Skip to main content
sharethis

บอร์ดกสท. ปรับมาตรฐานการจัดเรทคุมเนื้อหา สนับสนุนสื่อกำกับกันเองตามจริยธรรมให้เข้มแข็ง – ลดข้อหาแทรกแซงสื่อ

นางสางสุภิญญา กลางณรงค์ เปิดเผยว่า แม้สัปดาห์นี้ บอร์ดกสท.จะไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ตามมาตรา37 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (ขณะนี้นำขึ้นเวบเพื่อเปิดรับฟังความเห็นทางเวบไซต์ www.nbtc.go.th)ก็ตาม แต่มติครั้งที่ผ่านมาตนได้ส่งบันทึกความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างประกาศฯดังกล่าว ดังนี้ มีความคลุมเครือระหว่างการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 37 กับการกระทำผิดจรรยาบรรณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรา 39 และ มาตรา 40 ของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จึงเสนอให้สำนักงาน กสทช.จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นเพิ่มเติม ว่า สาระส่วนใดของร่างประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 โดยตรง และสาระในส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพและการคุ้มครองผู้เสียหายจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.

รวมทั้ง สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 24/2556 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ได้พิจารณาร่างประกาศฯ ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ ร่างประกาศฯ ฉบับยกร่างโดยคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ การประชุมในครั้งนั้นตนได้สงวนความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับสาระโดยส่วนใหญ่ของร่างประกาศ กสทช. ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์เนื่องจากหมวดสองในร่างประกาศของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ เป็นการลงรายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเปิดให้เป็นการใช้ดุลพินิจของกรรมการ กสทช. ที่มากเกินไป อีกทั้งสาระในหมวดสองยังอยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรา 37 ของพ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 และอาจขัดกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งตนยังอยากเสนอให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการนำร่างประกาศ กสทช. ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายฯ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง

นอกจากนี้ในที่ประชุม คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตนเป็นประธาน ได้มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 พิจารณาให้ความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว ว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนในร่างประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและขัดกับหลักการการกำกับดูแลกันเองซึ่งเป็นอำนาจที่ พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ในมาตรา 39 และ มาตรา 40 และมีความขัดแย้งกับหลักการบางมาตรารัฐธรรมนูญฯ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อการประกอบวิชาชีพและเป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อหลายองค์กรได้มีการทักท้วงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าว จึงเห็นควรให้ทบทวนกระบวนการจัดทำร่างประกาศฯ โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มโดยครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองได้จัดทำแนวทางธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ไว้ในเบื้องต้นแล้ว และได้มีการประสานงานกับคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้นำแนวปฏิบัติดังกล่าวไปปรากฏไว้ในภาคผนวกของร่างมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข โดยคณะอนุกรรมการได้เสนอให้ กสท.โปรดพิจารณาเร่งรัดกระบวนการจัดทำมาตรการดังกล่าวและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองของผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเรื่องใดที่ไม่ได้มีความผิดร้ายแรงควรจะให้เป็นเรื่องของการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และหนึ่งในนั้นเป็นคือการจัดระดับเนื้อหาความเหมาะสมทางโทรทัศน์(หรือการจัดเรท)น่าจะเป็นทางออกตรงกลางระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละช่องก็มีการจัดเรตเนื้อหาของช่องอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานเดียวกันและอาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัย โดยที่ กสทช.น่าเป็นตัวกลางในการทบทวนและจัดทำเรทที่เหมาะสมมีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่ยังเน้นหลักการคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังมีหลายวิธีที่จะสนับสนุนวิชาชีพสื่อให้มีการกำกับตนเองตามกรอบจรรณยาบรรณ ที่จะมาช่วยเติมช่องว่างในสิ่งที่หายไปจากการควบคุมจากรัฐ ที่น่าจะเป็นทางออกระยะยาวที่น่าจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซงและกระทบเสรีภาพสื่อมาก ทั้งนี้การจัดเรทความเหมาะสมกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้กับเฉพาะฟรีทีวี หรือรวมทั้งในทีวีเคเบิ้ลดาวเทียมด้วย คงต้องหารือกันต่อไป.

 

                                                                                   

                                                           

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net