกความให้ชัดเจนมั่นคง  

อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืนแสงไฟมีน้อย และถึงแม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อเจ็คเก็ต จะพบว่ามีดีเอ็นเอจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย ส่วนที่พยานให้การว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวกับรถยนต์คันก่อเหตุที่มีการซื้อขายต่อกันมาหลายทอดนั้น พยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยและเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้ว่าพยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงมีเหตุสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา และให้ริบของกลาง แต่ให้กักขังจำเลยไว้ระหว่างรอศาลฎีกา (อ่านต่อที่นี่)

สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯ (ศปช.) เคยให้ข้อมูลว่า ส.ต.ต.บัณฑิต ถูกควบคุมตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 53 จากบ้านของเขาที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่นำกำลัง 20 นายมาจับเขาที่บ้านพัก มีการค้นบ้าน และระหว่างควบคุมตัวมีการนำผ้ามาปิดตา และระหว่างชั้นสอบสวนมีการข่มขู่ด้วยว่าถ้าไม่ตอบจะเอาไปให้ทหารยิง โดยภรรยาของ ส.ต.ต.บัณฑิต ใช้เวลากว่า 1 เดือน ถึงทราบว่าสามีถูกจับไปไว้ควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net