ทุบตึกกลุ่มอาคารศาลฎีกา:ประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่ถูกทำลาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การทุบตึกกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นเป็นประเด็นมานานพอสมควรและแล้วเรื่องก็เงียบหายไปนานพอสมควร เนื่องจากทางศาลนั้นยังมิได้ดำเนินการใดๆ แต่เรื่องนี้กลับตกเป็นที่ถกเถียงของสังคมอีกครั้ง เพราะทางศาลฎีกานั้นได้ดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างโดยกระทำอย่างแนบเนียนโดยดำเนินการทุบจากภายในก่อน(1) และเมื่อมีการรื้อถอนให้เห็นจากภายนอกแล้ว ทำให้กลุ่มอนุรักษ์และนักวิชาการ(2)รวมตัวยื่นเอกสารให้ทางศาลระงับการทุบตึกเสียก่อน แต่จนบัดนี้ ทางศาลก็คงดำเนินการต่อไป โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมาย(3) ถึงแม้ว่า ทางกรมศิลปากรจะส่งหนังสือไปยังศาลและแจ้งความดำเนินการต่อตำรวจ ซึ่งเป็นเหตุซึ่งหน้า แต่ทางตำรวจก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการทุบทำลาย

ประเด็นนี้ สะท้อนความรู้และความตระหนักของทั้งสองฝ่ายที่ต่างกันโดยทางศาลฎีกาตระหนักถึงความปลอดภัยและประโยชน์ใช้สอยโดยให้ทางศูนญ์บริการทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(4)เป็นผู้กระทำการศึกษาอาคารและเมื่อทำการศึกษาแล้วทางศาลก็ใช้หลักฐานนี้ เพื่อทำการรื้อแล้วสร้างใหม่ เพราะอาคารเหล่านี้เสื่อมสภาพมีความแตกร้าวและไม่ปลอดภัย ถ้าหากยังใช้อาคารนี้ แต่นายชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า ผลการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฎว่า ศาลไม่อยู่ในสภาพที่จะพัง นายชาตรีได้กล่าวเสริมอีกว่า ถึงแม้ว่า จะมีการศึกษา เมื่อปี 2550 มีความเสื่อมสภาพตามอายุ แต่ไม่เสื่อมสภาพเกินกว่าบูรณะซ่อมแซม(5) สอดคล้องกับนายสุวิชญ์ รัศมีภูมิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตึกกระทรวงกลาโหมที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูนที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ยังสามารถดำรงอยู่ได้จนปัจจุบันโดยการบูรณะและท่านได้กล่าวอีกว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นมีความแข็งแรงยิ่งกว่าตึกกระทรวงกลาโหมเสียอีก เนื่องจากโครงสร้างของกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นเป็นแบบคอนกลรีตเสริมเหล็ก(6)

ประเด็นต่อมา คือ ประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์กับความทรงจำโดยมีการปลูกฝังโดยชนชั้นนำไทย อย่างเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช(7) ทั้งทางด้านความคิดและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฎอย่างชัดเจนหลังการโต้อภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ.2475 (8)โดยสอดคล้องกับการเรียนประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับกลุ่มเจ้านายเป็นหลักโดยมีกลุ่มเจ้านายเป็นพระเอก และ ข้าราชบริพารนั้นเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเจ้านายโดยได้รับความดีึวามชอบ แต่คุณูปการนั้นก็มิอาจเทียบกับกลุ่มเจ้านายได้ และที่สำคัญ ตือ คณะราษฎร ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวร้ายในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ภาคบังคับโดยตรง แต่ก็มักจะมีการกล่าวร้ายแก่คณะราษฎรนอกบทเรียนต่างๆนานา ซึ่งคณะราษฎรมีความแตกแยกและได้กระทำการผิดพลาดต่างๆนานาจริง แต่ก็มิได้กล่าวถึงความดีความชอบของคณะราษฎร(9) ซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญหรือจงใจที่จะเลือกที่จะพูดสิ่งหนึ่งและไม่พูดอีกสิ่งหนึ่งโดยใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน

กลุ่มอาคารศาลฎีกา โดยเดิมทีนั้น เป็นที่ทำการศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลฎีกา ออกแบบโดยพระสาโรชนิมมานก์ ซึ่งอาคารนั้นเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่(10) ทำพิธีเปิดเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 ซึ่งวันเปิดนั้นมีความเชื่อมโยงกับวันที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเสา 6 ต้น ที่อาคารศาลฎีกานั้นแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และ มีอาคารที่เป็นที่ระลึกที่ได้เอกราชทางศาลหลังแก้สนธิสัญญาเบาริ่ง(11)

สมัยที่คณะราษฎรยังมีอำนาจนั้นมีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อตอกย้ำความก้าวหน้าที่ได้ระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น อนุสาวรียประชาธิไตย โรงแรมรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุริยานนท์ ศาลาเฉลิมไทย ห้างไทยนิยม ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ(อนุสาวรีย์ปราบกบฎบวรเดช)

แต่การลดทอนทางประวัติศาสตร์ก็ปรากฎขึ้น เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บัดนี้ ทุกคนเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์หลักสี่โดยน้อยคนนักที่จะรู้ภูมิหลัง การทุบศาลาเฉลิมไทย(12)ที่ริอาจเทียบรัศมีศาลาเฉลิมกรุง บัดนี้กลายเป็นลานมหาเจษฎาบดินทร์ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากทุบศาลาเฉลิมไทยก็เป็นลานที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆและก็มิได้มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งแตกต่างเมื่อครั้งยังมีศาลาเฉลิมไทยและเหยื่อรายล่าสุดที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงคณะราษฎร คือ อาคารชุดศาลฎีกา

เนื่องจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายนั้นแตกต่างกันโดยทางศาลเลือกที่จะเก็บอาคารหลังพระรูป(อาคาร 1) (13) ซึ่งสร้างเมื่อครั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(14) ครั้นยังทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่เลือกที่ทำลาย(15)อาคารด้านถนนราชดำเนิน(อาคาร 3) และอาคารด้านริมคลอง(อาคาร 2) ซึ่งเป็นอาคารที่มีความยึดโยงกับคณะราษฎรและเป็นที่ระลึกที่ได้เอกราชทางการศาลโดย นายชาตรี ประกิตนนทการ  กล่าวไว้อีกว่า อาคารหลังนี้มีคุณค่าที่จะเก็บและมีหลักฐานที่บ่งบอกความสำคัญจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามศาลก็ดำเนินการต่อโดยไม่สนกระแสทัดทาน(16)

ในด้านความชอบธรรมทางด้านกฎหมายนั้น ศาลยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย(17) ถึงแม้ว่าอธิบดีกรมศิลปากรได้ทำหนังสือที่ให้ระงับการรื้อถอนไปยังศาล แต่ศาลก็ใช้บันทึกข้อความจากผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากรเป็นบรรทัดฐานที่ให้ทุบทั้งสองตึก(18) ซึ่งสะท้อนความผิดพลาดและการไม่รู้ข้อมูลซึ่งกันและกันภายในกรมศิลปากร และการที่สร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่แทนนั้น มีความสูง 32 เมตร ถึงแม้ว่าจะมีการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็นับเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ราชการใกล้เคียงที่ปฏิบัตืตามกฎหมายกำหนดอาคารในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในอย่างเคร่งครัด

 

 

เชิงอรรถ

(1)สัมภาษณ์ นายชาตรี ประกิตนนทการ

(2)มติชนออนไลน์ นักอนุรักษ์ อาจารย์สภาปัตย์ รวมตัวยื่นศาลฎีกาวิงวอนให้ยุติทุบตึกชี้คุณค่าประวัติศาสตร์

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357896240&grpid=00&catid=00 เผยแพร่วันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 17.23.27 น.

(3)ดาวน์โหลดจากfacebookของกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่วันที่ 8 มกราคม 2556

(4)มติชนออนไลน์

"อาจารย์สถาปัตย์ฯ" ร่อนจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อ ถามศาล-กรมศิลป์ฯ ความชอบธรรมทุบตึกเก่าศาลฎีกา

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356077506&grpid=00&catid=00 เผยแพร่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:46:00 น.

(5)ดร.สุวิชญ์ รัศมีภูมิ กล่าวในรายการ คม ชัด ลึก ตอน พิพากษา...ศาลฎีกา http://www.youtube.com/watch?v=hJv1Ufeqlzk

(6)อ้างแล้วจากข้อ (5)

(7)เว็บไซด์ของนิตยสาร สารคดี,โลกใบใหญ่ สถาปัตยกรรม-มรดก 2475:สถาปัตยกรรมคณะราษฎร, ไม่ปรากฎเวลาเผยแพร่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า "สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือ ไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้..."http://www2.sarakadee.com/web/modules.php?name=Section&op=viewarticle&artid=946 หลังจากเปิดล่าสุดก็ไม่ปรากฎแล้ว

(8)สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ – เหลียวหลังแลหน้าประชาธิปไตยไทย 80 ปี ttp://www.sarakadee.com/2012/07/19/worajet/#sthash.m8To0l6x.dpuf

(9)ใจ อึ๊งภากรณ์,24 มิ.ย. 2475 นิยายและความจริง,http://prachatai.com/journal/2009/06/24767

(10)อ้างแล้ว (2)

(11)อ้างแล้ว (7)

(12)ประวัติศาลาเฉลิมไทย,http://vintageancient.blogspot.com/2010/12/blog-post_12.html

(13)ดาวโหลดเอกสารจากfacebookของกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

บันทึกข้อความ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประธานศาลฎีกามอบหมายเกี่ยวกับการเจรจาสร้างศาลฎีกา  เผยแพร่วันที่ 7 มกราคม 2556 เอกสารชิ้นนี้ทางกรมศิลปากร โดย ผอ.สำนักโบราณคดี ให้ลงแท่นอาคารด้านริมคลอง(อาคาร 1)และอาคารด้านถนนราชดำเนิน(อาคาร 3) โดยคงเหลืออาคารหลังพระรูปไว้ ขัดแย้งกับ คำชี้แจง อาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานหรือไม่ เผยแพร่วันที่ 8 มกราคม 2556 รื้อถอนอาคารเก่าทั้ง 2 หลัง โดยอาคารหลังแรกเป็นอาคารศาลยุติธรรม ตั้งอยู่บริเวณหลังอนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ฯ และหลังที่ 2 เป็นอาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ติดอยู่กับคลองหลอด เมื่อเทียบกับ บันทึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน้า 315 เผยแพร่วันที่ 25 ธันวาคม 2555

"www.coj.go.th/coj2008/download/supremecourtbuilding.pdf"กับการดำเนินการรื้อถอนจริงก้ยังคงเป้นอาคารศาลยุติธรรมหลังพระรูป

(14)บันทึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หน้า 315 อ้างแล้ว (13)

(15)อ้างแล้ว (13)

(16)อ้างแล้ว (1) (2) (4) (5) (7)

(17)คำชี้แจง อาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานหรือไม่ อ้างแล้ว (13)

(18)อ้างแล้ว (4)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท